สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (10)

31 ส.ค. 2562 | 04:00 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3501 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 1-4 ก.ย.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล (10)

 

          โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) วงเงิน 224,544 ล้านบาท นับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด บัดนี้เป็นเวลากว่า 7-8 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลคือกลุ่มซีพีแต่อย่างใด

          อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไมยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้

          สัญญาที่ ติดขัดตรงไหน มาติดตามร่างสัญญาตอนที่ 10 ว่าด้วยเรื่องการได้รับสิทธิให้เข้าร่วมลงทุนในโครงการฯ คู่สัญญาตกลงให้ รฟท. มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ชวนติดตามมากครับ

          ตอนที่แล้วผมนำเสนอไว้เพียงแค่ (1) มาดู (2) กันนะครับ

          ในสัญญาระบุว่า ในระหว่างระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.1(1) หากมีการขยายระยะเวลาตามข้อ 15.1(1)(ฉ) 1) หรือมีการเริ่มการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรือแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามข้อ 15.1(1)(ช) หรือ รฟท. ได้ออกหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยาย รฟท. มีสิทธิได้รับรายได้บางส่วน (Revenue Sharing) ของค่าโดยสารและการดำเนินกิจการทางพาณิชย์เฉพาะในส่วนของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ (สำหรับช่วงที่มีการขยายระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรือระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยายตามข้อ 15.1(1)

          (ฉ) และในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรือแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ที่มีการให้บริการเดินรถและบำรุงรักษาโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและ/หรือแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามข้อ 15.1(1)(ช) ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะตกลงกันโดยเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องนำส่งรายได้ที่ รฟท. มีสิทธิได้รับดังกล่าวให้แก่ รฟท. ภายในระยะเวลาที่ รฟท. กำหนด

          (3) ค่าให้สิทธิเอกชนคู่สัญญา ร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงินเท่ากับหนึ่งหมื่นหกร้อยเจ็ดสิบเอ็ดล้านเก้าหมื่น (10,671,090,000) บาท โดยเอกชนคู่สัญญา จะต้องชำระค่าให้สิทธิดังกล่าวภายในวันที่ครบระยะเวลาสอง (2) ปี นับจากวันที่สัญญาร่วมลงทุน มีผลใช้บังคับและ

          (4) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ให้แก่ รฟท. ซึ่งมีรายละเอียดค่าเช่าและการชำระค่าเช่าเป็นไปตามเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 5 (ข้อกำหนดของ รฟท. ของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของรถไฟของโครงการฯ) ภาคผนวกหมายเลข 2 (รายละเอียดค่าเช่าและการชำระค่าเช่า)

          8.2 การตรวจสอบความถูกต้องของการชำระผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ รฟท.

          (1) ตลอดระยะเวลาของโครงการฯ คู่สัญญาตกลงว่าเอกชนคู่สัญญามีหน้าที่จัดทำข้อมูลรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับโครงการฯของเอกชนคู่สัญญา ให้แก่ รฟท. โดยจะต้องนำส่งงบการเงินรายไตรมาสภายในสี่สิบห้า (45) วัน นับจากวันสุดท้ายของแต่ละไตรมาสนั้น และต้องนำส่งงบการเงินประจำปีที่มีการตรวจสอบและรับรองโดยบริษัทผู้ตรวจสอบบัญชีที่มีชื่อเสียงและ รฟท.อนุมัติ ภายในหนึ่งร้อยห้าสิบ (150) วัน นับจากวันสิ้นสุดรอบปีบัญชีของแต่ละปีนั้น

          (2) ในช่วงระหว่างปีของแต่ละปีของระยะเวลาของโครงการฯ หาก รฟท. เห็นว่าข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ที่เกิดขึ้นในแต่ละไตรมาสของปีใดไม่ถูกต้อง ให้เอกชนคู่สัญญาและ รฟท. ร่วมกันตกลงและปรับข้อมูลข้างต้นให้ถูกต้องภายในสามสิบ (30) วัน นับจากวันที่ รฟท. มีหนังสือแจ้งไปยังเอกชนคู่สัญญาถึงความไม่ถูกต้องของข้อมูลนั้น หรือระยะเวลาอื่นใดตามที่คู่สัญญาตกลงกัน โดยหากไม่สามารถตกลงกันได้ คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอให้หาข้อยุติโดยใช้วิธีการระงับ ข้อพิพาทตามที่กำหนดไว้ในข้อ 39.12

