ปรับใหญ่ แผนส่งออกข้าว หดเป้าทั้งปีเหลือ7ล้านตัน

12 มิ.ย. 2563 | 11:20 น.

พาณิชย์ปรับแผนส่งออกข้าวครึ่งปีหลัง ลุยวีดีโอคอนเฟอเรนซ์เจาะตรงผู้นำเข้า หลังโควิดพ่นพิษทำให้มีข้อจำกัดในการเดินทาง ลุ้นชนะประมูลข้าวจีทูจีฟิลิปปินส์ 3 แสนตัน กระทุ้งจีนเร่งนำเข้าล็อตสุดท้าย ห่วงบาทแข็งทุบส่งออกฝืด กระทบราคาข้าวในประเทศร่วง เตรียมหดเป้าทั้งปีเหลือ 7 ล้านตัน

สถานการณ์ส่งออกข้าว พืชเศรษฐกิจหลักของไทยช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ส่งออกแล้ว 2.59 ล้านตัน ลดลง 31.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าส่งออก 1,735 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 13.07% และในรูปเงินบาทส่งออก 54,241 ล้านบาท ลดลง 14% ซึ่งสถานการณ์ส่งออกในเดือนที่เหลือของปีนี้ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงทั้งเงินบาทที่เริ่มแข็งค่ากระทบราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น มีคู่แข่งขันในแต่ละตลาดมากขึ้น ขณะผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปเจรจาซื้อขายข้าวในต่างประเทศยังมีข้อจำกัด

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เผยถึงแผนการส่งออกข้าวไทยในช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ว่า กรมและผู้ส่งออกข้าวจะปรับเปลี่ยนแผนจากเดิมที่ต้องเดินทางไปพบปะผู้นำเข้าข้าว และผู้ซื้อ เป็นการวีดีโอคอนเฟอเรนซ์มากขึ้น  และเพื่อติดตามสถานการณ์แต่ละตลาดว่าเป็นอย่างไรบ้าง รวมถึงโอกาสในการขายข้าว เพราะหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปเจรจาขายข้าวในต่างประเทศทำได้ยากมากขึ้น และการคลายล็อกดาวน์ของแต่ละประเทศไม่พร้อมกัน ดังนั้นการใช้วีดีโอคอนเฟอเรนซ์น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในช่วงนี้

 อย่างไรก็ดี แผนขยายตลาดข้าวไทยในปี 2563 ทางกรมยังวางเช่นเดิม เช่น การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จีนในช่วงเดือนกันยายนที่หนานหนิงในงาน CAEXPO, การเข้าร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ในการกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและเพื่อพบหารือกับผู้นำเข้าข้าวในช่วงเดือนมิถุนายนที่ฟิลิปปินส์ รวมถึงแผนงานที่ยังค้างอยู่ในการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การจัดคณะผู้แทนเดินทางไปต่างประเทศที่แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ยูเออี และ เยอรมนี ที่ชะลอมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน 

ล่าสุดไทยได้ยื่นหนังสือเข้าร่วมประมูลซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 3 แสนตัน ในส่วนของฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 คาดข้าวไทยจะแข่งขันได้และมีโอกาสชนะการประมูล ส่วนตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซีย ยังรอดูสถานการณ์ว่าจะนำเข้าข้าวเพิ่มหรือไม่ ขณะที่ตลาดจีนกำลังเจรจาผลักดันให้จีนปิดการซื้อขายข้าวจีทูจีใน 3 แสนตัน ที่เหลือของสัญญาแรกให้จบ 

“ยังต้องติดตามเรื่องเงินบาทแข็งค่า เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวไทยแพงขึ้น เมื่อเทียบกับราคาข้าวของคู่แข่ง ซึ่งกรมฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับข้าวไทยว่าเป็นข้าวที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน เพราะมีผลทำให้ผู้ซื้อยอมจ่ายแพงขึ้น”

ปรับใหญ่  แผนส่งออกข้าว  หดเป้าทั้งปีเหลือ7ล้านตัน

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์ตลาดข้าวหลังโควิด-19 น่าจะเหนื่อยในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องราคาข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง รวมถึงกำลังซื้อที่หายไป เช่น มาเลเซียที่เดิมเคยซื้อข้าวไทย แต่ตอนนี้หันไปซื้อข้าวจากอินเดียและเวียดนามมากขึ้นเนื่องจากราคาถูกกว่า หากในครึ่งหลังของปีนี้ตลาดยังเงียบและผลผลิตที่คาดว่าน่าจะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง  ประกอบกับราคาข้าวในประเทศในช่วงที่ผ่านมาราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ชาวนามีการปลูกข้าวมากขึ้น หากผู้ส่งออกส่งออกข้าวไม่ได้ อาจทำให้ราคาข้าวในประเทศลดลงเป็นสิ่งที่เอกชนเป็นห่วง ประกอบกับค่าเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าขึ้น ล่าสุดลงมาที่ 31.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่จะมาซ้ำเติมความสามารถในการแข่งขันส่งออกเรื่องนี้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยช่วยดูแลเป็นพิเศษด้วย

“การส่งออกข้าวเดือนมกราคมถึงเมษายนไทยส่งออกไป 2.11 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 32.1% และเดือนพฤษภาคมล่าสุดส่งออกไปได้เพียง 5 แสนตัน ถือว่าต่ำกว่าเป้า เพราะปกติไทยจะส่งออกเฉลี่ยต่อเดือน 6.3 แสนตัน อย่างไรก็ตามคาดว่าทั้งปีนี้ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ 7 ล้านตัน (จากเป้าทั้งปี 7.5 ล้านตัน) โดยสมาคมฯจะประกาศปรับตัวเลขส่งออกในเดือนหน้า”

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,582 วันที่ 11 - 13 มิถุนายน พ.ศ. 2563