ส่งออกข้าวรายกลางดิ้นสู้ ปี 63ไร้ปัจจัยบวก ปรับแผนพึ่งตลาดในเพิ่ม

17 พ.ย. 2562 | 23:30 น.

 

ส่งออกข้าวฟันธงปี 2563 ไร้ปัจจัยบวก รายกลางชัยทิพย์-สยามเกรนส์ปรับแผนหันพึ่งตลาดในประเทศเพิ่ม ผลิตข้าวถุงไซซ์เล็กรับเทรนด์คนลดบริโภค หลังพิษบาทแข็งดันราคาข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง 2 เท่า

บิ๊กทรีวงการส่งออกข้าวทั้งเอเซีย โกลเด้น ไรซ์, นครหลวงค้าข้าว และธนสรร ไรซ์ได้ออกมาฟันธงผ่านฐานเศรษฐกิจว่า สิ้นปี 2562 การส่งออกข้าวไทยมีโอกาสวืดเป้าหมาย 9 ล้านตันค่อนข้างแน่ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงทั้งเงินบาทแข็งค่า ราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งขัน จีนจากคู่ค้ากลายเป็นคู่แข่งส่งออกข้าว เป็นต้น ล่าสุดผู้ส่งออกรายกลางก็มีความเห็นในทิศทางเดียวกัน

 นายวุฒิพล หวั่งหลี กรรมการผู้จัดการบริษัท ชัยทิพย์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายข้าวแบรนด์พนมรุ้งเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ภาพรวมส่งออกข้าวปีหน้า(2563)ยังไม่สดใสและยังต้องเหนื่อย ปัจจัยหลักจากเงินบาทที่ยังแข็งค่ามากส่งผลราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่งขันมาก ทำให้ขายยาก ในส่วนของบริษัทได้ปรับกลยุทธ์การตลาด โดยพยายามขายเป็นข้าวหอมปทุมธานี และข้าว กข 79 ซึ่งเป็นข้าวพื้นนุ่มมากขึ้น ซึ่งได้เริ่มนำไปเสนอขายกับลูกค้า เพื่อสู้กับข้าวของเวียดนาม

ส่งออกข้าวรายกลางดิ้นสู้  ปี 63ไร้ปัจจัยบวก ปรับแผนพึ่งตลาดในเพิ่ม

 

ขณะเดียวกันบริษัทจะปรับสัดส่วนการจำหน่ายข้าวจากปีนี้สัดส่วนการขายในประเทศต่อการส่งออกอยู่ที่ 60 ต่อ 40 ปีหน้าจะปรับเป็น 70 ต่อ 30 เพราะมองว่าตลาดส่งออกจะยังปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีน และฮ่องกง น่าจะยังลดลง ซึ่งแม้บริษัทจะปรับขนาดบรรจุถุงเป็นขนาดเล็ก แต่ยอมรับว่าตลาดฮ่องกงเริ่มทำตลาดยาก ขณะที่ข้าวเวียดนามกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากราคาถูกกว่าไทย โดยในส่วนของข้าวหอมมะลิไทยปัจจุบันเฉลี่ยที่ 1,200-1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน  ขณะข้าวหอมเวียดนามอยู่ที่กว่า 500 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ต่างจากข้าวไทย 2 เท่า

 

ลูกค้าข้าวไทยในฮ่องกงหายไปเยอะ เมื่อ 15 ปีก่อน ไทยมีแชร์ตลาดฮ่องกงถึง 95% ปัจจุบันเหลือแชร์ 40-50% และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากข้าวเวียดนามและกัมพูชาที่เข้าไปตีตลาด หากไทยไม่ปรับตัวในเรื่องของการหาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ในต้นทุนที่ถูกลง อนาคตข้าวไทยคงขยายตัวยาก

ปัจจัยเสี่ยงปีหน้า ยังเป็นเรื่องค่าเงินบาทที่ผันผวนในทิศทางที่แข็งค่า ทำให้ราคาข้าวไทยยังสูงกว่าคู่แข่ง รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะมีปริมาณนํ้าฝนลดลง ดังนั้นอาจส่งผลให้ผลผลิตข้าวนาปรังที่จะออกมาในปีหน้าน้อยกว่าปีนี้ ขณะที่ปัจจัยบวกปีหน้าต้องบอกว่าแทบจะไม่มี

 

 

ด้านนายกิติพันธุ์ เหล่าประภัสสร ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท สยามเกรนส์ จำกัด ผู้จำหน่ายและส่งออกข้าวหอมมะลิทั้งในและต่างประเทศ แบรนด์โคโค่เผยว่า ตลาดส่งออกข้าวปีหน้าแนวโน้มยังไม่ดี บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาเตรียมแผนปรับตัว จากปัจจุบันตลาดส่งออกหลัก 60% อยู่ที่สหรัฐฯ โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวหอมมะลิ 80% และ 20% เป็นข้าวเหนียวและข้าวกล้อง ส่วนอีก 40% ส่งออกไปตลาด จีน ฮ่องกง ออสเตรเลีย และยุโรป ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับกลยุทธ์การตลาดและการปรับขนาดถุงให้ตรงกับความต้องการของตลาด

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562

ส่งออกข้าวรายกลางดิ้นสู้  ปี 63ไร้ปัจจัยบวก ปรับแผนพึ่งตลาดในเพิ่ม