“เกษตรกร” ที่มีที่ดินเกิน 63 ไร่ ต้องเสียค่าน้ำ

12 มี.ค. 2564 | 14:15 น.

สะพัด “เก็บค่าน้ำ” ที่ดินเกิน 63 ไร่ จัดเป็น “เกษตรเชิงพาณิชย์” “ลุ่มน้ำวังโตนด-ทีดีอาร์ไอ” ประสานเสียง แตกครัวเรือน ซ้ำรอย “ประกันรายได้เกษตรกร” เลี่ยงเสียค่าน้ำ

พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 มาตรา 41 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม และการใช้น้ำปริมาณเล็กน้อย

 

2.การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น 

 

3 การใช้น้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

 

ล่าสุด ทาง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เริ่มรับฟังและสำรวจความคิดเห็น โดยนำโมเดล เก็บค่าน้ำสาธารณะ ที่ให้มหาวิทยาลัยศึกษา นำผลการศึกษาไปสำรวจความคิดเห็นไปรับฟังความคิดเห็น เพื่อที่จะแบ่งกลุ่มให้ชัด ระหว่าง “เกษตรกรเพื่อยังชีพ” กับ “เกษตรกรพาณิชย์/อุตสาหกรรม” ซึ่งมีการจัดแบ่งโดยการถือครองที่ดินนั้น กำหนดเกษตรกรที่ถือครองที่ดิน เกิน 63 ไร่ ต้องเสียค่าน้ำ มีความคิดเห็นอย่างไร

 

ผศ.ดร.เจริญ ปิยารมย์

 

เริ่มจาก ผศ.ดร.เจริญ ปิยารมย์ ประธานคณะทำงานลุ่มน้ำคลองวังโตนด เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”  การใช้น้ำประเภทที่ 1 ก็คือ "เกษตรเพื่อยังชีพ" ต้องตีความหมายว่า ยังชีพคืออะไร แล้วมาจำกัดการถือครองที่ดิน 63 ไร่ เป็นเกณฑ์ขึ้นมา ผมก็ถามว่า 63 ไร่ เอาแนวทางมาจากตรงไหน ก็ตอบไม่ได้ ผมมองว่า เป็นตุ๊กตา ถ้าสมมติ เอา 63 ไร่

 

“ถ้าผมมีลูก 2 คน ผมก็กระจาย เพื่อให้อยู่ในกลุ่มเกษตรยังชีพ ไม่ต้องเสียค่าน้ำ กลายเป็นสังคมที่ไม่พูดความจริง หากจะเก็บค่าน้ำ ผมคิดว่าหากใครทำคนนั้นก็รับเคราะห์ไปแล้วกัน ผมมองว่าเป็นเผือกร้อน กฎหมายไม่ใช่ปัญหา แต่การบังคับกฎหมาย นี่แหละคือปัญหา”

 

 

พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 (เรียกสั้นๆว่า กฎหมายน้ำ) เมื่อประกาศใช้บังคับ จะสร้างการกระเพื่อมต่อวงการน้ำของชาติครั้งยิ่งใหญ่ เพราะน้ำเป็นเรื่องของทุกคน ชาวบ้านเราเราจะอยู่แค่คิดว่าทำอย่างไรให้มีน้ำใช้ตลอดปี และไม่เคยเสียค่าน้ำ ไม่ต้องจดทะเบียนผู้ใช้น้ำ แค่คิดสูบน้ำในคลอง ในแม่น้ำขึ้นมาใช้พอประกอบอาชีพก็จบแล้ว ภายหลังน้ำเริ่มแห้งเราก็คิดว่าทำอย่างไรน้ำมันจึงจะมีมาให้เราใช้ก็แค่นั้น หรือน้ำท่วมเราจะป้องกันอย่างไร หวนกลับมาเรื่องน้ำยุคปัจจุบันและต่อไปหลังกฎหมายน้ำมีผลบังคับใช้

 

การจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ โดยกรอบแล้วตามกฎหมาย “น้ำสาธารณะ” จะต้องรวมตัวไม่น้อยกว่า 30 คนขึ้นไป ไปจดทะเบียนกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) รายละเอียด ขั้นตอนต่างๆ สทนช.จะเป็นผู้กำหนด นี่คือยกแรกของการบริหารจัดการน้ำของชาติ ที่ดำเนินการหลังกฎกระทรวงต่างๆ ตามกฎหมายน้ำออกมาใช้บังคับ

 

