สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล(5)

14 สิงหาคม 2562

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3496 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 15-17 ส.ค.2562 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน'

ประวัติศาสตร์การประมูล(5)

 

                  โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)  วงเงิน 224,544 ล้านบาท นับเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยที่มีความล่าช้าในการลงนามเซ็นสัญญายาวนานที่สุด

                  คณะกรรมการพิจารณาการประกวดราคา ได้เปิดซองด้านการเงินพบว่า กลุ่มซีพี เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่า กลุ่มบีเอสอาร์ อยู่มาก กลุ่มซีพีจึงชนะประมูล จึงเรียกกลุ่มซีพีมาเจรจาต่อรองกันมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2561 บัดนี้เป็นเวลากว่า 7-8 เดือนเข้าไปแล้ว แต่ “รัฐ” ยังไม่มีการลงนามเซ็นสัญญากับเอกชน

                  อะไรคือต้นตอปัญหาของความล่าช้า ทำไม “เอกชน-รัฐ” จึงมีการยื้อยุดฉุดกระชากสัญญามายาวนานขนาดนี้

                  สัญญาที่จะมีการลงนามกันนั้นรายละเอียดเป็นอย่างไร ติดขัดตรงไหน มีอะไรในกอไผ่ มาติดตามกันในร่างสัญญา ตอนที่ 5 ซึ่งเป็นเรื่องระยะเวลาในสัญญากันต่อนะครับ

                  5.1 ระยะเวลาการดำเนินงานรถไฟความเร็วสูง มีระยะเวลาห้าสิบ (50) ปี โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาดังกล่าวดังต่อไปนี้

                  (1) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเท่ากับระยะเวลาห้า (5) ปี หรือระยะเวลาที่ได้รับการขยายจาก รฟท. ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 15.1 (1) (ฉ) โดยจะนับจากวันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ จนถึงวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถทั้งระบบ และ

                  (2) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเท่ากับระยะเวลาสี่สิบห้า (45) ปี นับจากวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่วันที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถทั้งระบบ

                  5.2 เว้นแต่กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาร่วมลงทุน ระยะเวลาการดำเนินงานอื่นภายใต้โครงการฯ (นอกเหนือจากรถไฟความเร็วสูง) มีรายละเอียดและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาดังกล่าวดังต่อไปนี้

                  (1) แอร์พอร์ต เรลลิงค์ ระยะเวลาการดำเนินแอร์พอร์ต เรลลิงค์ สามารถแบ่งออกได้เป็นสอง (2) ระยะดังต่อไปนี้

                  (ก) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ เท่ากับระยะเวลาสอง (2) ปีหรือระยะเวลาที่ได้รับการขยายจาก รฟท.ตามข้อ 15.2(1)(ข)3) โดยจะนับจากวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถ แอร์พอร์ต เรลลิงค์ และ

                  (ข) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ

                  (2) แอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ระยะเวลาการดำเนินแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย สามารถแบ่งออกได้เป็นสอง (2) ระยะดังต่อไปนี้

                  (ก) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 1 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงก์ส่วนต่อขยายเท่ากับระยะเวลาห้า (5) ปี หรือระยะเวลาที่ได้รับการขยายจาก รฟท. ตามข้อ 15.1(1)(ฉ) โดยจะนับจากวันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาของโครงการฯ จนถึงวันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย และ

                  (ข) ระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายจะเริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายจนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ

                  (3) การพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ เท่ากับระยะเวลาห้าสิบ(50) ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือแจ้งให้เริ่มงานในส่วนของการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ แต่ทั้งนี้ระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่นั้นจะไม่เกินกว่าระยะเวลาของโครงการฯ

                  (4) การดำเนินกิจการทางพาณิชย์ ระยะเวลาการดำเนินการทางพาณิชย์ ของแต่ละสถานีรถไฟของโครงการเกี่ยวกับรถไฟมีรายละเอียดและเงื่อนไขเกี่ยวกับการเริ่มต้นและสิ้นสุดดังต่อไปนี้

                  (ก) สถานีดอนเมือง และสถานีบางซื่อ จะเริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยายตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ

                  (ข) สถานีพญาไท สถานีราชปรารภ สถานีรามคำแหง สถานีหัวหมาก สถานีบ้านทับช้าง สถานีลาดกระบัง สถานีมักกะสัน และสถานีสุวรรณภูมิ จะเริ่มเมื่อเอกชนคู่สัญญาชำระค่าให้สิทธิร่วมลงทุนในแอร์พอร์ต
เรลลิงค์ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 15.2(1)(ก) และ รฟท.ได้แจ้งถึงการสิ้นสุดของพันธะผูกพันในแต่ละพื้นที่ ตามสัญญาที่ รฟท. มีอยู่กับผู้รับสิทธิ ในการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ ภายใต้สัญญาที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ใน วันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ ตามรายละเอียดของพันธะผูกพันที่ระบุในเอกสารแนบท้าย 12 (สัญญาพันธะผูกพันในแต่ละพื้นที่)

                  ทั้งนี้ รฟท. จะแจ้งให้เอกชนคู่สัญญาทราบภายในสามสิบ (30) วัน นับจากวันสิ้นสุดพันธะผูกพันตามสัญญาในแต่ละพื้นที่ของส่วนนั้น

                  (ค) สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีศรีราชา สถานีพัทยา และสถานีอู่ตะเภา จะเริ่มตั้งแต่วันที่เริ่มระยะเวลาของงานในระยะที่ 2 ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองการเริ่มให้บริการเดินรถทั้งระบบ จนถึงวันที่สิ้นสุดระยะเวลาของโครงการฯ

                  5.3 คู่สัญญาตกลงว่าระยะเวลาการดำเนินโครงการฯเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ ระยะเวลาการดำเนินโครงการเกี่ยวกับรถไฟในส่วนของแอร์พอร์ต เรลลิงค์ส่วนต่อขยาย ระยะเวลาการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการรถไฟของโครงการฯ และระยะเวลาการดำเนินกิจการทางพาณิชย์ อาจสิ้นสุดลงก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในข้อ 5.2 นี้ เมื่อสัญญาร่วมลงทุนมีผลสิ้นสุดลงก่อนครบระยะเวลาของโครงการฯ

                  ฉบับหน้ามาติดตามกันในสัญญาว่าด้วยเรื่อง เงื่อนไขและการเริ่มต้นการดำเนินโครงการฯ แอร์พอร์ตลิงค์กันต่อนะครับ...มหากาพย์สัมปทานรถไฟความเร็วสูงมีอะไรให้ติดตามเยอะครับ!