          (3) ในกรณีที่ รฟท. เห็นว่าข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมดของปีใดไม่ถูกต้องและ รฟท. มีสิทธิได้รับชำระผลประโยชน์ตอบแทนของปีนั้นจากเอกชนคู่สัญญาเพิ่มขึ้น ให้เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่นำส่งเงินผลประโยชน์ตอบแทนเพิ่มเติมในจำนวนที่ รฟท. กำหนดให้แก่ รฟท. ภายในสิบห้า (15) วัน นับจากวันที่เอกชนคู่สัญญาได้รับหนังสือจาก รฟท. โดย รฟท. จะไม่ใช้เงินดังกล่าวจนกว่าคู่สัญญาจะสามารถตกลงหรือหาข้อยุติเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าวได้ ทั้งนี้เอกชนคู่สัญญาตกลงว่าจะปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุนต่อไปในระหว่างที่คู่สัญญายังไม่สามารถตกลงหรือหาข้อยุติเกี่ยวกับความถูกต้องของข้อมูลเกี่ยวกับรายได้

          (4) หากเอกชนคู่สัญญาจงใจปกปิดหรือแสดงข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จ ไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนหรือกระทำใด ๆ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการปกปิดข้อมูลรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ รวมถึงรายได้ที่เกิดจากการให้เช่าช่วงและ/หรือการให้ใช้ประโยชน์พื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ซึ่งเป็นความผิดทางอาญาและ รฟท. ได้มีการดำเนินคดีแล้ว ให้ถือว่าเกิดเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 27 (1)

          8.3 ผลประโยชน์ตอบแทนของเอกชนคู่สัญญา คู่สัญญาตกลงให้ เอกชนคู่สัญญามีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการจัดเก็บและได้รับรายได้ที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ ดังต่อไปนี้

          (1) ค่าโดยสาร ภายใต้เงื่อนไขการแบ่งรายได้ให้แก่ รฟท. ตามข้อ 8.1 เอกชนคู่สัญญามีสิทธิจัดเก็บและได้รับค่าโดยสารจากโครงการเกี่ยวกับรถไฟ

          (2) มาตรการสนับสนุนโครงการฯ ทางการเงิน รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ให้แก่เอกชนคู่สัญญาเป็นจำนวนใดจำนวนหนึ่ง ดังต่อไปนี้ แล้วแต่จำนวนใดจะตํ่ากว่า

          (ก)หนึ่งแสนสี่หมื่นเก้าพันหกร้อยห้าสิบล้าน (149,650,000,000) บาท หรือ

          (ข)ในกรณีที่มูลค่าปัจจุบันรวม ณ วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ โดยใช้อัตราคิดลดร้อยละสองจุดสามเจ็ดห้า (2.375) ต่อปีของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสำหรับงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟ ที่มีมูลค่ารวมของเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่เริ่มงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง จนถึงวันที่เริ่มงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ตํ่ากว่า มูลค่าปัจจุบันรวมของจำนวนหนึ่งแสนสี่หมื่นเก้าพันหกร้อยห้าสิบล้าน (149,650,000,000) บาท ที่แบ่งเป็น 10 ปี ปีละเท่าๆ กันนับจากวันที่เริ่มงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง

          ซึ่งมูลค่าปัจจุบันดังกล่าวคิดอยู่บนสมมติฐาน ณ วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ และใช้อัตราคิดลดร้อยละสองจุดสามเจ็ดห้า (2.375) ต่อปี ให้นำจำนวนเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสำหรับงานโยธาของโครงการเกี่ยวกับรถไฟนับตั้งแต่วันที่เริ่มงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงจนถึงวันที่เริ่มงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง มาคำนวณเป็นมูลค่าอนาคตโดยใช้อัตราดอกเบี้ยร้อยละสองจุดสามเจ็ดห้า (2.375) ต่อปี เพื่อถือเป็นเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ที่จะเริ่มชำระให้แก่เอกชนคู่สัญญาตามที่กำหนดไว้ในข้อ 18 ทั้งนี้ รฟท. จะชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ในข้อ(ก)หรือข้อ (ข) แล้วแต่จำนวนใดจะตํ่ากว่า เป็นระยะเวลา 10 ปี ปีละเท่า ๆ กันนับจากวันที่เริ่มงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง

          แต่ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ จะไม่เกินกว่าหนึ่งแสนสี่หมื่นเก้าพันหกร้อยห้าสิบล้าน (149,650,000,000) บาท และ เงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ ตามมติรัฐมนตรี

          เพื่อความชัดเจนของสัญญาข้อนี้ ให้ “มูลค่าปัจจุบัน” (Present Value) หมายถึง จำนวนมูลค่าหารด้วย 1.02375 ยกกำลัง ระยะเวลา(ปี) และ “มูลค่าอนาคต” (Future Value) หมายถึง จำนวนมูลค่า คูณด้วย 1.02375 ยกกำลัง ระยะเวลา(ปี)

          เห็นผลประโยชน์ตอบแทนแล้วเป็นอย่างไรครับ ตอนหน้ามาดูเรื่องมาตรการสนับสนุนโครงการฯ ไม่ใช่ทางการเงินกันนะครับ อย่าเลิกติดตามกันเสียก่อนละครับ!