ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน (NeEC)  ฐานขับเคลื่อน BCG

01 ม.ค. 2565 | 01:39 น.

เกษตรกรไทยสะพรึงจีนทดลองขนผัก-ผลไม้ด้วยรถไฟจีน-ลาว เร่งยกระดับภาคเกษตรภาคเศรษฐกิจหลักของอีสานสู่ฐานเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศ รับเป้าหมายฺ BCG ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตามแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจอีสาน(NeEC)

เปิดเดินแล้วเส้นทางรถไฟจีน-ลาวตั้งแต่ 3 ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ไม่เพียงกระแสตอบรับการจับจองทดลองนั่งอย่างล้นหลาน ทั้งในฝั่งลาวและในจีนตอนใต้ เนื่องจากยังไม่เปิดประเทศจากมาตรการคุมโควิด-19 แล้ว จีนยังทดลองส่งผัก-ผลไม้ 33 ตู้ส่งเข้าไทยแล้ว เส้นทางรถไฟสายใหม่นี้เป็นทั้งโอกาสและภัยคุกคามกับภาคเกษตรไทย

 

ขณะที่ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ไทยตั้ง เป้าเพิ่มมูลค่าการเติบโตเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy ที่ 4.4 ล้านล้านบาท (24% ของจีดีพี) ภาย ในปี 2569 และเพิ่มการจ้างงานเป็น 3.5 ล้านคนในปี 2567

ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน (NeEC)  ฐานขับเคลื่อน BCG

 2 เรื่องที่ดูไม่เกี่ยวข้อง แต่มาบรรจบกันในแดนดินถิ่นอีสาน เมื่อสำนักงาน

 

พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.หรือสภาพัฒน์) อยู่ระหว่างจัดทำกรอบแนวคิดการพัฒนา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือ Northeastern Economic Corridor: NeEC) บนฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy)
    

เศรษฐกิจชีวภาพ ภายใต้โมเดล BCG เป็นแนวคิดการใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบด้านทรัพยากรชีวภาพ เพื่อปลดล็อกการผลิต โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมรูปแบบเดิม ที่“ทำมากถึงได้มาก” ไปสู่การผลิตแบบ “ทำน้อยแต่ได้มาก”

ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน (NeEC)  ฐานขับเคลื่อน BCG

 

ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน (NeEC)  ฐานขับเคลื่อน BCG

ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาผสานกับองค์ความรู้ท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิต และยังเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดการสร้างมลภาวะ เป็นมิตรกับสิ่งแวด้อมและยั่งยืน

 

จากศักยภาพของพื้นที่ที่มีความหลากหลาย และมีความได้เปรียบของที่ตั้ง ที่เชื่อมโยงสู่อนุภูมิภาคและต่อถึงจีนตอนใต้ สามารถใช้ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดห่วงโซ่การผลิต การต่อยอดผลผลิตทางการเกษตรสู่พลังงานหมุนเวียน

 

ความพร้อมของภาคการศึกษาทั้งในส่วนกลางและในพื้นที่ ในการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้ประกอบการ และความก้าวหน้าของโครงข่ายคมนาคมขนส่งในอีสาน ที่เชื่อมกับโครงข่ายหลักของประเทศ และประเทศในภูมิภาค

 

รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่ส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานชีวภาพในปัจจุบันและแนวทางการให้สิทธิประโยชน์ในระยะต่อไป ที่จะสนับสนุนการเชื่อมโยงกิจกรรมในลักษณะคลัสเตอร์และห่วงโซ่มูลค่า
    

ศิรินัดดา ปรีชา และ วัชรพงศ์ รัชตเวชกุล นักวิจัยสำนักเศรษฐกิจภูมิภาค ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานศึกษาการยกระดับเศรษฐกิจอีสานด้วย Bio-economy ชี้ว่า หลายประเทศในยุโรปประสบความสำเร็จในการยกระดับภาคเกษตรด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ ส่งผลให้มี รายได้สูงขึ้น 

 

