หอการค้าระนองเฮ แผนโลจิสติกส์แลนด์บริดจ์หลากโหมดคืบหน้า

16 ก.พ. 2565 | 09:16 น.

เอกชนระนองรอคอยด้วยความหวัง การจัดทำแผนโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงฐานการผลิตEEC กับประตูการค้า SEC  จังหวัดระนอง ที่คืบหน้าเป็นลำดับ เผยเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะพลิกโฉมหน้าพื้นที่ภาคใต้

นายพรศักดิ์  แก้วถาวร  ประธานหอการค้าจังหวัดระนอง  กล่าวว่า จากกรณีที่สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้จัดทำโครงการศึกษาการจัดทำแผนโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่เขตนิคมภาคตะวันออก (EEC) กับประตูการค้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ (SEC) จังหวัดระนอง  

 

เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)  ผ่านประตูการค้าในฝั่งอันดามัน ในลักษณะการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ รองรับการเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าของเรือขนส่งสินค้า ระหว่างกลุ่มประเทศมหาสมุทรแปซิฟิค กับกลุ่มประเทศฝั่งมหาสมุทรอินเดีย  ในลักษณะการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจ (Land Bridge) 

หอการค้าระนองเฮ แผนโลจิสติกส์แลนด์บริดจ์หลากโหมดคืบหน้า

โดยแนวคิดการกำหนดบทบาทท่าเรือฝั่งอ่าวไทย เป็นท่าเรือชายฝั่ง (Coastal Port) เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ กับพื้นที่ฝั่งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)  

 

ท่าเรือเพื่อการส่งออกและนำเข้า (Gateway  Port)  ของพื้นที่ระเบียบเศรษฐกิจภาคใต้กับประเทศในภูมิภาค   ท่าเรือเปลี่ยนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ (Tarnsshipment Port)  ระหว่างกลุ่มประเทศฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค กับกลุ่มประเทศฝั่งมหาสมุทรอินเดีย   
  หอการค้าระนองเฮ แผนโลจิสติกส์แลนด์บริดจ์หลากโหมดคืบหน้า                      

 โดยท่าเรือเปลี่ยนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ (Tarnsshipment Port)  มีขนาดร่องน้ำลึก 15-16 ม.  และรองรับเรือขนาด 5,000-7,000 ตู้  ท่าเรือเพื่อการส่งออกและนำเข้า (Gateway Port)  ขนาดร่องน้ำลึก 8-9 ม. และรองรับเรือขนาด 1,000-1,200 ตู้  ท่าเรือชายฝั่ง  (Coastal Port)  มีขนาดร่องน้ำลึก 5-6 ม. และรองรับเรือขนาด 200-300 ตู้

 

การกำหนดบทบาทท่าเรือฝั่งอันดามัน 1. เชื่อมโยงท่าเรือในกลุ่มประเทศ BIMSTEC โดยมีขนาดร่องน้ำลึกประมาณ 8-9 ม. รองรับเรือขนาดประมาณ 1,000-1,200 ตู้ 2.เชื่อมโยงท่าเรือในกลุ่มประเทศ กลุ่มยุโรป  แอฟริกา  และตะวันออกกลาง โดยมีขนาดร่องน้ำลึกประมาณ 15-16 ม.  รองรับเรือขนาด 5,000-7,000 ตู้

 

นายพรศักดิ์กล่าวต่อว่า แผนแนวคิดดังกล่าวถือเป็นความก้าวหน้า และคืบหน้าในการรองรับและเตรียมพร้อมต่อยอด โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง ที่ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เดือน ก.ค. 2564  เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติ ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา MMA  Consortium ทำการศึกษา สำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)  โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง

 

โดยจะศึกษาต่อยอดจากผลการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และสิ่งแวดล้อมของ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่เคยศึกษาไว้เมื่อปี 2561 เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (SEC)  

 

เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land  Bridge) และการพัฒนาโครงข่ายทางพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์)  และระบบราง (MR-MAP) ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม  ชิดชอบ รมว.คมนาคม

 

รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งต่อว่า การศึกษาจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี  คาดว่าจะเสนอรายงานอีไอเอได้ในช่วงปลายปี 2565  จากนั้นเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการในปี 2566  ตั้งเป้าเปิดประมูลปลายปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และกำหนดเปิดให้บริการในปี 2573 

 

