ถอดรหัส “เจ้าสัวธนินท์” ประเทศไทยหลังโควิด เต็มไปด้วยโอกาส

21 พ.ค. 2563 | 04:42 น.

“เจ้าสัวธนินท์”ร่ายยาว ชี้ประเทศไทยหลังโควิดเต็มไปด้วยโอกาส และจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งพลิกโฉมด้านการศึกษา การท่องเที่ยว แนะรัฐทุ่มเงินก้อนโตพยุงเศรษฐกิจต่อ มั่นใจได้คืนเป็นร้อยเท่า

ในงานเสวนาออนไลน์ “จุฬาฯ ธุรกิจพิชิต Covid-19” ในหัวข้อ “Top CEO Vision for Business Crisis” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “CBS Dean’s Distinguished Lecture Series: The Master Class” จัดโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยช่วงค่ำของวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 เป้าหมายเพื่อให้นักธุรกิจและประชาชนคนไทยทั่วไปสามารถนำแนวคิดของซีอีโอไปใช้เป็นแนวทางในการบริหารจัดการธุรกิจเพื่อพิชิตวิกฤติในยุคโควิด-19ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยครั้งนี้ได้นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) บิ๊กธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเมืองไทย เป็นวิทยากรรับเชิญ ซึ่งการพูดคุยนายธนินท์ได้ชี้ให้เห็นทิศทางประเทศไทยหลังโควิด-19 ยังเต็มไปด้วยโอกาสอีกมากมายที่รออยู่

ถอดรหัส “เจ้าสัวธนินท์” ประเทศไทยหลังโควิด เต็มไปด้วยโอกาส

-ต่อคำถามถึงมุมมองของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ที่เกิดโควิด-19 มีอะไรสำคัญ ๆสำหรับนักธุรกิจที่ควรจะต้องนำไปใช้อย่างไรบ้าง

นายธนินท์ระบุว่า เรื่องแรกเลยที่จะช่วยประเทศชาติ เราต้องสนับสนุนหมอกับพยาบาลอย่างเต็มที่ เพราะท่านเหล่านี้ออกสนามรบในที่ไม่เห็นศัตรู และเสี่ยงมากด้วย แต่ก็เสียสละทำให้ได้ผล ก็อยากจะฝากประชาชนทุกท่านว่า ที่เราจะช่วยประเทศไทยให้พ้นจากวิกฤติอันนี้ พวกเราต้องช่วยปกป้อง และไม่เอาปัญหาไปเพิ่มเติมให้หมอ คือเราต้องกักตัว หรือเวลาจะไปไหนก็ให้ปิดหน้ากากอนามัย เพื่อช่วยให้ภาระหมอและนางพยาบาลน้อยลง และการทำให้เรื่องโควิด-19 สงบลง เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน

 มาพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ ผมมองว่าโอกาสอันนี้เป็นโอกาสยิ่งใหญ่ในโลกนี้ และการเปลี่ยนแปลงของโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่าใหญ่หลวง ที่เห็นชัด ๆ ต่อไปการสอนออนไลน์จะเกิดขึ้นในโลกนี้แน่นอน และอาจารย์ที่เก่ง ๆ จะได้เอาความรู้สอนให้คนเป็นหลายสิบล้านคนก็ได้ หลายล้านคนก็ได้ หลายแสนคนก็ได้ ไม่ใช่จำกัดเฉพาะอยู่ในมหาวิทยาลัย อันนี้ก็จะทำให้คนเก่ง คนที่อัจฉริยะ อาจารย์ที่อัจฉริยะมีความพิเศษของในโลกนี้ก็จะมีโอกาสถ่ายทอดความรู้ไปให้กับคนทั่วโลกผ่านออนไลน์นี้ ตรงนี้นอกจากจะทำให้คนได้เรียนรู้แล้ว อาจารย์ที่ยังไม่มีความสามารถมากเท่าก็ได้เรียนรู้ไปด้วย เพราะเรียนรู้ไปด้วยก็ได้ไปช่วยสอน ช่วยถ่ายทอดความรู้อันนี้กระจายไปได้ทุกแห่ง

ผมคิดว่าอันนี้ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาได้ประโยชน์ ประชาชนทั้งประเทศ ทั่วโลกก็จะได้ประโยชน์ ได้ความรู้เพิ่มมากขึ้น บางคนอาจารย์เก่ง ๆ อยู่ในมหาวิทยาลัยดัง ๆ  แต่มีนิสิตเพียงกี่คนละครับ ก็มีจำกัด แต่ถ้าสอนออนไลน์แล้ว ไม่จำกัดล่ะครับ แล้วก็คนที่ฟังแล้วอาจจะฟังไม่เข้าใจก็อัดเทปเอาไว้ ฟังสิบครั้งก็ได้ ไม่เข้าใจก็ฟังให้จนเข้าใจ  ไม่เข้าใจก็ถามเพื่อนฝูงที่เรียนมาแลกเปลี่ยนกันโดยใช้ออนไลน์ก็ได้

