เคลียร์ “กข87” ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ

08 ก.พ. 2564 | 12:05 น.

กรมการข้าว ไขข้อข้องใจ “กข87” ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ แต่เป็นข้าวพื้นนุ่ม ผวาผู้บริโภคเข้าใจผิด เพี้ยน กระทบตลาด ทั้งในประเทศ -ส่งออก

 

มนัส กำเนิดมณี

 

นายมนัส กำเนิดมณี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการข้าว  เผยว่า จากกรณีที่มีช่อง Youtube บางช่อง เผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนของข้าวพันธุ์ กข87 โดยมีเนื้อหาว่า ข้าว กข87 เป็นข้าวหอมมะลิ และเป็นพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกันคิดค้นขึ้น กรมการข้าวจึงขอชี้แจงว่า ข้าวพันธุ์ กข87 เป็นพันธุ์ข้าวจัดอยู่ในกลุ่มข้าวพื้นนุ่มไม่ใช่หอมมะลิ และเป็นพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวทำการวิจัยและเสนอรับรองพันธุ์โดยศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว

 

“สำหรับพันธุ์ข้าว กข87 นั้นมีแหล่งที่มาและประวัติพันธุ์ โดยเริ่มจากการนำข้าวสายพันธุ์ PTT03019-18-2-7 - 4 ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่างสายพันธุ์ SPR90033-26-3-2-3-1 กับพันธุ์พิษณุโลก 2 ในฤดูนาปี 2546 ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2549 ได้ปลูกคัดเลือกแบบสืบประวัติในประชากรช่วงที่ 2 ถึง 6 (F2-F6) ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีทั้งในฤดูนาปรังและฤดูนาปีจนได้สายพันธุ์ที่คงตัวทางพันธุกรรมคือ PTT03019-18-2-7-4 แล้วนำไปปลูกประเมินและทดสอบลักษณะประจำพันธุ์และลักษณะทางการเกษตรโดยดำเนินการทั้งในฤดูนาปรังและฤดูนาปี คือในปี 2550 ถึงปี 2553 ปลูกศึกษาพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี “

 

ในปี 2553 ถึงปี 2557 ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตภายในสถานีที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี  ในปี 2558 ถึง ปี 2559  ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตระหว่างสถานี ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี คลองหลวง พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ราชบุรี และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ  ในขณะเดียวกันได้วิเคราะห์คุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมี รวมทั้งทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงศัตรูข้าวที่สำคัญในปี 2559 ถึงปี 2560

 

พันธุ์ข้าว กข87

 

ปลูกเปรียบเทียบผลผลิตในนาราษฎร์ ที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวิเคราะห์เสถียรภาพผลผลิต ในฤดูนาปี 2561 ได้ปลูกทดสอบการตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี คลองหลวง และสถาบันวิทยาศาสตร์ข้าวแห่งชาติ

 

ในฤดูนาปี 2562 ได้ปลูกทดสอบศักยภาพการให้ผลผลิตในนาเกษตรกรจังหวัดปทุมธานี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และพิจิตร รวมทั้งประเมินการยอมรับของเกษตรกรและผู้ประกอบการ

 

ในส่วนของลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของข้าวพันธุ์ กข87 นั้นมีลักษณะเป็น พืชล้มลุก วงศ์หญ้า เป็นข้าวเจ้าไม่ไวต่อช่วงแสง มีอายุเก็บเกี่ยว 114 วัน ต้นมีความสูง 125 เซนติเมตร คอรวงยาว รวงค่อนข้างแน่น ระแง้ถี่ ใบสีเขียว ทรงกอตั้ง ใบธงยาว 38.0 เซนติเมตร กว้าง 1.5 เซนติเมตร

 

มุมใบธงตั้งตรงถึงปานกลาง ดอก/ช่อดอกรวงยาว 30.5 เซนติเมตร รวงแน่นปานกลาง คอรวงยาว ผลผลิตเฉลี่ย 546 กิโลกรัมต่อไร่ จำนวนเมล็ดดีต่อรวง 177 เมล็ด เมล็ดร่วงปานกลาง มีเมล็ดดีต่อรวงจำนวน 151 เมล็ด น้ำหนัก 1,000 เมล็ดเท่ากับ 26.9 กรัม ระยะพักตัวของเมล็ดประมาณ 8 สัปดาห์

 

ความยาว

 

เมล็ดข้าวเปลือกไม่มีหาง สีฟาง ขนาดยาว 10.27 มิลลิเมตร กว้าง 2.64 มิลลิเมตร หนา 2.04 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาวรูปร่างเรียว มีขนาดยาว 7.42 มิลลิเมตร กว้าง 2.22 มิลลิเมตร หนา 1.77 มิลลิเมตร ข้าวสารยาว 7.05 มิลลิเมตร กว้าง 2.11 มิลลิเมตร หนา 1.70 มิลลิเมตร มีคุณภาพการสีดีมากโดยมีข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว 50.7 เปอร์เซ็นต์

 

สำหรับลักษณะอื่น ๆ มีปริมาณอมิโลสต่ำ (16.87เปอร์เซ็นต์) มีความคงตัวของแป้งสุกอยู่ในระดับแป้งสุกอ่อน โดยมีระยะทางการไหลของแป้งสุก 80 มิลลิเมตร มีอุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ข้าวสุกนุ่มและค่อนข้างเหนียวให้ผลผลิตเฉลี่ย 734 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าผลผลิตของพันธุ์ กข31 (703 กิโลกรัมต่อไร่) ร้อยละ 4 และมีศักยภาพการให้ผลผลิตสูงสุด ถึง 1,053 กิโลกรัมต่อไร่อ่อนแอต่อเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

 

เพลี้ยกระโดดหลังขาว โรคขอบใบแห้ง และโรคไหม้ ลักษณะเด่นพิเศษ ข้าวสุกนุ่ม ค่อนข้างเหนียว คุณภาพเมล็ดทางกายภาพดี ท้องไข่น้อย คุณภาพการสีดีมากเหมาะสำหรับปลูกในพื้นที่นาชลประทานภาคกลางและภาคเหนือตอนล่าง