ทำไมน้ำตาลขม!!!

29 ก.ย. 2562 | 23:00 น.

 

     วันนี้น้ำตาลที่ใครๆก็บอกว่า “หวาน” กำลังจะกลับกลายเป็นน้ำตาลขมอีกแล้ว!!!    หากไล่เลียงให้ดี     ปัญหาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่ว่าขมนั้นมีสาเหตุหลักมาจากหลายเรื่องประเดประดังมาพร้อมกันเป็นช่วงๆ  แต่ที่น่าจับตามากที่สุดในขณะนี้เห็นจะเป็นราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ร่วงลงต่ำสุดในรอบ 5-6 ปี โดยมีราคาน้ำตาลทรายดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 10-11 เซ็นต์ต่อปอนด์ในขณะนี้  หลังจากปริมาณน้ำตาลในตลาดโลกมีผลผลิตน้ำตาลมากกว่าการบริโภค  อีกทั้งยังมีสต๊อกน้ำตาลโลกยังสูงอยู่

    ข้อมูลเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2562  F.O.Licht  รายงานดุลยภาพน้ำตาลทั้งโลกปี 2562/2563 (ต.ค.-ก.ย.) ระบุว่ามีสต๊อกน้ำตาลโลกสูงถึง 78.19 ล้านตัน ผลผลิตน้ำตาลโลกอยู่ที่ 181.48 ล้านตัน และการบริโภคของโลกอยู่ที่186.45 ล้านตัน  และยังระบุอีกว่า สต๊อกน้ำตาลโลกช่วงปลายปีจะเหลือ 72.67 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 38.97% ของการบริโภค  

     ราคาน้ำตาลในตลาดโลกยังไม่ขยับ!!!    คำตอบคือ  เพราะยังมีสต๊อกน้ำตาลโลกอยู่จำนวนมาก   และเวลานี้ประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุดคืออินเดีย มีสต๊อกน้ำตาลที่ยกยอดมาจากปีก่อนสูงถึง 14-15 ล้านตัน อีกทั้งอินเดียมีมาตรการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลสูงถึง 6 ล้านตัน

    อีกทั้งการส่งออกน้ำตาลที่ชะลอตัว เป็นอีกตัวแปรที่สะท้อนชัดเจนว่า ยอดการส่งออกตกต่ำลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โฟกัสปริมาณส่งออกน้ำตาลทรายของไทยช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม ปี2562  มีปริมาณส่งออกรวมลดลงเหลือ 6.067 ล้านตัน เทียบกับปี 2561 ในช่วงเดียวกันมีปริมาณส่งออกน้ำตาลสูงถึง 7.212 ล้านตัน  เจาะลงไปดูรายประเทศทั้งอินโดนีเซีย กัมพูชา ไต้หวัน เมียนมา ผู้นำเข้าหลักพากันนำเข้าน้ำตาลจากไทยลดลง  (ดูกราฟิก)

ทำไมน้ำตาลขม!!!

     นอกจากนี้ผลผลิตน้ำตาลโลกเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะ1-2 ปี ปริมาณน้ำตาลในโลกเพิ่มขึ้น ที่น่าจับตาอินเดีย นอกจากมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้นแล้ว รัฐบาลอินเดียยังมีมาตรการอุดหนุนน้ำตาลส่งออก จนหลายประเทศออกมาฟ้องอินเดียที่ทำให้ราคาน้ำตาลบิดเบือน เช่นเดียวกับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าสุดในภูมิภาค ยิ่งทำให้ราคาน้ำตาลส่งออกเมื่อแปลงมาเป็นค่าเงินบาทก็มีค่าน้อยลง ตรงนี้สะท้อนถึงราคาอ้อยปี 2562/2563 ที่จะเริ่มเปิดหีบในเดือนธันวาคมนี้

     มองเลยไปถึงนโยบายรัฐ ที่บางเรื่อง ชาวไร่อ้อย มองว่าเป็นนโยบายที่เข้ามาซ้ำเติมชาวไร่ให้ต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งที่ราคาน้ำตาลร่วง   ทำให้ส่งผลต่อการคำนวนราคาอ้อยที่ต้องตกต่ำลงตามกันไป   ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดหรือข้อปฏิบัติให้ใช้อ้อยสดเข้ามาทดแทนอ้อยไฟไหม้  รวมถึงข้อจำกัดเรื่องน้ำหนักและความสูงในการบรรทุกอ้อยที่กำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 3.6 เมตร ซึ่งที่ผ่านมาชาวไร่เรียกร้องที่ความสูงในการบรรทุกอ้อยที่ 4 เมตร  ยังไม่รวมผลพวงจากนโยบายรัฐ  อย่างมาตรการเก็บภาษีค่าความหวาน ที่อาจทำให้การบริโภคน้ำตาลจากภาคอุตสาหกรรมและเครื่องดื่มลดลง

     จากข้อกังวลดังกล่าว นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทค้าผลผลิตน้ำตาล  จำกัด กล่าวว่า ที่น่ากังวลมากที่สุดคือราคาน้ำตาลดิบโลกร่วง บวกกับในฤดูการผลิตใหม่ปี 2562/2563  สิ่งที่ผู้ส่งออกเป็นห่วงมากที่สุดคือ การแข็งค่าของเงินบาท  ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็งค่า 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถ้าแข็งค่าต่ำกว่านี้หรือหลุดกรอบ 30.50 บาท จะยิ่งกระทบหนัก เพราะคู่แข่งรายใหญ่อย่างบราซิล มีค่าเงินเรียลอ่อนค่ามาก

 

     ดูภาพรวมแล้วทั้งปัญหาการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกก็เจอแรงต้านหนักหน่วงจากราคาที่ดิ่งลงในช่วงนี้!!!

    ประมวลภาพรวมจากหลายตัวแปร สุดท้ายปัญหาสะท้อนกลับไปที่ต้นทาง คือราคาอ้อยร่วงตาม  วงจรปัญหาย้อนกลับไปวังวนเดิมๆ อีกครั้ง  น้ำตาลที่ว่า“หวาน”กลับกลายเป็น “ขม”ภายใต้ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้!!!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007