เพราะฉะนั้นเรื่องเปลี่ยนแปลงของโลก เรื่องการศึกษามาก่อนเลย รองลงมาคือเรื่องท่องเที่ยว ต่อไปการทำงานในบ้านก็ไม่ต้องที่สำนักงาน แล้วผลงานจะได้เห็นชัดกว่ารู้ว่าวันหนึ่งเขาทำอะไรบ้าง ทำผลประโยชน์ให้กับบริษัทได้อย่างไรบ้าง แต่ถ้ามาอยู่ออฟฟิศ หรือที่ทำงานอาจจะ 8 ชั่วโมงอาจจะไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่ และก็ไม่มีโอกาสตรวจเช็กว่า วันนี้ทำไปได้เท่าไหร่ แต่ถ้าทำงานที่บ้านแล้วออนไลน์กลับมาก็มีตัวหลักฐานมีตัวเลขที่ชี้วัดได้ว่าการบ้านหรืองานที่เขารับผิดชอบอยู่แต่ละวันเขาทำให้คุ้มมั้ย ทำได้มากกว่าที่บริษัทให้ไว้มั้ย หรือมีทีเด็ดอะไรที่บริษัทได้เรียนรู้ไปสอนคนอื่น ๆ ถ่ายทอดให้พนักงานคนอื่น ๆ ก็ได้

พออย่างนี้แล้ว ค่าใช้จ่ายที่จะสร้างออฟฟิศแล้วก็มาอยู่ 8 ชั่วโมง ทำงาน 8 ชั่วโมงก็ทำให้เสียเวลา รถก็ติดไปกลับบางแห่งก็ 3 ชั่วโมง บางแห่งก็ 2 ชั่วโมง อย่างเร็วก็ 1 ชั่วโมงที่หายไป ทำให้สิ่งแวดล้อมก็เสียหายไป พออย่างนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานที่ไหนก็ได้ ลองคิดดูสิครับ ต่อไปเขาอาจจะพาครอบครัวไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ แล้วก็ทำงานที่นั่นก็ได้ นอกจากทำให้มนุษย์เรามีผลงานประสิทธิภาพสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้มีความสุขมากขึ้น จากเที่ยวไปทำงานไป พักผ่อนไป

 “ถ้าอย่างนี้อะไรเกิดขึ้นรู้มั้ย การท่องเที่ยวจะมากขึ้น จะมากกว่าปกติในสมัยที่ผ่านมา อาจจะหลาย ๆ เท่าก็ได้ แล้วก็ทำให้มนุษย์จะแลกเปลี่ยน เปิดหูเปิดตาไปเห็นของจริงในแต่ละประเทศ แล้วก็ทำงานในประเทศไหนก็ได้ เที่ยวที่ไหนก็ทำงานที่นั่นได้ ฉะนั้นจะฝากว่าการท่องเที่ยววันนี้อย่าท้อใจนะครับ โอกาสอนาคตจะมาอย่างใหญ่หลวง แต่วันนี้เราต้องเตรียมพร้อมว่า หลังจากนั้นแล้วเราจะทำอย่างไร หรือคนที่จะเข้ามาในเรื่องท่องเที่ยวต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยด้วยเป็นหลักเลย”

ต่อไปท่องเที่ยวต้องบวกความปลอดภัย ไม่ใช้รถชนกันอย่างเดียว ถ้าเขาเป็นโรคอะไรแล้วเรารักษาเขาได้มั้ย เรามีหลักประกันอะไรให้เขามีความสบายใจ ถ้าอย่างนี้คนร่ำรวยก็อยากจะมาท่องเที่ยวด้วย เพราะอยู่กับบ้านก็เฉา หรืออาจจะเหลือคนเดียว คู่รักก็อาจจะเสียชีวิตไปแล้วก็อยากจะมาสังสรรค์ ออกมาท่องเที่ยว แล้วถ้ามีคนดูแลอย่างดี มีความปลอดภัย ถ้าเขาป่วยอยู่ในประเทศอื่น ๆ  กลัวไม่มีโรงพยาบาลที่ดี ถ้าเรามีการท่องเที่ยวบวกความปลอดภัย แล้วก็บวกทั้งอินชัวรันส์ มีประกันรักษาโรคให้เขาสบายใจว่า เขาจะไปที่ไหนก็มีหมอที่เก่ง รักษาเขาได้ ดูแลเขาได้ หรือไปท่องเที่ยวรถทัวร์ จะทำอย่างไรให้มันมีความปลอดภัย จะต้องตรวจคนขับมีแอลกอฮอล์มั้ย ดูแลคนขับส่องกล้องดูได้เลยว่าช่วงที่เขาพักไปเที่ยวหรือเปล่า เขาพักจริงหรือเปล่า ยุคสมัยนี้เทคโนโลยีจะเกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน เราต้องดูแลคนขับ เพราะว่าชีวิต 50-60 คน อยู่ในรถทัวร์อยู่ในกำมือเขาแล้วต่อไปเชื่อแน่ว่ารถจะต้องไม่คนขับ แต่ไม่มีคนขับก็ต้องมีถนนสำหรับให้รถที่ไม่มีคนขับซึ่งต้องเตรียมพร้อม

 

-การเปลี่ยนแปลงนอกจากการดูแลความปลอดภัยแล้ว ประเด็นอื่น ๆ ที่ผู้ประกอบการทั่วไป ควรต้องมีไว้อยู่ในใจแล้วมีเรื่องอะไรเพิ่มเติมอีก

 