ยกต่อมาก็คือ การจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำหลัก22 ลุ่มน้ำตามที่ประกาศออกมาแล้ว สมัยก่อนยุคกรมทรัพยากรน้ำกำหนดไว้ 25 ลุ่มน้ำ

 

ยกต่อไปก็คือการจัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช) ทั้งหมดเหมือนบันไดสามขั้นว่าการเข้าสู่ กนช. ต้องมีกระบวนการดังกล่าว สมัยก่อน(ยุคกรมทรัพยากรน้ำ) บันไดขั้นแรกมาจากคณะกรรมการลุ่มน้ำสาขา ขั้นสองคือคณะกรรมการลุ่มน้ำหลัก(ของเราก็คือลุ่มน้ำขายฝั่งทะเลตะวันออก)แล้วไปสู่ กนช.กระบวนการนี้เป็นกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของชาติ

“ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าเป็นเรื่องที่ควรต้องสร้างความเข้าใจให้ถ่องแท้ก่อนจะมีการจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำด้วยคำถามง่ายๆว่า

 

 1. จดไปทำไม จดแล้วมีน้ำให้ใช้ตลอดไหม 2. ไม่จดได้ไหม ผิดกฎหมายไหม

3. จดที่ไหน เมื่อไร ต้องทำอย่างไรบ้าง

4. ถ้ารวมตัวผู้ใช้น้ำในละแวกบ้านผมไม่ถึง 30 ราย จดได้ไหม ส่วนที่ยังขาดเอาไว้รอพวกที่จะใช้น้ำเพิ่มมาร่วม เหล่านี้ เป็นต้น

 

สรุปอัตราเก็บค่าน้ำ

 

แต่ในกฎหมายน้ำมีบทเฉพาะกาลที่กำหนดระยะเวลาให้หน่วยงานต่างๆปฏิบัติระบุไว้ชัดเจนภายในสองปีนับแต่วันประกาศใช้ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ 2561 จะเห็นว่าระยะนี้ สทนช.ซึ่งเป็นองค์กรกลางเรื่องน้ำและเป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้จะมีการประชาสัมพันธ์เป็นระยะว่าจะทำอย่างไร

 

“สทนช.เองก็มีข้อจำกัดมาก ที่สำคัญ งานบุคลากร และที่สำคัญ การกลัดกระดุมเม็ดแรกขององค์กรนี้แม้แต่คณะกรรมการลุ่มน้ำหลัก ขณะนี้ถือเป็นสุญญากาศ (ไม่มี) ที่พูดคุยกันนี้เป็นกลุ่มไลน์ที่เป็นคณะชุดเก่า ที่หลงเหลือคุยกันอยู่ไม่กี่คนเท่านั้น รอชุดใหม่”

 

“ผมคิดว่า เพื่อให้กระบวนการการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำ ของ สทนช.สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี คณะกรรมการลุ่มน้ำสาขาน่าจะมีส่วนช่วยสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้โครงสร้างและการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ”

ผศ.ดร.เจริญ กล่าวว่า ผมในฐานะประธานคณะทำงานและคณะได้พูดคุยกันว่าจะร่วมพลังกันช่วยให้การจัดการน้ำในแม่น้ำวังโตนดมีความเป็นเอกภาพสามารถทำงานอย่างเป็นหนึ่งเดียว ไม่ว่าจะเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สามารถร่วมมือร่วมใจ ลดปัญหาความขัดแย้งในลุ่มน้ำ ให้ได้

 

เราเริ่มให้ความรู้ เชิญชวนและพร้อมจะลงทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำ ทั้งลุ่มน้ำโดยเฉพาะพาดพิงถึงระบบ Digital ที่จะนำมาใช้ประกอบการเรียกชื่อองค์กรผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำวังโตนด

 

บุษบงก์ ชาวกัญหา

 

ขณะที่ นางบุษบงก์ ชาวกัญหา คณะกรรมการลุ่มน้ำปราจีนบุรี  กล่าวว่า การแบ่งกลุ่ม ระหว่าง “เกษตรกเพื่อยังชีพ” กับ “เกษตรกรพาณิชย์/อุตสาหกรรม” ซึ่งมีการจัดแบ่งโดยการถือครองที่ดินนั้น กำหนดเกษตรกรที่ถือครองที่ดิน เกิน 63 ไร่ ต้องเสียค่าน้ำ มีความคิดเห็นว่า มากเกินไปด้วยซ้ำไป อย่างตัวเองก็ถือครองที่ดิน แค่ 10 ไร่ แล้วต้องขุดหาแหล่งน้ำเอง อยู่นอกเขตชลประทาน ทำบ่อบาดาลเอง ก็ต้องไปขอจากทรัพยากรน้ำบาดาล แต่ยังไม่ถูกเก็บค่าน้ำ เพราะจัดเป็นเกษตร อัตราสูบน้ำน้อย แต่ค่าลงทุน การขุดบ่อเสียเงินเป็นแสน เสี่ยงต่อการถูกปิดบ่อเมื่อไรก็ได้

 

ขณะที่เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ชลประทาน ลักษณะเช่าที่เยอะมาก ได้เงินชดเชยทั้งค่าเกี่ยว ค่าลงทุน ไม่ยุติธรรม มากเกินไปสำหรับโลกสมัยใหม่ มองดูว่าอยากให้จัดประเภทของเกษตร  เป็นเกษตรประเภทไหน จะใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งอย่างเดียว หรือเกณฑ์การถือครองที่ดินเพียงอย่างเดียว มองว่า ล้าหลัง มากกว่า และไม่ได้เก็บค่าน้ำ ปัญหาจะซ้อนปัญหามากกว่า

 

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

 

ด้าน รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เก็บค่าน้ำ แล้วจะนำเงินไปไหน นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด สิทธิในการใช้น้ำ เราต้องกำหนดสิทธิ คนมีสิทธิ์ใช้น้ำ แล้วต้องกำหนดสิทธิในการใช้น้ำชัดเจน

ยกตัวอย่าง การถือครองที่ดิน 63 ไร่  ไม่มีเกณฑ่ แล้วถ้ารายเล็กใช้น้ำเกิน จะทำอย่างไร เพราะการใช้น้ำไม่ว่ารายเล็กหรือรายใหญ่ จะได้สิทธิเท่าไรขั้นต่ำ แล้วต้องจัดสรรสิทธิให้กับผู้ใช้น้ำทุกฝ่าย ไม่ใช่เกษตรกร เพียงฝ่ายเดียว จะต้องมีกลุ่มอื่นด้วยๆ อาทิ  ผู้บริโภคน้ำประปา ไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน “น้ำคือชีวิต”

 

เมื่อแต่ละภาคส่วนได้รับจัดสรรน้ำไปแล้ว  เมื่อมีน้ำเพียงพอ ก็สามารถที่จะขายโควตาในส่วนนั้นๆ ได้ แต่ต้องแบ่งสิทธิก่อน แล้วไม่ใช่ทำทุกลุ่มน้ำ ทำเฉพาะลุ่มน้ำที่ขาดแคลน ที่มีปัญหา 2 ลุ่มน้ำ ก็คือ "ลุ่มน้ำเจ้าพระยา" กับ "ลุ่มน้ำภาคตะวันออก" ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแย่งน้ำ แล้วไปจัดสรร 63 ไร่ ทั่วประเทศ ไม่มีเกณฑ์

 

ยกตัวอย่าง หากเกษตรกรมีที่ดินถือครอง 100 ไร่  ก็กระจายการถือครอง 2 ราย ไม่ต่างจาก “โครงการประกันรายได้ข้าว” ใน โครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งมี จำนวนครัวเรือนมากกว่าความเป็นจริง เพราะได้นำชื่อลูกหลานมาใส่ ที่ไม่ได้อยู่ในภาคเกษตรมาจดทะเบียน แล้วถูกต้องด้วย มีตัวตนด้วย  จะเกิดซ้ำรอย และที่สำคัญ ห้ามได้หรือไม่ หากใช้น้ำเกิน ก็ห้ามไม่ได้ นี่คือ เรื่องใหญ่

 

อนึ่ง  “เกษตรกรเพื่อยังชีพ” กับ “เกษตรกรพาณิชย์/อุตสาหกรรม” ซึ่งมีการจัดแบ่งโดยการถือครองที่ดินนั้น กำหนดเกษตรกรที่ถือครองที่ดิน เกิน 63 ไร่ ต้องเสียค่าน้ำ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล ยังไม่ได้บังคับใช้ 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดีเดย์1 เม.ย.ขึ้นทะเบียน”องค์กรผู้ใช้น้ำ” ดึงคนพื้นที่ร่วมแก้ปัญหา

จ่อชง กนช.เก็บค่าน้ำสาธารณะทั่วไทย

ยันไม่เก็บค่าน้ำเกษตรกรรายย่อย

TDRIเผยรัฐขาดดุลค่าน้ำปีละ 8 พัน-1.2 หมื่นล้าน