โดยมีกุญแจความสำเร็จ อาทิ มีเครื่องมือทางการเงินเพื่อสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพิ่มความสะดวกและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการยกระดับนวัตกรรมชีวภาพ บางประเทศมีกลไกภาษีโดยลดหย่อนแก่การผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น พลาสติกชีวภาพ หรือผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เกิน 95% รวมถึงตั้งกองทุน เพื่อร่วมทุนกับเอกชนในรูปพีพีพี

 

ขณะที่หน่ออ่อนผลิตภัณฑ์ชีวภาพในอีสานเริ่มปรากฎ อาทิ โรงงานนํ้าตาลเริ่มต่อยอดนํ้าตาลทรายดั้งเดิม สู่ผลิตภัณฑ์กลุ่ม Bio-based Chemicals สำหรับการผลิตอาหารคนและสัตว์ เช่น สารให้ความหวานที่มีแคลอรี่ตํ่า โพรไบโอติกส์ที่เป็นส่วนผสมอาหารและนม สารสกัดยีสต์จากชานอ้อย การวิจัยใช้สารนาโนซิลิกอนจากแกลบทำขั้วแบตเตอรี พัฒนาข้าวหอมมะลิเป็นเครื่องดื่มข้าวฮางงอก ข้าวปลอดกลูเตน โรงแป้งมันสำปะหลังอุบลฯส่งเสริมเกษตรกรทำมันอินทรีย์

 

อย่างไรก็ตามการลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคยังตํ่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังไม่มีแรงจูงใจลงทุน สะท้อนจากการขอรับบัตรส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ส่วนใหญ่เพื่อแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นต้น ด้านผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก มีข้อจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยี เพราะมีต้นทุนสูง และยังต้องการการสนับสนุน ด้านองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยี ขณะที่ผลิตภัณฑ์ชีวภาพก็ยังมีต้นทุนสูงกว่าสินค้าดั้งเดิม เกษตรกรและผู้ประกอบการไม่มั่นใจตลาด ว่าจะมีรองรับหรือไม่
    

ผู้วิจัยเสนอการจะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตคนอีสาน ต้องขับเคลื่อนด้วยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น รัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (พีพีพี) เพื่อสร้างความมั่นใจลดความเสี่ยงเอกชน พัฒนาเครื่องมือการเงินให้เข้าถึงแหล่งทุน สร้างนิเวศเศรษฐกิจชีวภาพ อาทิ ศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรมทุกระดับ ตลอดจนใช้มาตรการทางภาษีจูงใจ เป็นต้น
    

ต่อทิศทางการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจอีสาน (NeEC) ด้วยเศรษฐกิจชีวภาพดังกล่าว นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานหอการค้าไทย ประธานหอการค้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยว่า การฟื้นฟูเศรษฐกิจอีสานต้องยกระดับภาคเกษตรที่เป็นฐานหลัก ที่สำคัญเช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ต้องปรับเปลี่ยนการ เกษตรภาคอีสานจากวิถีเดิม ให้เป็นเกษตรรูปแบบสมัยใหม่ พัฒนาให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าสูงขึ้น สอดรับกับการเป็นประตูสู่ตลาดต่างประเทศในภูมิภาค ต้องพัฒนาสินค้าให้ตรงความต้องการตลาดใช้องค์ความรู้เกษตรใหม่เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลง

 

การพัฒนาเศรษฐกิจอีสานนั้นภาคเอกชนมองว่าไม่ได้เน้นไปที่เทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมหนัก ที่ต้องใช้เครื่องจักรหุ่นยนต์สมัยใหม่เป็นหลัก แต่เน้นภาคบริการ เช่น การบริการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตรที่ยกระดับราคาให้มีมูลค่าสูงขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการเป็นเมืองอาหาร ที่จะให้บริการแก่ทุกเมืองในอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริการการขนส่งโลจิสติกส์ การบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น

 

การพัฒนา NeEC-Bioeconomy จึงเป็นโอกาสของเกษตรกร SMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรม Bioeconomy ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนการพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและผลักดันจากทุกภาคส่วนให้เกิดสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ที่ทำให้เกิดการร่วมคิด วางแผน และขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างบูรณาการ เพื่อผลักดันนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และเป็นประโยชน์ต่อพื้นที่และประเทศโดยรวม

 


หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,745 วันที่  2-5 มกราคม พ.ศ.2565