เรื่องความปลอดภัยต่อไป ประเทศไทยน่าจะสร้างหมอเก่ง ๆ  เพราะหมอคนไทยเก่งอยู่แล้ว และมีชื่อเสียงในโลก ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลของรัฐ เช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ รามา ศิริราชก็สร้างชื่อเสียง สร้างหมอเก่ง ๆ แต่ถ้าหลังจากโควิด-19 แล้ว ถ้าเราจะขยายเรื่องท่องเที่ยวบวกความปลอดภัย หมอกับพยาบาลเรายังขาดอีกมหาศาล อาชีพหมอกับพยาบาลจะต้องสร้างคนอีกเยอะ ก็ฝากว่าเป็นอาชีพที่ขาดแคลนมาก และก็จะมีรายได้สูงด้วย ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบ และมีชื่อเสียงโด่งดังเรื่องนี้อยู่แล้ว มีฐานที่ดีอยู่ในเรื่องนี้อยู่แล้ว

มีคนร่ำรวยในโลกนี้ก็ยังมารักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ หรือโรงพยาบาลของรัฐก็ไม่ได้แพ้โรงพยาบาลเอกชน และก็สร้างหมอ สร้างนางพยาบาลเก่ง ๆ  สนับสนุนโรงพยาบาลเอกชน อาชีพอันมีค่านี้ ความต้องการจะมากมายในเรื่องหมอกับนางพยาบาล ต่อไปก็ไปถึงเรื่องรีเสิร์ช เรื่องยา เรื่องอะไรต่อไปได้อีกเยอะ ถ้าเรามีหมอเก่ง ๆ  เรามีคนมาท่องเที่ยวมาเมืองไทย เราจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวระดับโลกก็ได้ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะตามมาอีกเยอะ เกี่ยวกับเรื่องท่องเที่ยว ทัวร์ เรื่องไกด์ เรื่องการค้าขาย ร้านอาหาร ภัตตาคารที่ต้องมีความปลอดภัย และอร่อยด้วย ทุกอย่างมันจะเปลี่ยนแปลง และธุรกิจอันนี้จะยิ่งใหญ่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย

ถอดรหัส “เจ้าสัวธนินท์” ประเทศไทยหลังโควิด เต็มไปด้วยโอกาส

 

-หลักการ 3 ประโยชน์ 4 ประสานในมุมมองนักธุรกิจ ถ้าจะนำเรื่องนี้ไปใช้ในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และวิกฤติต่าง ๆ ควรจะต้องเอาไปใช้อย่างไรบ้าง

 

ความจริง 3 ประโยชน์ที่ซีพีตั้งไว้(ประโยชน์แก่ประเทศชาติ,ประโยชน์แก่ประชาชน,ประโยชน์แก่บริษัท) มันใช้ได้ตั้งแต่บริษัทใหญ่จนบริษัทจิ๋วเลยครับ เช่น เราทำอะไรประเทศชาติต้องได้ประโยชน์ก่อน ถ้าประเทศชาติไม่ได้ประโยชน์ หรือประเทศไหนก็ตามที่เราไปลงทุน ถ้าประเทศเขาไม่ได้ประโยชน์ เขาจะสนับสนุนเราได้ยังไง และสินค้าของเราถ้าประชาชนไม่ได้ประโยชน์ เขาก็ไม่ซื้อสินค้าของเราใช่มั้ยครับ

แม้ว่าผมเป็นผู้นำซีอีโอของบริษัทซีพี ผมทำอะไรต้องคิดถึงบริษัทก่อน เราคิดถึงพนักงานก่อน แล้วตัวเองคิดถึงทีหลัง หรือเราเป็นผู้จัดการฝ่าย เราต้องคิดถึงฝ่ายนี้ ทำแล้วฝ่ายนี้ได้ประโยชน์อะไร พนักงานในฝ่ายนี้ได้ประโยชน์อะไร แล้วเราถึงจะเป็นทีหลัง

“ผมว่าตัว 3 ประโยชน์นี้ไปไหนก็ใช้ได้ ถ้าไปต่างประเทศใช้ตัวนี้ก็ทำให้ทุกประเทศก็ยินดีต้อนรับเรา ตรง 3 ประโยชน์นี้สำคัญมาก คนที่เป็นผู้นำบริษัทต้องคิดว่าบริษัทได้ประโยชน์อะไรก่อน แล้วก็พนักงานสำคัญมาก ถ้าไม่มีพนักงาน ไม่มีเพื่อนร่วมงานเราจะเก่งอย่างไรคนเดียว ทำได้อย่างไร และสุดท้ายตัวเราเองอยูทีหลัง ผู้นำต้องอยู่ทีหลัง อันนี้ 3 ประโยชน์ก็ใช้ได้กับทุกบริษัท”

และ 4 ประสาน(รัฐบาล,เกษตรกร,บริษัทเอกชน,สถาบันการเงิน) โดยเฉพาะต่อไปทุกอย่างต้องอินติเกรต (บูรณาการ)แต่เราจะอยู่ส่วนไหนของอินติเกรต อย่างเช่นเรื่องเกษตรยิ่งต้องอินติเกรต เพราะพืชผลก็มีชีวิต สัตว์เลี้ยงก็มีชีวิต มีฤดู และเกี่ยวกับดินฟ้าอากาศ ผลผลิตเวลาปลูกแล้วหรือเลี้ยงแล้วก็ต้องมีการตลาด มีการตัดแต่ง แปรสภาพ และไปถึงเรื่องการตลาด เรื่องโลจิสติกส์ มันมีเรื่องที่พัวพันเยอะมาก

