ความพร้อมประเทศไทย กับแนวทางรับมือ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร”

09 มิ.ย. 2566 | 01:29 น.

เช็คความพร้อมประเทศไทย กับแนวทางการรับมือ “ความไม่มั่นคงทางอาหาร” หลังทั่วโลกยังเผชิญปัญหาการขาดแคลนอาหารที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ดูรายละเอียดการเตรียมตัวรองรับวิกฤตที่เกิดขึ้นต้องทำยังไง

ปัจจุบัน ประเทศไทย กำลังให้ความสำคัญกับ "ความมั่นคงทางอาหาร" ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน ขององค์การสหประชาชาติ โดยมีนโยบายและมาตรการที่เกี่ยวข้องคือ แผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (ปี 2562 - 2565) รวมถึงมีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (ปี 2566 - 2570) 

มุ่งสู่วิสัยทัศน์ที่ว่า “ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการ เป็นแหล่งอาหารที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ เพื่อชาวไทยและชาวโลกอย่างยั่งยืน” 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ภาพประกอบข่าว ความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศไทย

ต้องพัฒนาสร้างความมั่นคงทั้งระบบ

การสร้างความมั่นคงทางอาหารจำเป็นต้องมีการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานของระบบอาหารที่ครอบคลุมเรื่องปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิต การบริโภคอาหาร และการกระจายอาหาร อีกทั้งประเด็นเกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านอาหารยังปรากฏอยู่ใน (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 

โดยมีประเด็นที่ให้ความสำคัญ ทั้ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบบริหารจัดการ เพื่อคุณภาพความมั่นคงอาหาร และ ความยั่งยืนของภาคเกษตร การส่งเสริมให้ชุมชนสามารถเข้าถึงความมั่นคงอาหาร ทั้งด้านปริมาณ และ โภชนาการครบถ้วน 

รวมถึงการมีระบบสำรองอาหารให้มีรูปแบบที่หลากหลาย ปลอดภัย เพียงพอ และ การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบด้านการสำรองอาหารของชุมชน และการบริหารจัดการการกระจายสินค้า เกษตรและอาหารในภาวะวิกฤต 

 

สถานการณ์ความทั่นคงทางด้านอาหารของไทย สศช.

ภายใต้นโยบายดังกล่าวยังมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ สามารถสรุปได้ดังนี้

พัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอาหาร 

การพัฒนาประสิทธิภาพของการผลิตอาหาร ด้วยการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การผลิตตลอดห่วงโซ่อาหาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอาหาร ทั้งในระดับชุมชนและระดับเชิงพาณิชย์ ที่เน้นการปรับปรุงพันธุ์กรรมพืช สัตว์ ประมง การทำเกษตรที่แม่นยำ เพื่อตอบสนองต่อการจัดการทรัพยากร ที่มีอยู่อย่างจำกัดและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

โดยดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อมุ่งสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย ลดการสูญเสีย และสามารถตรวจสอบได้

สร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร

สิ่งหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ การสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหารให้เป็นมาตรฐานเดียวและให้มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยทางอาหาร โดยปรับปรุงและพัฒนามาตรฐานอาหารของไทยให้สอดคลองกับมาตรฐานสากลและครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อาหาร 

รวมทั้งสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมในการผลิตสินค้าเกษตรขั้นต้นไปจนถึงการแปรรูป ให้มีคุณภาพปลอดภัยตามมาตรฐาน ควบคู่กับการสร้างความรู้และตระหนักให้กับประชาชนในการคัดเลือกและบริโภคอาหารที่มีคุณค่าและปลอดภัย

 

ความถี่ในการบริโภคอาหารแต่ละกลุ่มต่อสัปดาห์ของคนไทย

 

ปรับปรุงและพัฒนาระบบโลจิสติกส์

โดยเฉพาะการปรับปรุงและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านสินค้าเกษตรและอาหาร เพื่อรองรับสถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต โดยสนับสนุนการผลิต การตลาด และกระจายอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ รักษาคุณภาพและความปลอดภัยอาหารให้มีปริมาณเพียงพอรองรับการเกิดภาวะวิกฤตได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม 

รวมทั้งเร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการรวบรวมและการกระจายสินค้าเกษตรและอาหารให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาการขนส่ง การเชื่อมโยงอุปสงค์และอุปทาน เพื่อการวางแผนการผลิตให้ตรงกับความต้องการของผู้ซื้อทั้งระดับชุมชน ระดับชาติ และนานาชาติ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบการตลาดชุมชนที่มีประสิทธิภาพ และเชื่อมโยงกับตลาดชุมชนอื่น เพื่อยกระดับการค้าด้านอาหารและการท่องเที่ยวชุมชน

สร้างระบบการบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารในภาวะวิกฤต 

เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงและภัยคุกคามต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดแนวทางและกลไกในการดำเนินงานที่ชัดเจน มีการวางแผนป้องกันการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารและอาหารสัตว์ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าสูงอย่างเหมาะสม 

โดยเฉพาะการส่งเสริมการทดแทนการนำเข้า การกระจายแหล่งนำเข้า การหาสินค้าทางเลือกทดแทน การวางแผนปรับตัวด้านการผลิตและการค้าให้เกิดความสมดุล การสำรองอาหาร ตลอดจนสร้างและขยายความร่วมมือเครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้ประโยชน์ยามขาดแคลนในภาวะวิกฤต เช่น สำรองข้าวในภูมิภาคอาเซียน

 

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกซื้ออาหารของคนไทย

ส่งเสริมความมั่นคงด้านอาหารระดับครัวเรือนและชุมชน 

โดยการส่งเสริมระบบเกษตรและอาหารที่ยืดหยุ่น เพื่อบริโภคในครัวเรือน ภายใต้แนวคิด “ชุมชนต้องตื่นรู้พึ่งตนเองได้ มีกลไกการบริหารจัดการ ร่วมสร้างระบบการผลิตที่ปลอดภัย” ที่จะช่วยลดการพึ่งพาและค่าใช้จ่ายให้กับครัวเรือนที่ยากจน รวมทั้งสามารถรองรับยามเกิดสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ทำให้คนในชุมชนได้รับอาหารที่เพียงพอ และยังอาจกลายเป็นแหล่งรายได้ควบคู่กับการมีความมั่นคงด้านอาหารอีกด้วย

 

แนวทางการรับมือความไม่มั่นคงทางด้านอาหารของประเทศไทย

 

ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