ซอฟต์โลน “ออมสิน” แสนล้านถึงมือเอสเอ็มอี ครบภายในมิ.ย.

10 มิ.ย. 2563 | 10:23 น.

ออมสิน เผยอนุมัติ สินเชื่อซอฟต์โลน แล้วกว่าแสนล้านบาท คาดทยอยปล่อยครบภายในเดือนนี้ พร้อมปรับแบงก์สู่ New Normal Solution

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคาร ออมสิน เปิดเผยว่า การปล่อยสินเชื่อตามโครงการ เราไม่ทิ้งกัน ที่ธนาคารได้พักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือจนถึง ต.ค.63 พบว่า มีลูกค้ารายย่อย และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้สิทธิทั้งหมด 3.1 ล้านราย คิดเป็นวงเงินรวม 1.14 ล้านล้านบาท

ซอฟต์โลน “ออมสิน” แสนล้านถึงมือเอสเอ็มอี  ครบภายในมิ.ย.

รวมถึง สินเชื่อฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับอาชีพอิสระ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 รายละ 10,000 บาท และสินเชื่อสำหรับผู้มีรายได้ประจำวงเงินสูงสุด 50,000 บาท มีผู้ยื่นกู้รวม 3.02 ล้านราย โดยอนุมัติไปแล้วเกือบ 600,000 ราย

ส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือ ซอฟต์โลน ที่ปล่อยให้กับสถาบันการเงิน นอนแบงก์และ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ของธนาคาร วงเงิน 150,000 ล้านบาท มีผู้ยื่นกู้ทั้งหมด 13,093 ราย คิดเป็นวงเงินขอสินเชื่อรวม 161,628 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 108,960 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะทยอยอนุมัติภายในเดือนมิ.ย.นี้ทั้งหมด

นายชาติชายกล่าวถึงผลการดำเนินงาน 5 เดือน (ม.ค.-พ.ค.) ของปีนี้ มีสินเชื่ออยู่ที่ 2.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 62 จำนวน 5,646 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 5,039 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 19,552 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ 1,892 ล้านบาท และรายได้อื่นอีก 2,313 ล้านบาท

ขณะที่เงินรับฝากมีทั้งสิ้น 2.47 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 65,597 ล้านบาท ส่งผลให้ธนาคารมีสินทรัพย์รวม 2.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 80,433 ล้านบาท ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 62,077 ล้านบาท คิดเป็น 2.88% ของสินเชื่อรวม

 

นายชาติชาย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 ส่งผลให้ทุกคนต้องปรับตัว รวมถึงธนาคารด้วย เพื่อมุ่งสู่ New Normal Solution โดยปรับบทบาทการให้บริการของสาขาเป็น Sales Advisory ให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความซับซ้อนใช้เวลามากในการทำธุรกรรม และการให้บริการแบบ Delivery Banking ที่เข้าถึงลูกค้าผ่านบริการ ช่องทางต่างๆ และบริการ Digital banking รวมถึงการพัฒนาเป็น digital platforms เพื่อมุ่งหารายได้ใหม่จากผลิตภัณฑ์ใหม่ และหา new business model ใหม่ๆ เพื่อทดแทนช่องทางหารายได้จากการเป็นธนาคารแบบดั้งเดิม

ทั้งนี้การให้บริการโมบายแบงก์กิ้ง MyMo ถือว่าประสบความสำเร็จโดย ณ วันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการ สูงถึง 9.4 ล้านราย เพิ่มขึ้นจากปี 58 ในช่วงเปิดตัว ที่มีผู้ใช้บริการเพียง 300,000 รายเท่านั้น