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะปรับแก้แนวเส้นทางบางส่วน เนื่องจากแนวเส้นทางเดิม ตามผลการศึกษาของ สนข. ไม่เหมาะสมกับการใช้เป็นแนวเส้นทางที่จะพัฒนาควบคู่ไปกับมอเตอร์เวย์ เนื่องจากแนวเส้นทางเดิมอยู่ใกล้และเกือบขนานกับทางหลวงหมายเลข 4 ที่เป็นทางหลวงสายหลัก

 

และยังไม่ตอบสนองการเชื่อมโยงกับท่าเรือน้ำลึก ตามการศึกษาโครงการแลนด์บริดส์ ที่ต้องสร้างโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงการเดินทางของคนและสินค้า เข้าสู่สถานีรถไฟระนอง ต่อไปยังถนนและเชื่อมโยงไปยังท่าเรือน้ำลึกชุมพร ด่านศุลกากร  มอเตอร์เวย์สายชุมพร-ระนอง ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงท่าอากาศยานระนองและชุมพรอีกด้วย

 

แนวเส้นทางใหม่จะขยับจุดเริ่มต้นโครงการลงไปทางทิศใต้มากขึ้น โดยจะเริ่มต้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณแหลมรั่ว  จ.ชุมพร  จากเดิมที่จะเริ่มต้นด้านใต้ของสถานีรถไฟชุมพร มีจุดสิ้นสุดโครงการที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด จ.ระนอง

 

สำหรับเส้นทางรถไฟใหม่จะเป็นแนวเส้นตรงมากขึ้น ช่วยลดค่าก่อสร้าง และผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลีกเลี่ยงการเวนคืนที่ดินชุมชน มีความยาวตลอดแนวเส้นทางประมาณ 91 กม. คาดว่าใช้งบประมาณการลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท

 

โครงการดังกล่าวได้กำหนดวัตถุประสงค์ของการให้บริการขนส่งสินค้า 3 ส่วน คือ 1.เป็นเส้นทางลัดของเส้นทางเดินเรือหลัก เชื่อมระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิค เป็นทางเลือกในการถ่ายลำการขนส่งสินค้าในภูมิภาค (Transshipment Port)  และสะพานเศรษฐกิจพลังงาน (Oil  Bridge)

 

2. เป็นเส้นทางสำหรับสินค้านำเข้าและส่งออก ระหว่างไทยกับประเทศทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และ 3. เป็นเส้นทางสำหรับสินค้าที่จะมาจากทางจีนตอนใต้ รวมถึงการพัฒนาพื้นที่หลังท่า โดยเฉพาะเรื่องการประกอบชิ้นส่วน (Assembly) 

 

โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เป็นทางรถไฟสายใหม่ที่เชื่อมต่อฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ระหว่าง จ.ชุมพร และ จ.ระนอง  จุดเริ่มต้นโครงการตามแนวเส้นทางใหม่ จะเริ่มที่ชายฝั่งอ่าวไทยบริเวณแหลมรั่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร  ตัดผ่านไปทางตะวันตก ผ่านทางรถไฟสายใต้บริเวณทิศเหนือของสถานีควนหินมุ้ย

 

จากนั้นมุ่งไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านทางหลวง(ทล.)หมายเลข 4097  และตัดผ่าน ทล.41 (แยกปฐมพร-พัทลุง) และขนานไปกับแนว ทล.4006  (สายราชกรูด-หลังสวน) ผ่านพื้นที่ภูเขา และตัดกับ ทล.4006  จากนั้นมุ่งลงไปทางใต้  ขนานกับ ทล.4 (ถนนเพชรเกษม)  โดยอยู่ทางทิศตะวันออกของ ทล.4 ผ่านด้านหลังของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีระนอง

 

จากนั้นแนวเส้นทางโค้งขวามุ่งไปสู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่ป่าชายเลน ไปสิ้นสุดที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน บริเวณอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมือง จ.ระนอง  โดยเส้นทางผ่านพื้นที่ 9 ตำบล 3 อำเภอ ของ 2 จังหวัด ได้แก่ ต.บางน้ำจืด ต.นาขา ต.วังตะกอ และ ต.หาดยาย ของ อ.หลังสวน จ.ชุมพร  ต.ปังหวาน ต.พะโต๊ะ และ ต.ปากทรง ของ อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร  และ ต.ราชกรูด จ.ระนอง