ทิศทางสถานการณ์ข้าวไทย 2566 ความท้าทายความมั่นคงด้านอาหาร

01 พ.ค. 2566 | 01:08 น.

ทิศทางสถานการณ์ข้าวไทย ปี 2566 บนความท้าทายการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เช็คข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งผลผลิต การส่งออก ทั้งการปลูกข้าวนาปี และข้าวนาปรัง รวมไว้ที่นี่

ข้าว” ถือเป็นพืชสำคัญของประเทศไทย และเป็นหนึ่งในพืชเกษตรที่ใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาอย่างยาวนวน ทั้งการส่งออก และบริโภคภายในประเทศ ซึ่งปัจจุบันการผลิต “ข้าวไทย” มีวิวัฒนาการไปอย่างมาก ทั้งรูปแบบการปลูก การดูแล เก็บเกี่ยว และการพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

สำหรับการปลูกข้าวในแต่ละปี มีทั้งการปลูกข้าวนาปี และปลูกข้าวนาปรัง โดยสถานการณ์ข้าวล่าสุด มีข้อมูลที่น่าสนใจของ สำนักเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเสนอข้อมูลของภาวะเศรษฐกิจการเกษตร ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566 รายงานสถานการณ์ข้าวไทย และข้าวโลก เอาไว้ดังนี้

ภาพรวมการผลิตของของโลก

ล่าสุด กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) ออกมาประเมินผลผลิตข้าวโลก ปีการผลิต 2565/66 ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่า ผลผลิตข้าวทั้งโลก มีผลผลิตทั้งสิ้น 502.976 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจาก 514.796 ล้านตัน ในปี 2564/65 หรือลดลง 2.30%

ขณะที่การส่งออก สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2566 ไว้ที่ 7.5 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่ส่งออกได้ 7.7 ล้านตัน แต่ภายหลังมองว่ามีโอกาสที่การส่งออกข้าวไทยปี 2566 จะทำได้ถึง 8.5 ล้านตัน สูงกว่าประมาณการ เพราะตามตัวเลขกระทรวงเกษตรสหรัฐล่าสุด ประเมินว่าไทยจะส่งออกได้ถึง 8.2 ล้านตัน

 

สถานการณ์ข้าว 2566 ผลผลิตข้าวโลก

สถานการณ์ข้าวไทย 2566

สถานการณ์ข้าวในประเทศไทยในนั้น ในด้านการผลิต ทั้งข้าวนาปี ปี 2565/66 และนาปรัง ปี 2566 มีข้อมูลสรุปได้ดังนี้

ข้าวนาปี ปี 2565/66

ข้อมูล ณ เดือนมกราคม 2566 มีเนื้อที่เพาะปลูก 62.917 ล้านไร่ ผลผลิต 26.703 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 424 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีการผลิต 2564/65 ที่มีพื้นที่ 63,013 ล้านไร่ ผลผลิต 26.807 ล้านตันข้าวเปลือก และผลผลิตต่อไร่ 425 กิโลกรัม

เนื้อที่เพาะปลูก : สำหรับเนื้อที่เพาะปลูกที่ลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตทางภาคตะวันออก เฉียงเหนือ และภาคใต้ลดเนื้อที่เพาะปลูกลง บางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า เช่น อ้อยโรงงาน ทำการเกษตร แบบผสมผสาน บางแหล่งปลูกพืชอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่า และดูแลง่ายกว่า เช่น มันสำปะหลัง แม้แหล่งผลิตทางภาคเหนือ และภาคกลาง 

ทั้งนี้เนื้อที่เพาะปลูกจะเพิ่มขึ้นในที่นาที่ปล่อยว่างเมื่อปีที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นไม่มาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาปุ๋ย สารเคมี และ น้ำมันเชื้อเพลิง จึงส่งผลให้ภาพรวมเนื้อที่เพาะปลูกลดลง

 

ภาพประกอบ ทิศทางสถานการณ์ข้าวไทย ปี 2566 บนความท้าทายการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

ผลผลิตต่อไร่ : คาดว่า จะปรับลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประสบอุทกภัยในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน - ตุลาคม 2565 ซึ่งข้าวอยู่ในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว มีน้ำท่วมขังนาน ทำให้ต้นข้าวล้มและเน่า ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 

ประกอบกับเกษตรกรบางส่วนลดการดูแลรักษา เพราะราคาปัจจัยการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตลดลงจากปีที่ผ่านมา แต่ลดลงไม่มากเนื่องจาก ในปี 2565 แหล่งผลิตในภาคเหนือ และภาคกลาง ปลูกข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง เกษตรกรมีการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยโดยเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้เร็วขึ้น ทำให้ความเสียหายน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

ผลผลิตออกสู่ตลาด : คาดการณ์ผลผลิตจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 - พฤษภาคม 2566 โดยคาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในเดือนพฤศจิกายน 2565 ปริมาณ 17.342 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 64.95% ของผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมด

 

ภาพประกอบ ทิศทางสถานการณ์ข้าวไทย ปี 2566 บนความท้าทายการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร

 

ข้าวนาปรัง ปี 2566

คาดการณ์ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.366 ล้านไร่ ผลผลิต 7,382 ล้านตันข้าวเปลือก และ ผลผลิตต่อไร่ 650 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 9.547 ล้านไร่ ผลผลิต 6.171 ล้านตันข้าวเปลือก ผลผลิตต่อไร่ 646 กิโลกรัม 

เนื้อที่เพาะปลูก : มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่า จะมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2564 และปี 2565 โดยเกษตรกรปลูกในพื้นที่นาปรังที่เคยปล่อยว่าง

ผลผลิตต่อไร่ : คาดว่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกและการเจริญเติบโตของต้นข้าว

ผลผลิตออกสู่ตลาด : คาดการณ์ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - ตุลาคม 2566 โดยคาดว่าผลผลิตจะออก สู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน 2566 ปริมาณรวม 4.218 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ 57.13% ของผลผลิตข้าวนาปรังทั้งหมด