“ฝนมาเร็ว-มามาก” แต่ไม่ท่วมซ้ำรอย ปี54

18 ก.พ. 2564 | 08:35 น.

ผงะ "ไทย" ติด 1 ใน 5 ใช้น้ำสูงสุดอันดับโลก  “สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ” คาดการณ์ ฤดูฝนปี64 “มาเร็ว-มามาก”คล้ายปี39 แต่ไม่หนักเท่ามหาอุทกภัยปี54

ดร.สุทัศน์ วีสกุล

 

ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) เผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งประเทศไทย ปี 2564 ปริมาณฝนสะสมประเทศไทยในปี 2563 มีน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 4 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ฝนน้อยกว่าปกติ 2 ปีติดต่อกัน (ปี 2562-2563) โดยเฉพาะภาคเหนือที่ฝนน้อยกว่าปกติถึงร้อยละ 17 ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ มีน้อย โดยเฉพาะปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ในวันเริ่มต้นฤดูแล้ง 1 พฤศจิกายน 2563 มีปริมาณน้ำใช้การเพียง 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

ขณะที่ความต้องการน้ำในช่วงฤดูแล้งถึงช่วงต้นฤดูฝนที่จะต้องเตรียมไว้ประมาณ 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้ต้องงดการส่งน้ำทำนาปรังในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยจะใช้น้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก ประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และต้องดึงน้ำมาจากลุ่มน้ำแม่กลองประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร มาเพื่อผลักดันน้ำเค็ม

 

ปัจจุบัน มีปริมาณน้ำใช้การใน 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมเพียง 3,884 ล้านลูกบาศก์เมตร (17 กุมภาพันธ์ 2564) ทำให้ฤดูแล้งปี 2563/2564 มีน้ำไม่เพียงพอต่อ “การสนับสนุนการเกษตร” ซึ่งภาครัฐได้ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร งดทำนาปรัง เนื่องจากจำเป็นต้องเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับ “การอุปโภค-บริโภค” และ “รักษาระบบนิเวศ” ประมาณ 3,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งตอนนี้ระบายน้ำตามแผนมาแล้ว 2,524 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังต้องระบายน้ำมาอีกกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง 976 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

 แต่ปัจจุบันเกษตรกรกลับทำนาปรังไปแล้วมากกว่า 2.8 ล้านไร่ ทำให้เกษตรกรสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและตามคลองชลประทาน จนน้ำเพื่อใช้ผลิตน้ำประปาหลายแห่งมีไม่เพียงพอ และเริ่มมีข่าวการแย่งน้ำกันเกิดขึ้นแล้ว ปริมาณน้ำที่ระบายจากเขื่อนในฤดูแล้งปี 2564 นี้ อาจเกิดการสูบน้ำออกไปจากระบบเพิ่มมากขึ้น การประปาหลายแห่งที่ใช้น้ำจากคลองชลประทานอาจเกิดปัญหาขาดน้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา สถานการณ์ความเค็มเริ่มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาสูงมากขึ้น โดยมีค่าความเค็มสูงมากจนสูงที่สุดเท่าที่มีการตรวจวัดมา ในรอบ 10 ปี บริเวณสถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานี (ปากคลองประปา) ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำคัญของการประปานครหลวงที่ผลิตน้ำให้กับกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกทั้งหมด

ค่าความเค็ม เค็มที่สุดในรอบ 10 ปี

โดยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2564 เวลา 20.40 น. มีค่าความเค็มสูงถึง 2.53 กรัมต่อลิตร ซึ่งนอกจากค่าความเค็มจะเกินมาตรฐานในการผลิตน้ำประปาที่จะต้องมีค่าไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตรแล้ว ยังมีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐานน้ำใช้เพื่อการเกษตร 2.0 กรัมต่อลิตรด้วย แม้ในปัจจุบันความเค็มจะมีค่าลดต่ำลง แต่ก็ยังมีค่าความเค็มสูงอย่างต่อเนื่อง

 

ทั้งนี้ ความเค็มที่รุกตัวสูงมีสาเหตุหลักมาจากปริมาณน้ำจืดในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อย และการเกิดสภาวะน้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติ โดยมีอิทธิพลของลมใต้ที่เริ่มพัดปกคลุมทะเลอ่าวไทยตอนบน ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2564 ส่งผลให้น้ำทะเลเกิดการยกตัวของระดับน้ำทะเลพัดเข้าสู่อ่าวไทยตอนบน ระดับน้ำที่ตรวจวัดได้จริงบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาจึงสูงกว่าระดับน้ำขึ้นน้ำลงจากอิทธิพลของดวงจันทร์ โดยสูงกว่าประมาณ 50-60 เซนติเมตร

