‘โคโรนา’ปลุกตลาด ส่งออกข้าวคืนชีพ ออร์เดอร์ทะลัก

14 มี.ค. 2563 | 03:30 น.

ส่งออกข้าวดีดกลับ รับอานิสงส์โคโรนา คนแห่ตุนข้าว ออร์เดอร์ฮ่องกง สิงคโปร์ แอฟริกา อเมริกาทะลัก ดันราคาข้าวโลกพุ่ง ลุ้นเป้า 7.5 ล้านตันถึงฝั่ง ขณะอีกแรงบวกจากภัยแล้งดันราคาข้าวเปลือกพุ่ง 9 พันบาทต่อตัน

 

ปี 2562 ไทยส่งออกข้าวได้ 7.58 ล้านตัน ต่ำสุดรอบ 6 ปี ปัจจัยหลักจากเงินบาทแข็งค่ามาก ราคาข้าวไทยสูงโด่ง เสียเปรียบการแข่งขัน ปี 2563 สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยตั้งเป้าส่งออกที่ 7.5 ล้านตัน มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มจากภัยแล้งคาดทำให้ผลผลิตข้าวไทยลดลง และมีคู่แข่งขันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ตัวเลขส่งออกเดือนมกราคม 2563 ทำได้แค่ 547,160 ตัน ติดลบถึง 42.5% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ล่าสุดวิกฤติไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก สร้างโอกาสการส่งออกข้าวไทยมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วิกฤติไวรัสโคโรนาส่งผลให้เวลานี้หลายประเทศเริ่มมีการซื้อหาอาหารรวมถึงข้าว เพื่อกักตุนไว้บริโภคในครัวเรือนมากขึ้น เช่น ในฮ่องกง สิงคโปร์ ผู้บริโภคชาวเอเชียในสหรัฐฯ รวมถึงในทวีปแอฟริกา เช่น โมซัมบิก แองโกลา แอฟริกาใต้ เป็นต้น ซึ่งผู้นำเข้าแต่ละประเทศมีคำสั่งซื้อข้าวไทยเพิ่มขึ้น และขอให้ผู้ส่งออกไทยพร้อมส่งมอบสินค้าทันที 100% หากมีคำสั่งซื้อเข้ามา

“เดิมผู้นำเข้าจะให้ส่งมอบแค่ 50% เช่น ส่งมอบเดือนมีนาคม 50% เมษายนอีก 50% แต่เวลานี้เขาบอกให้ผู้ส่งออกพร้อมส่งมอบทันที 100% เมื่อมีออร์เดอร์เข้ามา ส่งผลให้เวลานี้ประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวได้รับอานิสงส์ถ้วนหน้า และราคาข้าวส่งออกในตลาดโลกขยับขึ้น”

‘โคโรนา’ปลุกตลาด  ส่งออกข้าวคืนชีพ ออร์เดอร์ทะลัก

 

ตัวอย่างเช่น เมียนมา ราคา ข้าวขาว 5% ส่งออกเอฟโอบีอยู่ที่ 330-340 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ปัจจุบันขยับขึ้นเป็น 400 ดอลลาร์ เวียดนามจาก 360-365 ดอลลาร์ เป็น 405 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไทยจาก 410 ดอลลาร์ เป็น 450-460 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน อินเดีย 400 ดอลลาร์ ขึ้นจากเดิม 40-50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งในส่วนของไทยส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกขยับขึ้นตาม ปัจจุบันข้าวเปลือกเจ้าความชื้นไม่เกิน 15% เฉลี่ยที่ 8,800-9,000 บาทต่อตัน จากต้นปีอยู่ที่ 6,000-6,500 บาทต่อตัน ผลจากภัยแล้งผลผลิตข้าวลดลง และมีคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากความตื่นตระหนกของผู้บริโภคเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา

ทั้งนี้ผลพวงคาดการส่งออกข้าวไทยในเดือนกุมภาพันธ์น่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 6.3 แสนตัน ซึ่งการส่งออกจะขยายตัวได้ต่อเนื่องยาวนานแค่ไหนขึ้นกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนา หากยังไม่คลี่คลายการส่งออกคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่หากสถานการณ์เริ่มดีขึ้นหรือสู่ภาวะปกติการสั่งซื้ออาจลดลง และจากอีกตัวแปรหนึ่งคือจีนคงงดส่งออกข้าวชั่วคราวในปีนี้ จากต้องสำรองไว้เพื่อความมั่นคงด้านอาหาร จากปีที่ผ่านมาจีนมีการส่งออกข้าวถึง 4 ล้านตัน เวลานี้ยังมีสต๊อกกว่า 120 ล้านตัน ทำให้ภาพรวมการส่งออกข้าวไทยในปีนี้คาดจะทำได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 7.5 ล้านตัน

ขณะที่นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้าช่วงนี้ปรับตัวสูงขึ้น จากภัยแล้ง ผลผลิตข้าวลดลง และมีความต้อง การสูงขึ้นจากผู้ส่งออกที่ได้รับคำสั่งซื้อต้องเร่งซื้อข้าวจากโรงสีเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้า ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้นไม่เกิน 15%) ขึ้นมาอยู่ที่ 8,500-9,000 บาทต่อตัน ชาวนาที่ยังปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวได้รับอานิสงส์ ส่วนข้าวเปลือกชนิดอื่นราคายังทรงตัว เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิที่ 1.4-1.6 หมื่นบาทต่อตัน ข้าวเปลือกเหนียว 1.6 หมื่นบาทต่อตันบวกลบ ซึ่งอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากมีข้าวลักลอบนำเข้า

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,556 วันที่ 12 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2563