วอนรัฐช่วย “ผู้เลี้ยงกุ้ง” ด่วน ขาดทุนยับ

13 ก.ย. 2563 | 05:30 น.

กรมประมง นัดเจรจาแกนนำ ห้ามทัพม็อบกุ้งกำหนดท่าทีเคลื่อน ไหวใหญ่ที่สงขลา 18 ก.ย.นี้ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย โอดขายต่ำทุน ถูกพ่อค้ากดราคา โรคขี้ขาวระบาดซ้ำเติมทุกข์  ร้องรัฐช่วย วิธีการไม่เกี่ยง “จำนำ-ชดเชยส่วนต่าง” แต่ต้องช่วยทันที 

โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งปี 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดกุ้งทะเลไทยในตลาดโลกและรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทย ช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมกุ้งทะเลจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้สามารถรักษามาตรฐานการผลิตกุ้งทะเล และรักษาอาชีพของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงต่อไป โดยห้องเย็นและโรงงานแปรรูปที่เข้าร่วมโครงการฯ จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรเป้าหมาย 4.59 หมื่นตัน ประกอบด้วย กุ้งขาวแวนนาไม 4.5 หมื่นตัน (เฉลี่ยเดือนละ 1.5 หมื่นตัน) และกุ้งกุลาดำ 900 ตัน (เฉลี่ยเดือนละ 300 ตัน) ซึ่งกำหนดให้เกษตรกรขายกุ้งทะเลในโครงการฯ ได้รายละไม่เกิน 10 ตัน ระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 เดือน (รับซื้อกุ้ง 3 เดือน วงเงินงบประมาณรวมกว่า 1,899 ล้านบาท)

ครรชิต เหมะรักษ์

 

นายครรชิต เหมะรักษ์ ประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” สถานการณ์ราคากุ้งมีแนวโน้มตกต่ำต่อเนื่อง โดยกรมประมงได้รายงานความคืบหน้าผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย ครั้งที่ 2/2563 (24 ส.ค.63) แจ้งว่า โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งทะเล ปี 2563 จะได้งบประมาณภายใต้แผนงาน หรือโครงการตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม (เป็นหนึ่ง ในพ.ร.ก. 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

“ในวันที่ 15 กันยายน มีนัดคุยนอกรอบกับอธิบดีกรมประมง  ท่านได้มอบหมายให้รองอธิบดีฯหารือแทน จากติดภารกิจ กำหนดเวลา 12.00 -13.00 น. ณ กรมประมง ซึ่งเป็นหารือก่อนที่ผู้เลี้ยงกุ้งจะมีการกำหนดท่าทีเคลื่อนไหวใหญ่ที่จังหวัดสงขลาในวันที่ 18 กันยายน ประเด็นหารือในครั้งนี้ได้แก่ สถานการณ์ราคากุ้ง ที่มีแนวโน้มราคาตกต่ำต่อเนื่อง รัฐบาลจะต้องหาวิธีจัดการ”

 

ทั้งนี้จะใช้วิธีการเดิมที่หารือก่อนระหว่างโควิด มี 2-3 รูปแบบ ได้แก่ 1.โครงการรักษาเสถียรภาพราคากุ้งทะเลปี 2563 2.จำนำ หรืออื่นๆ ไม่ต้องใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ ก็ได้ เพราะยังมีเงินจากกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) อีก วันนี้ต้องช่วยเหลือด่วน เพราะผู้เลี้ยงกุ้งขายขาดทุนมาก อาทิ กุ้ง ขนาด 100 ตัว ราคาตลาดกลางสมุทรสาคร รับซื้อ 95 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ขณะที่ราคาต้นทุนกรมประมงกำหนดขั้นต่ำอยู่ที่ 119 บาทต่อกก. เป็นต้น (กราฟิกประกอบ)”

 

วอนรัฐช่วย “ผู้เลี้ยงกุ้ง” ด่วน ขาดทุนยับ

นายครรชิต กล่าวอีกว่า เกษตรกรนอกจากจะเผชิญราคากุ้งตกต่ำแล้ว ยังต้องเผชิญกับการเลี้ยงที่ยากขึ้นจากเวลานี้มีโรคขี้ขาวในกุ้ง ทำให้กุ้งผอมโตช้าและทยอยตายเนื่องจากอ่อนแอ ซึ่งโรคนี้มีการระบาดมา 2-3 ปีแล้ว และทวีความรุนแรงมากขึ้น ประเมินมากกว่า 50% ของการเลี้ยงกุ้งทั้งประเทศเผชิญโรคนี้ ขณะที่มีต้นทุนสูงขึ้นจากมีค่าใช้ในการเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากอาหารกุ้งเคย กก.ละ 60 บาท ขณะนี้ปรับขึ้นเป็น กก.ละ  80 บาท ประกอบกับราคากุ้งในขณะนี้ต่ำกว่าราคาต้นทุนที่กรมประมงประเมินไว้ในแต่ละขนาด

 

สอดคล้องกับ นายเชาวลิตแสงฉาย อดีตประธานเครือข่ายผู้เลี้ยงกุ้งไทย กล่าวว่า ราคากุ้งเกษตรกรขายได้ต่ำมาก รัฐบาลจะต้องเร่งทำตามสัญญาที่รับปากกับเกษตรกรไว้ ที่ผ่านมาโครงการรักษาเสถียรภาพเคยเรียกร้องก่อนจะล็อกดาวน์ประเทศ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าอะไรเลย ที่ผ่านมา กรมประมงพยายามที่จะช่วยกระจายสินค้าตลาดในประเทศก็ไม่เกิดผล เพราะการบริโภคในประเทศแค่ 10-15% ของผลผลิตเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องพึ่งการส่งออก ดังนั้นวิธีการแก้ต้องหาตลาดใหม่ มองว่ารัฐบาลยังไม่เก่งเรื่องการตลาด แต่ ณ วันนี้ต้องช่วยเกษตรกรเป็นลำดับแรกก่อนตามที่รับปากไว้

 

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมกุ้งไทย คาดการณ์สถานการณ์การเลี้ยงกุ้งจะฟื้นตัวในไตรมาส 3 แต่พอเข้าสู่ปลายไตรมาส 4 เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอาจจะประสบกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้เริ่มชะลอการผลิตลงตามฤดูกาลปกติ เมื่อเปรียบเทียบราคากุ้งไทยกับประเทศคู่แข่ง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และเอกวาดอร์ พบว่า ราคากุ้งทุกขนาดของไทยสูงกว่าคู่แข่ง จากต้นทุนการผลิตสูงกว่า ส่งผลให้ผู้นำเข้ากุ้งของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น หันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งมากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด

 

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,609 วันที่ 13 - 16 กันยายน พ.ศ. 2563