หยวนดิ่งรอบ11ปี ‘ธุรกิจไทย’สลบ

07 ส.ค. 2562 | 09:30 น.

จับตาจีนปล่อยหยวนอ่อนค่ามากสุดรอบ 11 ปีตอบโต้สหรัฐฯ กระทบส่งออก-ท่องเที่ยว-อสังหาฯไทยวูบหนัก สภาหอฯชี้จีนระงับซื้อสินค้าเกษตรมะกัน ไทยไม่ได้อานิสงส์ ขณะจีนทิ้งโอนคอนโดฯในไทยแล้ว 10% ซีไอเอ็มบีไทย เตือนรับมือจีนจำกัดนักท่องเที่ยวลดขนเงิน 5 หมื่นล้านดอลล์ออกนอกประเทศ

การเตรียมปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบใหม่ของสหรัฐฯอีก 3,812 รายการ ครอบคลุมสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนที่เหลือเกือบทั้งหมดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนในอัตรา 10% วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯตามคำประกาศของโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2562 ล่าสุดนำมาสู่การตอบโต้ของจีน(วันที่ 5 ส.ค.62)ด้วยการปล่อย (ลด) ค่าเงินหยวนสู่ระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่ามากสุดรอบ 11 ปี ขณะที่สำนักข่าวซินหัวรายงานว่าคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีนประกาศว่าจีนจะระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรทั้งหมดจากสหรัฐฯ สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก แน่นอนว่า 2 เหตุการณ์สำคัญนี้จะส่งผลกระทบต่อไทยด้วย อย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

 

หยวนอ่อนจีนได้หลายเด้ง

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เดิมรัฐบาลจีนจะใช้เงินเพื่อปกป้องค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่าเพื่อต่อสู้กับข้อครหาของสหรัฐฯก่อนหน้านี้ว่า จีนเป็นชาติที่ “ปั่นค่าเงิน”เพื่อหวังผลในการส่งออก ซึ่งการปล่อยเงินหยวนอ่อนค่าครั้งนี้(จากระดับ 6.88 หยวน/ดอลลาร์เมื่อ 5 ก.ค.62 เป็น 7.03 หยวน/ดอลลาร์เมื่อ 5 ส.ค.62 หรืออ่อนค่าลง 2.13%) มองว่า เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีสินค้าจีนอีกมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

“เมื่อหยวนอ่อนค่าลง 2% สินค้าที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษีสินค้าจีนอีก 10% ก็จะแพงขึ้นเพียง 8% ทำให้จีนยังส่งออกแข่งขันในตลาดสหรัฐฯได้ ขณะกรณีจีนจะระงับการซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯของจีน จะทำให้เกษตรกรของสหรัฐฯได้รับความเดือดร้อน ส่งผลถึงคะแนนนิยมในทรัมป์ลดลง และอาจไม่ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯในสมัยที่ 2  ซึ่งเป็นสิ่งที่จีนต้องการ”

ขณะเดียวกันการลดค่าเงินหยวนจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันส่งออกของสินค้าจีนไปทั่วโลก เพราะสินค้าจะมีราคาถูกลง ทำให้ขายสินค้าได้มากขึ้น ซึ่งรวมทั้งการส่งออกมายังไทย อย่างไรก็ดีกรณีหลายฝ่ายคาดหวังการระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯของจีน ไทยอาจได้อานิสงส์ส่งออกสินค้าเกษตรไปทดแทนสินค้าสหรัฐฯในจีนได้เพิ่มขึ้น เรื่องนี้มองว่าไทยจะได้อานิสงส์น้อยมาก เพราะสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ที่สหรัฐฯส่งมาจีนเป็นคนละรายการกับไทย ได้แก่ ถั่วเหลือง ข้าวฟ่าง ข้าวสาลี ฝ้าย เนื้อหมู เนื้อวัว ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปจีนได้แก่ ผลไม้สด ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ซึ่งไม่สามารถทดแทนกันได้

 

ส่งออกไทยไปจีนวูบหนัก

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การลดค่าเงินหยวนของจีน สวนทางเงินบาทแข็งค่า จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังจีนในทุกสินค้าตั้งแต่ อาหาร ผลไม้ ยางพารา เคมีภัณฑ์ และอื่นๆ เพราะสินค้าไทยจะแพงขึ้น (ส่งออกไทยไปจีนช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ยังติดลบ 10%) แต่ไทยก็ไม่สามารถลดราคาลงได้เนื่องจากกำไรที่ได้อยู่ในระดับตํ่าอยู่แล้ว และมีแนวโน้มว่าสินค้าจีนอาจจะเข้ามาทุ่มตลาดในอาเซียน จากส่งออกไปสหรัฐฯได้ลดลง จะกระทบผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยที่ผลิตและจำหน่ายอุปโภคบริโภคไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าจีนได้

“ที่กังวลกันคือสงครามการค้าอาจลุกลามเป็นสงครามการเงินอีกรอบ เพราะการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯและจีน โดยสหรัฐฯขึ้นภาษีสินค้าจีนรอบใหม่ 10% ส่วนจีนลดค่าเงินตอบโต้ หากในอนาคตสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีสินค้าจีนจาก 10% เป็น 25% จะยิ่งลำบาก เพราะอาจจะเห็นสหรัฐฯใช้วิธีการลดดอกเบี้ย การใช้มาตรการคิวอี จะยิ่งทำให้เงินบาทไทยแข็งค่ามากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาท ไม่ให้ตํ่ากว่า 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ”