ทำไมต่อไปในยุค 4.0  ไม่ว่าธุรกิจอะไรต้องอินติเกรต อย่างเช่นผมทำเรื่องเกษตร 1. เราจะไม่แย่งอาชีพเกษตรกร ถ้าเราไปประเทศไหน หรือประเทศไทยก็ตาม เราไปทำหน้าที่เกษตรกร แล้วเกษตรกรตกงาน รัฐบาลก็ไม่ชอบเราแน่นอน คุณมาทำให้เกษตรกรผมเดือดร้อน ประโยชน์ของประเทศก็ไม่เกิดแล้ว ประโยชน์ของประชาชนก็ไม่เกิดแล้ว คนซื้ออาจจะพอใจว่าคุณมาทำของถูก แต่คุณยังไม่ทันอะไรเกษตรกรตกงานแล้ว คุณมาแย่งอาชีพเขา

ดังนั้นเราต้อง 4 ประสาน เรื่องแรก รัฐบาลเห็นด้วยว่าเราทำอย่างนี้ประเทศเขาได้ประโยชน์ เกษตรกรได้ประโยชน์ แล้วเราถึงจะได้ประโยชน์ เกษตรกรทั่วโลกเหมือนกันหมด โดยเฉพาะประเทศยังไม่พัฒนาเกษตรกรก็ยากจน ประเทศก็ยากจน แม้เมืองไทยวันนี้เราพัฒนาไปแล้ว แต่เกษตรกรยังยากจนเพราะเขาขาดความรู้ เขาขาดเงินทุน ขาดตลาด ฉะนั้นเราจะช่วยเกษตรกรต้องไปช่วยเงินเขา ต้องไปช่วยเทคโนโลยีเขา ไปสอนเขา เอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพิ่มผลผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ ทำให้สินค้ามีคุณภาพ ยังไม่พอครับต้องไปช่วยเขาขาย ขายในประเทศและต่างประเทศ

ในเรื่องเกษตร 4 ประสานรัฐบาลต้องมาสนับสนุน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องทำอย่างไรให้เกษตรกร “เงยหน้า อ้าปากได้” มีรายได้สูงขึ้น อย่างน้อยต่อหัวต่อคนต้องเท่ากับรายได้ขั้นต่ำของคนในกรุง เกษตรกรก็ยังเสียเปรียบอยู่เพราะบางแห่งรถไฟฟ้าก็ยังไม่ค่อยถึง ถนนก็สู้คนในกรุงเทพฯไม่ได้ สู้ในเมืองใหญ่ไม่ได้ รถเมล์ก็ไม่มี น้ำประปาก็ไม่ค่อยดีเท่า  ตรงนี้เราต้องดูแลเกษตรกรอย่างดี ต่อไปเกษตรกรจะน้อยลง เพราะมีเครื่องทุนแรงเข้าไปช่วย แล้วลูกหลานเกษตรกรไปไหน ก็ไปเรื่องการผลิต แปรสภาพ โลจิสติกส์ สร้างเขาเปิดร้านไก่ย่างห้าดาว หรือไปเปิดเฟรชช็อปขายของสด

ยังมีธุรกิจอีกมากที่ตามมา ซึ่งเกษตรต้องเป็นเกษตรอุตสาหกรรมถึงเกษตรพาณิชย์ มีการจำหน่ายสร้างเครือข่ายขาย เปิดร้านภัตตาคาร เปิดเฟรชช็อป อีกหลายเรื่องที่จะสร้างอาชีพเกิดขึ้น และรัฐบาลจะได้ภาษีมากขึ้น ถ้าเพียงแต่ไปส่งเสริมเขาเลี้ยงรัฐบาลก็ไม่ได้ภาษี ถ้าไม่ต่อเนื่องอุตสาหกรรม เอาไฮเทคไปเลี้ยง คนเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูมันน้อยลงก็ต้องมาที่โรงงาน โรงงานไม่ใช่โรงงานอาหารสัตว์อย่างเดียว โรงงานแปรสภาพ โรงงานผลิตเป็นอาหารกล่อง โรงงานอาหารถุง หรืออาหารที่ใส่ในกล่องกระดาษ ก็จะทำให้ธุรกิจแพ็กเกจจิ้งเกิดขึ้นอีก อุตสาหกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นอีก เรื่องโลจิสติกส์ เรื่องการกระจายสินค้า เรื่องการไปส่งเสริมอาชีพมากขึ้น ขายไปให้กับแม่ค้าหาบเร่ แม่ค้าหาบเร่ก็ไปขายต่อ พอมีของดีราคาถูกก็อาจจะขายได้มากขึ้น คนบริโภคก็ได้สินค้าคุณภาพ คุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นไม่ป่วย กินของดีราคาถูก แม่ค้าหาบเร่ก็ไปเปิดร้านสังคมก็เปลี่ยนแปลง

