เงื่อนไขพักโทษ "ทักษิณ” พักบ้านจันทร์ส่องหล้า ห้ามออกจากพื้นที่ ผิดเข้าคุก

18 ก.พ. 2567 | 00:11 น.

เปิดรายละเอียดเงื่อนไขพักโทษ "ทักษิณ” ระเบียบกระทรวงยุติธรรมกำหนดกฎเหล็ก 8 ข้อ ต้องพักอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า และห้ามออกจากพื้นที่ หากทำผิดถูกจับเข้าคุก

ภายหลังจาก “นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี” ได้รับการพักโทษ โดยเดินทางออกโรงพยาบาลตำรวจมาในช่วงเช้ามืดวันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2567) “อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร” ลูกสาวเดินทางไปรับ โดยทั้งคู่อยู่ในรถตู้ Mercedes-Benz สีดำ ทะเบียน ภษ 1414 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเดินทางถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า ซอยจรัญสนิทวงศ์ 69 เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ในเวลา 6.33 น. 

สำหรับการพักโทษทักษิณ ครั้งนี้ ถือเป็นผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ 1 ใน 930 คนที่ได้รับการพักโทษ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567 เนื่องจากเข้าเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งคณะกรรมการพักโทษได้พิจารณาเห็นชอบตามที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์เสนอมา เนื่องจากเกณฑ์ของนายทักษิณ เจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรืออายุ 70 ปีขึ้นไป 

 

นายทักษิณ ชินวัตร นั่งอยู่ในรถตู้ Mercedes-Benz สีดำ ทะเบียน ภษ 1414 กรุงเทพมหานคร เดินทางถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า

ทั้งนี้การพักโทษทักษิณ โดยอดีตรองนายกฯ เมื่อได้เดินทางกลับมาพักยังบ้านจันทร์ส่องหล้าแล้ว ต่อไปก็ใช่ว่าจะออกไปไหนได้ง่าย ๆ เพราะมีระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุมความประพฤติ พ.ศ.2560 คุมอยู่ โดยผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อ หากประพฤติผิดเงื่อนไขจะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำตามเดิม และจะถูกลงโทษทางวินัย

สำหรับเงื่อนไข 8 ข้อ ตามระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการคุมความประพฤติ พ.ศ.2560 มีดังนี้

  1. จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ
  2. ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต
  3. ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก
  4. ประกอบอาชีพโดยสุจริต
  5. ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา
  6. ห้ามพกพาอาวุธ
  7. ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ
  8. ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครอง หรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน

 

ทั้งนี้ยังกำหนดให้ดำเนินการสอดส่องยังที่พักอาศัยหรือสถานที่ทำงาน หรือสถานที่อื่นใด เพื่อเยี่ยมเยียน ติดตาม ดูแล ให้ผู้ถูกคุมความประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไขและสามารถแก้ไขปรับปรุงตนเองได้ 

รวมทั้งในกรณีที่ผู้ถูกคุมความประพฤติไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด หรือพฤติการณ์ที่เกี่ยวกับการคุมความประพฤติของผู้ถูกคุมความประพฤติเปลี่ยนแปลงไป ให้ดำเนินการตรวจสอบถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และให้จัดทำรายงานและความเห็นต่อคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์โดยเร็ว