 

การยกตัวของระดับน้ำทะเลนี้จะเสริมให้น้ำเค็มรุกตัวเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น ความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นการประปานครหลวงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำน้ำเข้าสู่คลองประปาฝั่งตะวันออกและนำเข้าสู่ระบบผลิตน้ำประปา กระบวนการผลิตน้ำประปาไม่สามารถกรองค่าความเค็มที่ละลายในน้ำออกได้ ทำให้ต้องมีการเตือนถึงผู้ป่วยโรคไต โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงที่จะต้องระวังการนำน้ำประปาไปใช้ในการอุปโภคบริโภค

 

นอกจากค่าความเค็มจะกระทบต่อน้ำประปาของคนกรุงเทพและปริมณฑลแล้ว พื้นที่ผลผลิตทางการเกษตรยังได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะสวนทุเรียน จังหวัดนนทบุรี ไปจนถึงพื้นที่การเกษตรของคุ้งบางกะเจ้า มีค่าสูงถึง 7-20 กรัมต่อลิตร น้ำเค็มได้เข้าสู่คลองสาขาของจังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก และสมุทรปราการ ทำให้ต้นไม้และพืชผลทางการเกษตรเริ่มได้รับความเสียหายจำนวนมาก

 

ในปีที่ผ่านๆ มา เราได้ใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง ที่มีเขื่อนวชิราลงกรณและเขื่อนศรีนครินทร์เป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำคัญ มาช่วยใช้ในการผลักดันน้ำเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในปีนี้น้ำในเขื่อนทั้งสองกลับมีน้ำน้อยมาก ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณน้ำใช้การประมาณ 3,662 ล้านลูกบาศก์เมตร (17 กุมภาพันธ์ 2564) มีน้ำเพียงพอสำหรับใช้ในลุ่มน้ำแม่กลองเท่านั้น โดยอาจมีน้ำเหลือพอที่จะผันมาช่วยฝั่งเจ้าพระยาได้เพียง 350 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เพียงพอต่อการผลักดันน้ำเค็มอย่างเช่นปีที่แล้ว ที่ผันน้ำจากแม่กลองมาช่วยถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

 

ในขณะนี้ภาครัฐกำลังเร่งหาทางแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะกรมชลประทาน ที่กำลังเพิ่มการระบายน้ำมากระแทกลิ่มความเค็มเพื่อช่วยลดความเค็มที่รุกตัวเข้ามา แต่การระบายน้ำลงมากลับยังคงมีการสูบน้ำออกจากแม่น้ำไป ทำให้น้ำมาได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งต้องเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรและผู้ใช้น้ำตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาลงมา รวมทั้งต้องวางแผนการใช้น้ำอย่างรอบคอบให้ผ่านเดือนมีนาคมนี้ไปให้ได้

 

เพราะคาดว่าเดือนเมษายนปีนี้ ฝนจะมาเร็วและเริ่มตกมากขึ้น จากการวิเคราะห์อุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก (ONI หรือ ENSO) มหาสมุทรแปซิฟิกตอนเหนือ (PDO) และมหาสมุทรอินเดีย (DMI) ซึ่งเป็นทะเลที่ส่งผลต่อสภาพอากาศและฝนในประเทศไทย

 

ปีนี้ฝนจะมาเร็วขึ้น

ล่าสุดนั้น สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ฝน ปี 2564 จะคล้ายคลึงกับ ปี 2539 ซึ่งคาดว่าเดือนเมษายนนี้จะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติ ซึ่งอาจเกิดพายุฤดูร้อนได้บ่อยครั้ง แล้วไปตกหนักที่สุด ก็ประมาณเดือนกันยายน จะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มคลี่คลายลง  ดังนั้นหลักสำคัญในตอนนี้คือ เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาต้องเข้าใจสถานการณ์น้ำที่อยู่ในขั้นวิกฤตนี้ และไม่สูบน้ำไปจากแม่น้ำลำคลองเพราะจะทำให้น้ำที่ใช้อุปโภค-บริโภค เกิดปัญหากับประชาชนต่อน้ำกินน้ำใช้ได้ ส่วนประชาชนทุกภาคส่วนก็ต้องใช้น้ำอย่างประหยัดอย่างจริงจัง

 

การเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อประมาณฝนของประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยได้ทำให้เกิดฝนตกน้อยกว่าปกติติดต่อกัน 2-3 ปี ต่อเนื่องขึ้นบ่อยครั้ง รวมถึงการกระจายตัวในเชิงพื้นที่ที่เปลี่ยนไปทำให้ฝนตกในพื้นที่ท้ายเขื่อนมากกว่าพื้นที่เหนือเขื่อนโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีฝนตกอยู่ในพื้นที่รับน้ำของเขื่อนเพียง 36% แต่กลับตกนอกพื้นที่รับน้ำของเขื่อนมากถึง 64% ส่งผลให้น้ำไหลลงเขื่อนมีน้อยลง ซึ่งในภาพรวมทั้งประเทศไทย มีน้ำไหลลงเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางเพียง 42,620 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี (น้อยกว่าความจุของน้ำใช้การที่มีความจุรวม 52,165 ล้าน ลบ.ม.)

 

ในขณะที่ประเทศไทยกลับมีความต้องการน้ำมากขึ้นถึง 153,578 ล้านต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก 25% ในอีก 20 ปีข้างหน้า ดังนั้นการจะพึ่งพาน้ำในเขื่อนเพียงอย่างเดียวคงจะทำให้รอดพ้นภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นไปได้ยาก ต้องหันมาเก็บกักและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตัวเอง ใช้น้ำหมุนเวียน และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชหลากหลาย ลดพืชเชิงเดี่ยว เพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำ และมั่นคงทางด้านผลผลิตอย่างยั่งยืน

ดร.รอยล จิตรดอน

 

ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ คาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์ฝน ปี 2564 จะคล้ายคลึงกับ ปี 2539 ในขณะนั้นมีพายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 4 ลูก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 ลูกคือ พายุวิลลี (Willie) และดีเปรสชัน 35W  ภาคใต้ 2 ลูก คือ ดีเปรสชัน 34W และ37W แต่ก็ไม่ได้หนักเหมือนมหาอุทกภัยปี54

 

“ไทยมีร่องรอยการใช้น้ำต่อหัวสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยภาคการเกษตรใช้น้ามากที่สุด ทั้งโดยตรงและตลอดห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตร และหลายปีที่ผ่านมาเรามักจะใช้น้ำสูงกว่าแผน อีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 25% แล้วจะบริหารจัดการอย่างไร ทั้งการจัดหา จัดสรร และจัดการน้ำเสียที่จะเพิ่มขึ้น? นี่คือเป็นความท้าทาย รัฐและ ประชาชน

 

ดร.รอยล  กล่าวว่า จากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถในการแก้ไขปัญหา โดยทรงมองปัญหาในภาพรวมก่อน แล้วค่อยแก้ปัญหาจากจุดเล็กๆ คือการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ให้ตรงสาเหตุ ซึ่งเป็นที่มาของแนวพระราชดำริการบริหารจัดการน้ำชุมชนโดยให้ชุมชนเป็นเจ้าของ บริหารจัดการ ดำเนินงานตามทฤษฎีใหม่ มีกองทุนบำรุงรักษาและขยายผล ที่สำคัญคือมีการถ่ายทอดความสำเร็จสู่ชุมชนอื่นให้เกิดเป็นเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนได้ในที่สุด

 

เพื่อสนองแนวพระราชดำริดังกล่าว สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ตามแนวพระราชดำริเพื่อสนับสนุนให้ชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศมีการจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพและประสานความร่วมมือเป็นเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับชุมชน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถึง ปี พ.ศ. 2562 จาก 60 ชุมชนแกนนำ ขยายผลสู่ 1,773 หมู่บ้าน และเครือข่ายเยาวชน 334 กลุ่ม เกิดตัวอย่างความสำเร็จเป็น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดาริ 24 แห่ง ดำเนินงานใน 18 ลุ่มน้ำ 68 จังหวัด

 

เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ในหลวง รัชกาลที่9

 

โดยมีวัตถุประสงค์ เรียนรู้ สร้างความเข้าใจ สำรวจ จัดทาข้อมูล แผนที่น้ำ ผังน้ำ เข้าถึงความรู้ การวางแผนงานบริหารจัดการน้ำ ไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง วนเกษตร และ ทฤษฎีใหม่ และพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ เชื่อมระบบการทำงานเป็นเครือข่าย นี่คือ ทางรอดที่จะทำให้ไทยพ้นวิกฤติน้ำขาดแคลนในอนาคต