แล้วถ้าของที่มีคุณภาพก็เอ็กซ์ปอร์ตไปทั่วโลกได้ เพราะทั่วโลกทุกประเทศประชาชนก็ต้องการซื้อสินค้าที่ของดีราคาถูกให้กับประชาชนเขา เพราะฉะนั้นทุกขั้นตอนต้องเป็นรูปใหม่หมดเลยครับ

 

-คำแนะนำการบริหารจัดการคนซึ่งเป็นหัวใจขององค์กรธุรกิจในช่วงวิกฤติ

 

ผมอธิบายเพิ่มระบบอินติเกรตหรือ 4 ประสาน คือเราแบ่งงานกัน ซีพีต้องเป็นผู้ที่ให้ และเสียสละ แต่แล้วเสียสละแบบไม่ใช่ว่าแบบขาดทุน หรือเสียหาย ถ้าเสียหายขาดทุนเราต้องให้ก่อน แล้วได้ทีหลัง ถ้าไม่ได้มันก็ไม่ยั่งยืน คือเสียสละต้องให้ก่อน แล้วทุกอย่างทุกขั้นตอนสำเร็จแล้วเราจะได้ทีหลัง

“เพราะฉะนั้นไม่ใช่ทุกขั้นตอนซีพีทำเองนะครับ ถ้าไปเกี่ยวพันกับเกษตรกร เกษตรกรต้องเป็นเจ้าของ ถ้าไปเกี่ยวข้องกับเปิดร้านขายภัตตาคาร เจ้าของร้านที่เป็นคนลงทุนต้องเป็นเจ้าของ เราเป็นผู้ไปสนับสนุน แล้วก็ไปช่วยเขา อะไรที่เขาทำได้ เราก็ส่งเสริมเขา อะไรที่เขาทำไม่ได้เราก็ไปช่วยเขาในจุดที่เขาทำไม่ได้ ฉะนั้นเรื่อง 4 ประสานหรืออินติเกรตมันไม่ว่าคนหนึ่งฮุบไป ต้องเอาคนที่มีพลังมาเป็นผู้นำ นำทุกอย่างต้องให้เป็นธรรมให้ทุกฝ่ายอยู่รอด แล้วเราถึงจะอยู่รอด ก็เหมือนกับ 3 ประโยชน์เหมือนกัน ประเทศชาติต้องอยู่รอด ประชาชนต้องอยู่รอด แล้วเราถึงจะอยู่รอด ตรงนี้มีคนอีกเยอะที่อาจจะยังไม่เข้าใจ ไม่ใช่ว่าซีพีฮุบคนเดียวนะครับ”

แล้วทำไมซีพีต้องมารับผิดชอบตรงนี้ เพราะเรามีโอกาสที่จะไปหาความรู้ใหม่ ๆ  เราไปเชื่อมโยงกับทั่วโลกแล้ว ถ้าเราไม่เห็นแก่ตัว เราก็เอาความรู้ถ่ายทอดให้กับคู่ค้าให้เขาได้เพิ่มประสิทธิภาพ ได้ต้นทุนถูกลง ของดีขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เอาไปขายก็ขายได้ง่ายขึ้น แล้วก็ขายได้ถูก ในโลกนี้คนรวยก็ยังต้องการของดีราคาถูก คนจนก็ต้องการซื้อของดีราคาถูก เพราะฉะนั้น 4.0 เราต้องผนึกกำลังแล้วมาช่วยลดขั้นตอนต่าง ๆที่เสียหายไป แล้วเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยกันมาลดต้นทุน แล้วทุกส่วนจะได้ประโยชน์พร้อมกัน อันนี้สังคมถึงจะอยู่รอด ไม่ใช่ผมได้คนเดียว ได้ต่อไปคนอื่นไม่ได้ สุดท้ายเราก็ไม่ได้เหมือนกัน อันนี้อยากจะฝาก

 และที่ถามว่าธุรกิจวันนี้คนไม่มีเงิน ตลาดก็แย่ลง ถ้าเป็นเรื่องโควิด-19 ไม่มีใครผิด ต่อไปโลกอาจจะเจออย่างนี้อีก เพราะมนุษย์ไปมาหาสู่กัน ไวรัสมันกลายพันธุ์ได้ ผสมกันไป ไวรัสจากประเทศนี้กับประเทศนี้มันมาเจอกัน สมัยโบราณคนจะเจอกันน้อย ต่อไปผมบอกว่าท่องเที่ยวจะยิ่งมากขึ้น คนทั่วโลกจะไปมาหาสู่กันมากขึ้น ช่วงนี้เป็นช่วงอัมพาตชั่วคราว เครื่องบินก็ไม่ได้ถูกทำลายไป ไม่ได้เหมือนสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกอย่างมันอยู่ตัวหมด โรงงานการผลิตก็อยู่ รัฐบาลจะทุ่มเทช่วงนี้กู้เงินระยะยาว 30 ปี ดอกเบี้ยถูก ๆ ออกพันธบัตร แล้วก็มาปล่อยกู้ให้กับนักธุรกิจวันนี้ที่เดือดร้อน อาจจะไม่ต้องให้ฟรีก็ได้ กู้ถูก ๆ 30 ปี

