“ผู้ส่งออก”ชี้บูลล็อกสนข้าวไทย ไม่มีผลต่อยอดส่งออกข้าวปีนี้

10 มี.ค. 2564 | 13:00 น.

ผู้ส่งออกข้าวชี้ บลูล็อกสนนำเข้าข้าวไทย1ล้านตันใน4ปี ไม่มีผลต่อตลาดข้าวไทย เหตุยังไม่มีการลงนามซื้อขายจริง ชี้ข้าวไทยยังทำตลาดได้อยากปัจจัยหลักมาจากราคาที่สูงกว่าคู่แข่ง

นายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำเอ็มโอยูดังกล่าวนั้นยังไม่มีผลใด ๆกับตลาดข้าวไทย เพราะยังไม่มีการลงนามหรือซื้อขายจริง  และจากสถานการณ์ข้าวไทยในขณะนี้ต้องยอมรับว่าทำตลาดส่งออกได้ยากมากเพราะราคาข้าวไทยยังสูงกว่าข้าวจากประเทศคู่แข่ง ประกอบกับค่าเงินบาทก็ยังคงอยู่ในทิศทางแข็งค่า ส่งผลให้ในขณะนี้ข้าวขาว 5% ของไทยราคาอยู่ที่ 549 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตันขณะที่ราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนาม อินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 513-517, 398-402 และ 438-442 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ส่วนข้าวนึ่งของไทยราคาอยู่ที่ 557 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ขณะที่ราคาข้าวนึ่งของอินเดีย และปากีสถาน อยู่ที่ 383-387และ 457-461 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

“ผู้ส่งออก”ชี้บูลล็อกสนข้าวไทย  ไม่มีผลต่อยอดส่งออกข้าวปีนี้

 

ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าครม. ได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์จัดทำข้อตกลง (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการค้าข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ของไทย กับ กระทรวงการค้าแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้แจ้งความประสงค์ขอจัดทำเอ็มโอยูและได้ประชุมหารือประเด็นดังกล่าวผ่านระบบวิดิโอทางไกลกับกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาโดยสาระสำคัญของเอ็มโอยูดังกล่าวระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงจะซื้อขายข้าวปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตของทั้งสองประเทศและระดับราคาในตลาดโลก ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องมีการเจรจาและทำสัญญากันต่อไป โดยที่เอ็มโอยูฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 4 ปี

“ผู้ส่งออก”ชี้บูลล็อกสนข้าวไทย  ไม่มีผลต่อยอดส่งออกข้าวปีนี้

" รัฐบาลอินโดนีเซียจะทำเอ็มโอยู่ผ่านบลูล็อกซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลโดยเป็นข้าวขาว 15% - 25% กับรัฐบาลไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสำรองข้าว เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารภายในประเทศ หากเกิดเหตุการณ์ที่ปริมาณผลผลิตข้าวภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายพึ่งพาตนเองด้านอาหาร (self-sufficiency policy) ส่งเสริมการปลูกข้าวภายในประเทศ เพื่อให้เพียงพอและนำเข้าเท่าที่จำเป็น แต่ในบางปีอินโดนีเซียประสบปัญหาผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด - 19 จึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวจากต่างประเทศ เพื่อบริโภคและเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาข้าวภายในประเทศ "

 

อย่างไรก็ตามนอกจากอินโดนีเซียที่สนใจข้าวไทยแล้ว ยังมีบังกลาเทศที่ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาการซื้อขาย โดยเป็นข้าวขาว5%และข้าวนึ่ง ปริมาณน่าจะไม่ต่ำกว่า1 ล้านตัน ซึ่งคาดว่าน่าจะลงนามได้เร็วๆนี้ ส่วนอิรักไทยยังคงสนใจที่จะเข้าไปทำตลาดอยู่เช่นกัน

“ผู้ส่งออก”ชี้บูลล็อกสนข้าวไทย  ไม่มีผลต่อยอดส่งออกข้าวปีนี้

ทั้งนี้การทำเอ็มโอยูจะเป็นโอกาสให้รัฐบาลอินโดนีเซียนำเข้าข้าวจากไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าวไทยไปยังตลาดอินโดนีเซียให้มากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือ ทางการค้าข้าวอันดีระหว่างไทยและอินโดนีเซียที่มีมาอย่างยาวนานด้วย  ทั้งนี้กรมการค้าต่างประเทศ รายงานว่า ในปี 2563 ไทยส่งออกข้าวไป อินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจากปี 2562  ปริมาณ 89,406 ตัน  คิดเป็น 46.23%  มูลค่า 2,262 ล้านบาท คิดเป็น 86.78%