หยวนดิ่งรอบ11ปี  ‘ธุรกิจไทย’สลบ

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธาน สรท.กล่าวว่า เพื่อลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่าซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยลบที่สำคัญต่อภาคส่งออกของไทยในเวลานี้ มองว่ามีทางออกเพียงทางเดียวคือ ผู้ส่งออกต้องทำข้อตกลงกับผู้นำเข้าของจีนโดยซื้อขายเป็นสกุลหยวนไปเลยโดยสามารถแปลงค่าเงินเป็นเงินบาทได้ทันที ไม่ต้องแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐฯก่อน เรื่องนี้ธปท.ได้ไปทำข้อตกลงไว้แล้วกับจีน รวมถึงกับอีกหลายประเทศเพื่อใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าขาย จะช่วยลดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง

 

ทิ้งโอนคอนโด10%

ขณะผลกระทบธุรกิจอสังหาฯ กรณีเงินหยวนอ่อนค่า นายธิติวัฒน์  ธีรกุลธัญโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจบริษัท เซ็นจูรี่ 21 เรียลตี้ แอฟฟิลิเอทส์ ประเทศไทย จำกัด หรือ “เซ็นจูรี่ 21” ระบุว่า ปัจจุบันชาวจีน ชะลอซื้อคอนโดมิเนียมในไทยค่อนข้างชัดเจน และยังมีปัญหาจากการทิ้งเงินดาวน์ไม่กลับมาโอนกรรมสิทธิ์ ประมาณ 10% จากตัวเลขที่เอเยนซีชาวจีนเคยระบุว่ายอดซื้อช่วง 2 ปีก่อน 3-4 หมื่นหน่วย ทั้งนี้จะเห็นความชัดเจนหลังไตรมาส 3 เนื่องจากโครงการเริ่มก่อสร้างแล้วเสร็จ บางโครงการติดตามให้กลับมาโอนกรรมสิทธิ์ แต่พบว่า ไม่มีการติดต่อกลับมา อย่างไรก็ตามนอกจากค่าหยวนอ่อนแล้ว ยังได้รับผลกระทบจากเศษฐกิจโลก และสงครามการค้าทำให้ลูกค้าจีนยอมทิ้งเงินดาวน์


 

 

จีนเที่ยวไทยส่อวูบหนัก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า แม้จีนจะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ แต่จีนมีแนวโน้มที่จะเกินดุลการค้ากับประเทศอื่นน้อยลง ซึ่งซีไอเอ็มบีไทยเคยส่งสัญญาณมาก่อนหน้าแล้วว่า จีน จะประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นปัญหาด้านปัจจัยพื้นฐานภายในของจีนที่อ่อนแอลงด้วยที่ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลง นอกเหนือจากการตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลน้อยลงหรืออาจจะขาดดุลนั้น ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มีรายจ่ายด้านการท่องเที่ยวนอกประเทศราว 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งมีปริมาณเกือบครึ่งหนึ่งของดุลบัญชีเดินสะพัดของจีน

“แม้ไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงทางเศรษฐกิจจากเงินหยวนอ่อนค่า แต่เราต้องเตรียมรับมือมาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวออกนอกประเทศของรัฐบาลจีน เพราะไทยพึ่งพารายได้ท่องเที่ยวจากจีนเป็นหลัก”

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ผลกระทบน่าจะมีอยู่ต่อเนื่องจากสถานการณ์สงครามการค้าไปสู่สงครามค่าเงิน โดยผลกระทบต่อไทยจะมี 3 ด้านคือ การท่องเที่ยว การส่งออก และอสังหาริมทรัพย์ ที่มากสุดน่าจะเป็นการท่องเที่ยว เพราะมีสัดส่วน 15% ของจีดีพี หากคิดเฉพาะคนจีนมีผลอย่างน้อย 3-4% ของจีดีพี ซึ่งถือว่ามาก โดยเริ่มเห็นผลกระทบบ้างแล้ว เช่น โรงแรมขนาดกลางและล่างเริ่มหายไป แม้ว่าไฮเอนด์ยังดีอยู่ ส่วนอินเดียจะเข้ามาชดเชยคงไม่เพียงพอ เพราะสัดส่วนยังน้อย และค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อทริปยังน้อยกว่าอยู่ 3 หมื่นบาท เทียบคนจีนอยู่ที่ 5.5 หมื่นบาท

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,494 วันที่ 8 - 10 สิงหาคม พ.ศ. 2562

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● โลกระส่ำหลังจีนลดค่าเงินหยวน ส่อจุดชนวน 'สงครามค่าเงิน'

● ยกระดับสงครามการค้าไปอีกขั้น เมื่อสหรัฐฯตราหน้าจีนปั่นค่าเงิน

● จีนยันพร้อมพยุงค่าหยวน จวกสหรัฐฯยัดเยียดสถานะประเทศปั่นค่าเงิน

● จากสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน...ทางการไทยควรเตรียมรับมือ

 

หยวนดิ่งรอบ11ปี  ‘ธุรกิจไทย’สลบ