สต๊อกน้ำตาลอินเดียป่วนโลก!!!

30 ก.ย. 2562 | 11:08 น.

 

วงการอ้อย-น้ำตาลห่วงสต๊อกน้ำตาลอินเดีย 15 ล้านตัน ฉุดราคาน้ำตาลโลกร่วง

 

นายภิรมย์ศักดิ์ สาสุนีย์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทค้าผลผลิตน้ำตาล  จำกัด  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า  ขณะนี้วงการอ้อยและน้ำตาลต่างกังวล  จากที่อินเดียมีสต็อกน้ำตาลมากถึง 15 ล้านตัน กำลังจะเป็นประเด็นสำคัญในวงการอ้อยและน้ำตาล เพราะเป็นหนึ่งในตัวการที่ทำให้ราคาน้ำตาลโลกไม่ขยับสูงมากเท่าที่ควรจะเป็น   ทำให้ผู้เล่นรายใหญ่ในวงการน้ำตาลโลกจึงออกมาเคลื่อนไหว

    

จากที่รัฐบาลอินเดียให้การอุดหนุนผู้ส่งออกน้ำตาลถึงตันละ145-146 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10,448 รูปี) กลายเป็นตัวกดดันทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกตกต่ำ  ทำให้บรรดาผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อย่างบราซิล ออสเตรเลีย กัวเตมาลา ยื่นฟ้องต่อ WTO กรณีที่รัฐบาลอินเดียอุดหนุนผู้ส่งออกจนทำให้ราคาน้ำตาลโลกบิดเบือน

    

ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทค้าผลผลิตน้ำตาล  จำกัด  กล่าวอีกว่าหลังจากที่รัฐบาลอินเดียออกมาอุดหนุนส่งออกน้ำตาลก่อนหน้านั้นจำนวน 5 ล้านตันน้ำตาล  และตามมาติดๆ ฤดูการผลิตใหม่ปี 2562/2563 รัฐบาลอินเดียอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลเพิ่มจาก 5 ล้านตัน ก่อนหน้านั้นมาเป็น 6 ล้านตัน ด้วยเหตุนี้ราคาน้ำตาลที่ทำท่าจะผงกหัวขึ้นก็อาจจะหดหัวลง

สต๊อกน้ำตาลอินเดียป่วนโลก!!!

      

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลทรายรายหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า  จากที่ก่อนหน้านี้หลายคนในวงการอ้อยและน้ำตาลต่างตั้งความหวังว่าปีฤดูการผลิตใหม่นี้(2562/2563)ราคาน้ำตาลโลกน่าจะปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจากผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกในฤดูการผลิตใหม่นี้จะไม่เพียงพอต่อการบริโภคของโลก  และเป็นที่คาดการณ์กันว่าน่าจะขาดอยู่ราว 4-5 ล้านตันน้ำตาล ตามหลักเศรษฐศาสตร์เมื่อของขาดย่อมราคาขยับ  แต่เวลานี้การส่งออกน้ำตาลไทยรับศึกหลายด้านทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาคนี้  ขณะที่คู่แข่งอย่างอินเดียและบราซิลค่าเงินอ่อนค่าลง ทำให้ได้เปรียบในแง่มูลค่าการขายที่ดีกว่า ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบร่วงต่ำลงในรอบหลายปี โดยลดลงต่ำกว่า11เซ็นต์ต่อปอนด์ จนล่าสุดค่อยๆปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยหรือขยับมาที่ 11.5 เซ็นต่อปอนด์

 

 “เวลานี้อินเดียมีสต๊อกน้ำตาลที่เหลืออยู่มากถึง 15 ล้านตัน  ปริมาณน้ำตาลดังกล่าวกดดันให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกร่วง”

        

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตในวงการอ้อยและน้ำตาลไทยว่าเหตุใดจึงไร้เงาประเทศไทยในการร่วมขบวนฟ้องอินเดียด้วย ทั้งที่ไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่เบอร์ 2 ของโลก หรือในปริมาณส่งออกไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน (บราซิลผู้ส่งออกเบอร์1 เคยส่งออกได้มากกว่า 20 ล้านตันต่อปี ล่าสุดส่งออกได้ต่ำกว่า 20 ล้านตันต่อปี) แต่ไทยกลับไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการคัดค้านด้วย

    

“หากสามารถแก้ไขสต๊อกน้ำตาลของอินเดียได้ ก็จะทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูงขึ้น ในขณะที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย รัฐบาลไม่ต้องลงมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อยในแง่การช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตอีกหากราคาขยับสูงขึ้น”