ฟื้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน โปร่งใส แต่เข้าถึงและตรวจสอบยาก

20 มิ.ย. 2563 | 00:05 น.

ข้อมูลการขอใช้วงเงินเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาทจากเว็บไซต์สำนักงานสภาพัฒน์การเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ล่าสุด ณ 12 มิถุนายน 2563 พบว่า มีโครงการที่ยื่นเสนอเข้ามารวม 34,263 โครงการ วงเงินรวม 841,269 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น แผนงานที่ 3.1 รวม 164 โครงการ มูลค่า 284,302 ล้านบาท แผนงานที่ 3.2 รวม 33,798 โครงการ มูลค่า 465,023 ล้านบาท และแผนงานที่ 3.4 รวม 301 โครงการ มูลค่า 91,942 ล้านบาท

สภาพัฒน์ปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้สนใจทั่วไปในแต่ละจังหวัดต่อโครงการตามแผนงาน 3.2 ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชน การเกษตร/การพัฒนาแหล่งนาเพื่อชุมชน และการท่องเที่ยวชุมชนไปเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ก่อนจะข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการที่ผ่านการวิเคราะห์เบื้องต้นส่งให้คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการ กลั่นกรองพิจารณา

ฟื้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน โปร่งใส แต่เข้าถึงและตรวจสอบยาก

ปรากฎว่า มีประชาชนมาแสดงความคิดเห็นน้อยมากหรือแทบจะเรียกได้ว่า ไม่มีเลยก็ว่าได้ส่วนหนึ่งอาจจะด้วยระยะเวลาสั้นแค่ีช่วง 8-15 มิถุนายนเท่านั้น แต่ส่วนหนึ่งคือยากต่อการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูล

แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ ข้อมูลอย่างนายชารินทร์ พลภาณุมาศ สมาชิก Data Sceince BKK ยังได้เขียนใน BLOG ส่วนตัวว่า กว่าจะได้วิเคราะห์ “ข้อมูลเปิด”ของรัฐไทย ไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะแม้จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลโครงการและงบประมาณที่ถูกนำเสนอ แต่คำว่า “เปิด” ก็คือดาวน์โหลดเป็น csvไม่ได้อยู่ แต่ให้นั่งเปิดเว็บไซต์ AJAX ล้ำๆดูทีละหน้าเป็นจำนวน 2,248 หน้า รวมทั้งสิ้น 33,716 โครงการเอาเอง ซึ่งเป็นสถานการณ์ ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 ดังนั้นจึงถือว่า วิเคราะห์ข้อมูลง่ายนิดเดียว เพราะที่เหลือยากหมด

“แม้ทุุกปัญหาแก้ได้ด้วยเทคโนโลยี แต่ข้อมูลทั้งหมด 33,716 แถว (พูดให้ถูกคือ 33,719 แถว แต่สามแถวสุดท้ายดูไม่ใช่โครงการจริง) ถูกจัดเตรียมโดยใช้หลักการ machineunreadable อย่างแท้จริง กล่าวคือ วิเคราะห์อะไรด้วยคอมพิวเตอร์ไม่ได้เลย เพราะปัญหาเหล่านี้ เกิดจากการไม่คำนึงถึงประเภทของข้อมูลที่ต้องการนำมาใช้ในการวิเคราะห์ เป็นการเก็บข้อมูลเพื่อเก็บ ไม่ใช่เก็บเพื่อไปใช้ประโยชน์”

อย่างไรก็ตาม จากการจัดการข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ข้อมูล ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 มีโครงการถูกนำเสนอมา 33,716 โครงการจาก 38 กระทรวง นับเป็นงบประมาณทั้งหมดประมาณ 8.29 แสนล้านบาท โดยที่กว่า 30,000 โครงการมาจากกระทรวงมหาดไทย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า งบประมาณ 90% จะถูกแบ่งไปให้กระทรวงมหาดไทยแต่อย่างใด จะเห็นได้ว่ามี 3 กระทรวงที่ได้งบมากกว่ากระทรวงอื่นๆ อย่างมีนัยยะสำคัญนั่นคือมหาดไทย สัดส่วน 28% สำนักนายกรัฐมนตรี 24% และเกษตรและสหกรณ์ 20%

เหตุที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้งบประมาณถึง 1.96 แสนล้านบาทนั้นเนื่องจากมี 1 แสนล้านบาทสำหรับ “โครงการพลิกฟื้นธุรกิจ SMEs ที่เป็น NPL ให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้” อันเป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดจากทุกโครงการนั่นเอง

โครงการส่วนใหญ่ มีงบประมาณอยู่ในช่วง 6-7 หลัก โดยมี “โครงการพลิกฟื้นธุรกิจ SMEs” เป็นเพียงโครงการเดียวที่แตะหลัก 1 แสนล้าน ส่วนโครงการ 4 หลักโครงการเดียวที่ถูกเสนอมาคือ “โครงการขุดสระเก็บน้ำบ้านหมอแปง หมู่ที่ 4 ขุดดินด้วยเครื่องจักร กว้าง 6.00 ม. ยาว 6.00 ม. ลึกเฉลี่ย 2.00 ม. หรือปริมาณดินขุดไม่น้อยกว่า 136 ลบ.ม.” ด้วยงบประมาณ 8,700 บาท

หากเจาะลึกลงไปถึงการ กระจายตัวของงบประมาณในระดับกระทรวงจะเห็นได้ว่างบประมาณต่อโครงการของกระทรวงการคลังและสำนักนายกฯสูงกว่ากระทรวงอื่น เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นโครงการที่มีสเกลใหญ่กว่า ต่างจากกระทรวงมหาดไทยที่เน้นโครงการขนาดเล็กเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น หากนำชื่อโครงการทั้งหมดกว่า 3 หมื่นโครงการมาวิเคราะห์ดูพบว่า ที่เกี่ยวกับ “การก่อสร้าง” และ “ถนน” เป็นโครงการมากที่สุดของกระทรวงมหาดไทยและเกือบครึ่งหนึ่งของโครงการทั้งหมด แต่งบประมาณที่จัดสรรไปเป็นเพียงเกือบ 10% ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น

ดังนั้นอาจสรุปได้ว่าโครงการ “การก่อสร้าง” และ “ถนน” น่าจะได้รับงบประมาณอย่างล้นหลาม

แต่สิ่งที่ต้องตามดูหลังจากนี้ หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.)ให้ความเห็นชอบโครงการและ  สามารถเบิกใช้เงินกู้ได้แล้ว งบประมาณที่ลงไปจะเป็น เบี้ยหัวแตกที่ใช่เงินแล้ว หายไม่ได้เกิดผลกระตุ้นเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์อย่างแท้จริง

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40  ฉบับที่ 3,584 วันที่ 18-20  มิถุนายน พ.ศ. 2563

ฟื้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน โปร่งใส แต่เข้าถึงและตรวจสอบยาก