 ยกตัวอย่างวันนี้โรงแรม 5 ดาว โรงแรม 4 ดาว โรงแรม 3 ดาวไม่มีคนมาพักเดือดร้อน เราจะช่วยให้เขาผ่านพ้นตรงนี้ได้อย่างไร ก็ต้องกู้เงินดอกเบี้ยถูก ๆ ให้เขาผ่านพ้นระยะนี้เพื่อมาผ่อนส่งอีก 30 ปี หรืออีก 10 ปี อีก  10 กว่าปี ไม่มีใครผิดครับ ถ้าช่วงนี้อยู่ได้ผมคิดว่าไม่ต้องถึง 30 ปี 10 ปีหรอก ธุรกิจมันจะเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงทวีคูณ ถ้าคนมาท่องเที่ยวมากขึ้น ถ้าอยู่บ้านอย่างเดียวไม่ออกมาก็เท่ากับติดคุก มนุษย์ไม่ใช่ครับ ลองดูสิถ้าปล่อยคนออกมาเยอะแยะ จตุจักรพอเปิดปั๊บคนมาเที่ยวเยอะแยะนี่คือมนุษย์ครับ ถ้าเปิดเมื่อไหร่คนที่ถูกกักตัวไว้ตั้ง 2 เดือนแล้ว อึดอัดมากแล้วก็ต้องไปเที่ยว ตรงนั้นถ้าล้มละลายไปแล้วเขามาเที่ยวเราก็ไม่ได้ ต้องมาสร้างกันใหม่ หาคนใหม่

ในช่วงนี้รัฐบาลน่าจะทุ่มเงิน ทุ่มเงินอันนี้รัฐบาลไม่เสียหายหรอกครับ เพราะมันเป็นชั่วคราว เพราะเป็นวิกฤติของโรคตัวนี้ทำให้ทั่วโลกเป็นอย่างนี้ไม่ใช่เราประเทศเดียว เห็นมั้ยอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ประกาศใช้งบ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือกว่า 65 ล้านล้านบาทในการกู้วิกฤติเศรษฐกิจ) ถ้าไม่พอจะออกมาอีก อันนี้ผมคิดว่าวันนี้มันมีปัญหาชั่วคราว แล้วผมพูดแล้วว่า วันหนึ่งเราปิดไปเสียหายกว่า 1.8 หมื่นล้านบาทต่อวัน (มูลค่าความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทย) หรือเดือนหนึ่ง 5 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลบอกว่ากู้เงินมา 1.9 ล้านล้านบาท 3 เดือนก็หายไป 1.5 ล้านล้านบาทแล้ว

วันนี้เราปิดไป 2 เดือนแล้ว ฉะนั้นกู้มาเถอะทำให้ธุรกิจอยู่รอด คนยังมีเงินจับจ่าย รัฐบาลก็ยังได้เงินภาษีให้ทุกอย่างอยู่ขั้นปกติก่อน อย่างให้มันล้มหายตายจากไป เพราะไม่ใช่ความผิดของใคร ยกเว้นว่าเขาทำไม่ดี อันนี้เขาต้องปิด แต่เขาอยู่ดี ๆ แล้วท่องเที่ยวไม่มา การจับจ่ายก็ไม่มี ทุกอย่างหยุดหมดอย่างนี้ความผิดไม่ใช่ใคร แต่รัฐบาลน่าจะกล้าทุ่มเงิน และรับรองว่าเงินเหล่านี้ หลังวิกฤติแล้วได้คืนมาแน่นอน ไม่ได้เสียเปล่า แล้วก็ยังสร้างให้ทุกอย่างเรายังเข้มแข็ง พอโควิด-19 ผ่านไป คนมาเที่ยว มาอะไร เราก็ได้เต็มที่ เต็ม ๆ มากกว่าเดิมอีกหลายเท่า แล้วก็ต้องเตรียมพร้อมเรื่องพอหลังเปิดแล้วจะมีความปลอดภัยอย่างไร

ในความเห็นของผม วันนี้วิธีทำให้ต่างจังหวัดมีเงินสะพัด กำลังซื้อเกิดขึ้น คือหาสินค้าอะไรของเกษตร ซื้อราคาสูงขึ้น คนไม่เข้าใจ คิดว่าผมพูดอันนี้เห็นแก่ตัว ผมเสียหายนะครับ ถ้าสินค้าวัตถุดิบเกษตรราคาสูงขึ้น ผมค้าข้าวผมก็ขาดทุน ผมต้องซื้อแพงไปขายแพงอาจจะขายไม่ได้ หรือผัก ผลไม้อะไรแพงขึ้น โรงงานผมผลิตข้าวแพงขึ้น อะไรแพงขึ้น ผมขายข้าวกล่อง 30 บาท อาจจะลดลงเหลือ 20 บาท ผมเสียหายก่อนครับ แต่ไม่เป็นไร เราอย่าเห็นแก่ตัว เราเสียหายชั่วคราว แน่เราเห็นอนาคต ถ้าทุกคนอยู่รอด อนาคตเราจะดี และถ้าจะยั่งยืน เมืองไทยยังมีโอกาสอีกเยอะ อย่างเช่นว่า ปลูกข้าวขาวขายราคาถูก เราทำไมไม่เปลี่ยนเป็นข้าวหอมมะลิล่ะครับ ทำไมไม่เปลี่ยนเป็นข้าวเกรดดีขึ้น ทำไมไม่เอาท้องที่ที่ปลูกข้าวที่ใช้น้ำมากเปลี่ยนเป็นปลูกผลไม้ ปลูกมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ ทุเรียนอย่างนนทบุรี ทำนาทำไม ก็ไปปลูกทุเรียน ก็พูดง่าย แต่รัฐบาลต้องกล้าทุ่มเงินไป รับรองไม่เสียหายได้คืนมาเป็นร้อยเท่า ทุเรียนต้องใช้เวลาปลูก 7 ปี ถ้าปลูกข้าว 4 เดือนก็ได้เงินแล้ว แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงครอบครัวในช่วง 7 ปีนี้ ก็ช่วยเขา 3 ปีได้เลี้ยงตัวเองตอนทุเรียนยังไม่โตก็ปลูกอย่างอื่น เหลืออีก 4 ปีก็กู้เงินถูก ๆ ให้เขา แล้วให้เขาผ่อนส่ง พอทุเรียนเกิดได้ผลผลิตไร่หนึ่งได้เงินมากกว่าอะไรทั้งสิ้น ไร่หนึ่งอาจจะได้เงิน 2-3 หมื่น 10 ไร่ก็ 2-3 แสนบาท ดีกว่านาข้าวเยอะแยะ แต่เขาไม่มีเงินจะทำอย่างไร

