โลกระส่ำหลังจีนลดค่าเงินหยวน ส่อจุดชนวน 'สงครามค่าเงิน'

05 ส.ค. 2562 | 16:47 น.

เมื่อจีนตอบโต้สงครามการค้าสหรัฐฯด้วยการลดค่าเงินหยวนลงมาที่ระดับทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 แรงกระทบก็พุ่งสู่ตลาดหุ้นทั่วโลก โดยดัชนีดาวโจนส์วูบไปกว่า 500 จุด นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปีที่รัฐบาลจีนปรับลดค่าเงินหยวนลงอ่อนกว่าระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์เพื่อลดทอนผลกระทบจากมาตรการภาษีที่ผู้นำสหรัฐฯจัดหนักใส่จีนตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

นักลงทุนทั่วโลกกำลังหวั่นวิตกว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนลงและพุ่งทะลุระดับทางจิตวิทยาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นความเคลื่อนไหวที่อาจยกระดับความขัดแย้งทางการค้าให้บานปลายจนกลายเป็นสงครามค่าเงินในที่สุด ซึ่งเค้าลางเริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว

  โลกระส่ำหลังจีนลดค่าเงินหยวน ส่อจุดชนวน 'สงครามค่าเงิน'

อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ช่วงเช้าของวันที่ 5 ส.ค. 2562 (ตามเวลากรุงปักกิ่ง) ค่าเงินหยวนร่วงลง 1.2% แตะระดับ 7.0256 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ หลังธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (PBOC) กำหนดค่ากลางซึ่งเป็นอัตราอ้างอิงเงินหยวนรายวันให้อ่อนค่าลงเกิน 6.9 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นอัตราต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561


 

โลกระส่ำหลังจีนลดค่าเงินหยวน ส่อจุดชนวน 'สงครามค่าเงิน'

แถลงการณ์ของธนาคารกลางจีนระบุว่า การอ่อนตัวของค่าเงินหยวนหลักๆแล้วเป็นผลจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการที่สินค้าจีนถูกตั้งกำแพงภาษี ทั้งนี้ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 10% วงเงิน 300,000 ล้านดอลลาร์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนที่จะถึงนี้ นักวิเคราะห์ระบุว่า การปรับลดค่าเงินหยวนมักเป็นหนึ่งในวิธีการที่รัฐบาลจีนนำมาใช้ตอบโต้การตั้งกำแพงภาษีของประเทศคู่ค้า เนื่องจากค่าเงินหยวนที่อ่อนลงจะช่วยผู้ผลิตสินค้าส่งออกของจีนซึ่งได้รับผลกระทบจากอัตราภาษีที่สูงขึ้น การเดินหน้าตอบโต้สหรัฐฯในครั้งนี้ ทำให้ความหวังที่ว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุข้อตกลงการค้ากันได้ดับวูบลงไปในทันที

 

สิ่งที่ทำให้นักลงทุนหวั่นวิตกเกี่ยวกับค่าที่อ่อนลงของเงินหยวนคือ มันอาจกระตุ้นให้สหรัฐฯตอบโต้จีนด้วยกำแพงภาษีที่สูงขึ้น นั่นหมายถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างสองมหาอำนาจก็จะยิ่งยืดเยื้อต่อไปและส่งผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกพลอยชะลอตัว และที่นักลงทุนหวาดหวั่นยิ่งไปกว่านั้นคือถ้าหากรัฐบาลสหรัฐฯจะพยายามตอบโต้จีนด้วยการทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ก็จะเป็นการจุดชนวนสงครามสกุลเงิน (currency war) ที่สุดท้ายแล้วจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอเมริกันลดน้อยลง

 

วิราช พาเทล นักวางกลยุทธ์ตลาดปริวรรตเงินตรา บริษัท อาร์เครา มองว่า ความเสี่ยงจากการที่ผู้นำสหรัฐฯจะเข้ามาแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรานั้นเพิ่มมากขึ้นเมื่อจีนปล่อยค่าเงินหยวนอ่อนตัว“และถ้าหากเรื่องนี้กลายเป็นสงครามค่าเงินอย่างเต็มรูปแบบ สหรัฐฯ ก็คงเป็นฝ่ายแพ้ลุ่ย เพราะจีนนั้นล้ำหน้ากว่ามากเมื่อพูดถึงการเล่นเกมการเงิน และจีนเองก็มีอาวุธที่ดีกว่า(สหรัฐฯ)ในเรื่องนี้”

โลกระส่ำหลังจีนลดค่าเงินหยวน ส่อจุดชนวน 'สงครามค่าเงิน'

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนลงและพุ่งทะลุระดับทางจิตวิทยาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ และความหวั่นวิตกเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการค้าที่อาจบานปลายกลายเป็นสงครามสกุลเงิน ทำให้ตลาดหุ้นเอเชียเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ติดลบกันถ้วนหน้า ดัชนีนิกเกอิ 225 ของญี่ปุ่นทรุดลงถึง 2.3% เป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน และเป็นการดิ่งลงที่ลาดชันที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ส่งผลให้คณะรัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องเรียกประชุมด่วนเพื่อหารือเกี่ยวกับความโกลาหลของตลาดครั้งนี้ ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี/เอเอสเอ็กซ์ 200 ของออสเตรเลียดิ่งลงราว 1.5% ติดลบเป็นวันที่สี่ติดต่อกัน ส่วนดัชนี KOSPI ของเกาหลีใต้ก็ติดลบ 2.1% ลงไปแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2016


 

ด้านดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังเปิดตลาด ดาวโจนส์ดิ่งลงกว่า 500 จุดมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 26,000 จุด เอสแอนด์พี 500 และแนสแดค คอมโพสิต ปรับลดลงเกือบ 2% และ 2.5% ตามลำดับ ซึ่งสำหรับเอสแอนด์พี 500 เป็นการลดลงติดต่อกัน 6 วันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 ขณะที่แนสแดคหากปิดลงต่ำกว่านี้ก็จะทำสถิติการปรับตัวลดลงติดต่อกันนานที่สุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2559 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งนั้นดัชนีแนสแดคลดลงติดต่อกันถึง 9 วัน

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  ระบุในทวิตเตอร์ส่วนตัวเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ว่า จีนเป็นนักปั่นค่าเงิน (currency manipulator) และนี่ก็เป็นการละเมิดกฎกติกาอย่างชัดเจน เขาเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หันมาดูพฤติกรรมของจีนและทำอะไรในเรื่องนี้ ซึ่งตลอดระยะที่ผ่านมา ผู้นำสหรัฐฯพยายามกดดันให้เฟดปรับลดดอกเบี้ยลงมาให้มากขึ้นและให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ แม้ว่าเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (fed funds rate) ลงมาแล้ว 0.25% ก็ตาม

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

● ยกระดับสงครามการค้าไปอีกขั้น เมื่อสหรัฐฯตราหน้าจีนปั่นค่าเงิน

● จีนยันพร้อมพยุงค่าหยวน จวกสหรัฐฯยัดเยียดสถานะประเทศปั่นค่าเงิน

● จากสงครามการค้าสู่สงครามค่าเงิน...ทางการไทยควรเตรียมรับมือ

● หยวนดิ่งรอบ11ปีธุรกิจไทยสลบ