เกษตรกรขาด 3 เรื่อง เงินไม่พอ เงินไม่มี เทคโนโลยีไม่มี การตลาดไม่มี ซีพีช่วยได้ก็คือเรื่องการตลาด เรื่องเทคโนโลยี แล้วการตลาดจะไปได้ ต้องไปผลิตของดี คุณภาพดี เพิ่มประสิทธิภาพกลายเป็นของดีราคาถูก ผมถึงจะไปขายได้ ในโลกนี้คนมีเงินก็อยากจะซื้อของดีราคาถูก เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาช่วยเกษตรกรปลูกข้าวที่ของดีแล้วราคาถูก และก็ยังมีกำไรอีก เราก็ไปขายได้ ตรงนี้ผมว่า เงินถ้าทุ่มไปตรงเกษตรกรผมคิดว่ามากกว่า 2 เท่า ถ้าเขามีเงินจับจ่าย 5 เท่า ถึง 10 เท่า เพราะเกษตรกรก็ซื้อสินค้าผลิตในเมืองไทยทั้งนั้นแหละไปซื้อจากหาบเร่ ตลาดสด ไม่เอาเงินไปซื้อกระเป๋าหลุยส์ วิตตอง ไม่เอาเงินไปเที่ยวทั่วโลกหรอกครับ เงินอยู่กับประเทศไทยทั้งนั้น เราไปส่งเสริมเขาในของที่มีอนาคต

ตอนนี้ทั่วโลกทำให้เราเห็น ญี่ปุ่นเขาทำยังไง อเมริกาเขาทำยังไง ยุโรปทำยังไง ไต้หวันทำยังไง มีทางออกมีอนาคตครับ ผมมองว่าเกษตรเมืองไทย ไม่น่าจะปลูกแต่ข้าวอย่างเดียว ปลูกผลไม้ ทุเรียนเรายังกินน้อยกว่ามาเลเซีย 10 เท่า เพราะคนไทยยังไม่ได้กินทุเรียนอย่างมาเลเซีย ถ้าจีนมากินเท่ากับมาเลเซีย จากวันนี้กินแค่ 1% ทุเรียน มังคุด ผลไม้ นาข้าวต้องปลูกข้าวเหนียวที่ราคาแพง ปลูกข้าวหอมมะลิ ปลูกทุเรียน ส้มโอ มังคุด มะม่วง กล้วยหอมซึ่งราคาดีกว่าปลูกข้าวทั้งนั้นเลย

 

-ตอนนี้เด็ก ๆ  จำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน หลายคนบอกจะตกงานแน่แล้ว อาจจะตกงานกัน 40% หางานหาเงินไม่ได้ มีข้อแนะนำนักศึกษาที่กำลังจะเรียนจบอย่างไร

 

 ผมมองบวกนะครับ ในชีวิตพอเจอวิกฤติ ถ้าวันนี้มีคนจะตกงาน 40%   ถ้าเราเอาคนเก่งในโลกนี้มาสัก 5 ล้านคนเพื่อมาสร้างงาน 5 ล้านคนที่เราเชิญเขามาลงทุนหรือมาใช้ชีวิตในไทย ซึ่งคนเก่ง ๆ อยู่เฉยไม่ได้เขาจะเอาความรู้ความสามารถที่มีอยู่มาด้วย นำเครือข่ายธุรกิจ เอาเงินเขาเข้ามา ถ้าคนหนึ่งหาผู้ช่วยมาอีก 2-3 ก็ 10 กว่าล้านคนผมยังกลัวว่านักศึกษาที่ผลิตออกมาอาจจะไม่พอกับงานที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าคนอื่นอาจจะคิดลบ คนจะตกงาน แล้วทำไมเอาคนข้างนอกมาจะมาแย่งงานเราเหรอ ต้องมองใหม่ เพราะเรื่องอะไรเขาจะมาแย่งงาน  เขาเข้ามาเขาต้องมีของใหม่ ๆ ที่เราต้องการนำมาใช้ในไทย

คนที่เราเชิญเข้ามาได้ เราต้องเอื้อความสะดวกให้เขา มองว่าเขาคือคนไทยคนหนึ่งมาสร้างงานสร้างธุรกิจให้ประเทศไทยยิ่งใหญ่ขึ้น มานำคนไทยให้เก่งขึ้น แน่นอนถ้าเราอยู่กับคนเก่งเราก็เก่งตามไปด้วย ถ้าเราอยู่กับคนไม่เก่งเราเอาความเก่งไปให้เขา เราก็ไม่ได้ความรู้จากเขาเลย ถ้าเราคนเก่ง ๆ ซัก 5 ล้านคนของโลก มาเมืองไทย คนหนึ่งถ้าสร้างงานให้เรา 2 คนก็ 10 ล้านคนแล้ว และยังสร้างธุรกิจอีกเยอะแยะที่เราไม่เป็น เราได้เรียนรู้

หรือเราจะสร้างงานให้เศรษฐีในโลกนี้ ถ้าคุณเอาเงินมาล้านเหรียญมาซื้อบ้านเมืองไทย ผมให้กรีนการ์ดเลยคุณอยู่ตลอดไปเลย ถ้ามาล้านคน คนละล้านเหรียญก็ 1 ล้านล้านเหรียญ ก็ 32 ล้านล้านบาท เมืองไทยเงินจะสะพัด ถ้าเอามา 5 ล้านคน ค่าใช้จ่ายกับการสร้างงานให้เราเท่ากับคนท่องเที่ยว 10 เท่า ก็เท่ากับ 50 ล้านคนมากกว่าคนที่เข้ามาท่องเที่ยว 40 ล้านคน(ในปีที่ผ่านมา) แล้วก็มีคุณภาพด้วย

“ถ้าเอาล้านคนที่มีเงินมาซื้อบ้านเรา ให้เขาซื้อไปตลอดชีวิตก็ได้ ไม่ต้องกำหนด 99 ปี มันไม่ใช่การขายชาติ อย่ามองว่าเป็นการขายชาติ เพราะเขาอยู่ภายใต้กฎหมายเรา และภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ของประเทศเรา จะไปขายชาติได้อย่างไรครับ ถ้าเรามีคนเก่งคนมีเงินมาใช้ชีวิตในไทยล้าคน กับคนไทยมีอยู่ 70 ล้านคน เราจะมีเงินมหาศาลเข้าประเทศ ธุรกิจจิ๋ว เล็ก กลาง สตาร์ตอัพเกิดหมด ผมกลัวว่าคนไทยเราไม่พอด้วยซ้ำ” 

ฝากสถาบันการศึกษาต้องเร่งสร้างนิสิต นักศึกษาที่เหมาะสมกับโลก 4.0  อะไรที่ล้าสมัยไม่ต้องสร้างมา สร้างมาเตะฝุ่นแน่นอน วันนี้เราต้องมาศึกษาแล้วว่าในโลก 4.0 อะไรที่เขาแย่งกันจบออกมาไม่พอ อย่างหมอ พยาบาล ไม่พอแน่นอน เกี่ยวกับเรื่องการเขียนซอฟต์แวร์ เรื่องคอนโทรลอิเล็กทรอนิกส์ การสร้างหุ่นยนต์อัจฉริยะเกิดแน่นอนโลกมันเปลี่ยน

 ก็เลยฝากสถาบันการศึกษาช่วยศึกษาว่า วันนี้ในโลกนี้อะไรที่ขาดแคลนคน ถ้าเราสร้างขึ้นมาแล้วเมืองไทยใช้ไม่หมด ทั่วโลกแย่งกันเอาไปใช้ ผมยังมองเต็มไปด้วยโอกาสในการเปลี่ยนแปลงยุค 4.0 ในอนาคตของโลกยังต้องหาคนอีกชนิดหนึ่งเยอะแยะ ถ้าไทยสร้างคนทันผมว่าเราจะไม่พอด้วยซ้ำ เราอย่ามองเฉพาะเมืองไทยสิครับ เราออกไปหากินทั่วโลกได้หมด  ถ้าเราสร้างคนได้ตรงกับที่เขาต้องการ และวันนี้ก็สอนทางงออนไลน์สอนได้แล้ว ดังนั้นลองสร้างนิสิต นักศึกษาให้เข้ากับยุค 4.0 สิครับ จะไปตกงานอะไรครับ ผมมองเต็มไปด้วยโอกาส

 “ผมมีความเชื่อมั่น แต่อยู่ที่รัฐบาลและสถาบันการศึกษาช่วยกันสร้างคน ออกสื่อว่าเราเต็มไปด้วยโอกาสและคนไทยเก่ง แต่ไม่มีโอกาส ถ้าเราเอื้อโอกาสให้คนไทย  เราไม่แพ้ใคร มีหลาย ๆเรื่องเราไม่ด้อยกว่าใคร  ข้าราชการของไทยเก่ง แต่ต้องแก้ระบบที่ล้าสมัยทำให้คนเก่งไม่มีโอกาส ดังนั้นทุกคนต้องคิดบวก ต้องเตรียมพร้อมที่จะเจอวิกฤติทุกวัน”