"BCG" บูม 9 เดือนขอรับส่งเสริมจากบีโอไอกว่า 1.28 แสนล.- 6 ปีเกือบ 7 แสนล.

22 พ.ย. 2564 | 10:05 น.

บีโอไอ เผย 9 เดือนธุรกิจ BCG ขอรับส่งเสริมจากบีโอไอกว่า 1.28 แสนล้านบาท ขณะที่ 6 ปีที่ผ่านมาเกือบ 7 แสนล้านบาท ชี้ทิศทางการลงทุนทวีบทบาทสำคัญ สอดรับกับแนวทางพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) เปิดเผยว่า ช่วง 9 เดือนแรก ปี 2564 (ม.ค. - ก.ย.) มีสัญญาณบ่งชี้โมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy)อัตราเติบโตที่ดี 
ทั้งนี้ มีกิจการขอรัการส่งเสริมการลงทุน 564 โครงการ จำนวนโครงการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 74% และมีมูลค่าลงทุน 128,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงกว่าช่วงเดียวกันกับปีก่อน 160% และสูงกว่ามูลค่าการลงทุนในปี 2563 ทั้งปี (93,883 ล้านบาท) โดยมีตัวอย่างบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนภายใต้กิจการ BCG อาทิ
กลุ่มโปรตีนทางเลือก (Alternative Protein)
บริษัท โกลบอล บั๊กส์ เอเชีย โครงการผลิตโปรตีนจากจิ้งหรีด
บริษัท ฟลายอิ้ง สปาร์ค (ประเทศไทย) จำกัด โครงการผลิตโปรตีนผงจากหนอนแมลงวันผลไม้

กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ Biotechnology
บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด โครงการผลิตผลิตภัณฑ์เซลล์และยีนบำบัด เพื่อรักษาโรคสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาหลัก
บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด โครงการผลิตยาจากเทคโนโลยีชีวภาพหรือชีวเภสัชภัณฑ์ที่ได้จากการใช้ต้นยาสูบเป็นเจ้าบ้าน (HOST)
กลุ่มพลาสติกชีวภาพ Bioplastic
บริษัท โททาล คอร์เบียน พีแอลเอ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด โครงการผลิตโพลีแลคติค แอซิด (Polylactic Acid : PLA) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายประเภท
บริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด โครงการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพชนิด PBS (Polybutylene Succinate)
บริษัท ไทยวา จำกัด โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด TPS (THERMOPLASTIC STARCH) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังของไทย
บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด โครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PHA (POLYHYDROXYALKANOATE) และ PHA BIOPLASTIC COMPOUND และผลิตภัณฑ์ขึ้นรูปจากพลาสติก PHA ซึ่งเป็นกิจการที่นำของเหลือทางการเกษตร

กลุ่มพลาสติกรีไซเคิลเกรดอาหาร (Food-Grade Recycled Plastics)
บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด โครงการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET (FOOD GRADE) เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ALPLA TH RECYCLING BETEILIGUNGSGELLSCHAFT
M.B.H ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ALPLA ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกรายใหญ่ของยุโรป
บริษัท อินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์ จำกัด (มหาชน) โครงการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด
PET เม็ดพลาสติก PET รีไซเคิล (rPET) สำหรับการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสอาหาร
บริษัท เซอร์คูลาร์ พลาส จำกัด โครงการวิจัยและพัฒนาระดับโรงงานสาธิตเพื่อผลิต PYROLYSIS NAPHTHA หรือ CIP-N โดยเป็นการวิจัยในขั้นทดลองในห้องปฏิบัติการ (LAB SCALE) และการวิจัยพัฒนาระดับนำร่อง (PILOT SCALE)

บีโอไอ ชี้เทรนด์การลงทุนอุตสาหกรรม BCG มาแรง
“โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะเป็นแนวทางในการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการใช้จุดแข็งที่ไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยการสร้างความสมดุลจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ ซึ่งการพัฒนาเศรษฐกิจตามโมเดล BCG ของไทย จะนำไปสู่การปรับกระบวนทัศน์ และการพัฒนาเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมาย SDGs และคาดว่าในอีก 5 ข้างหน้าอุตสาหกรรม BCG ของไทยจะมีมูลค่า 25% ของ GDP ซึ่งบีโอไอพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่จะนำเป้าหมายดังกล่าวให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน”
นางสาวดวงใจ กล่าวอีกว่า ด้วยสภาพการณ์การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ และการที่ประเทศไทยต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ รัฐบาลจึงได้กำหนดให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องการต่อยอดจุดแข็งของไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแนวทางพัฒนานี้ยังถูกจัดอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ปัจจุบันมาตรการส่งเสริมการลงทุนครอบคลุมกิจการจำนวนมากตลอดห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้อง และบีโอไอได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามแนวทาง BCG ในหลายด้าน เช่น
มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพ ภายใต้มาตรการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานทดแทน หรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการด้านการยกระดับไปสู่มาตรฐานเพื่อความยั่งยืนในระดับสากล เช่น มาตรฐานการรับรองป่าไม้ตามแนวทางขององค์การพิทักษ์ป่าไม้ (Forest Stewardship Council: FSC) เป็นต้น
มาตรการส่งเสริมการลงทุนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นในการพัฒนากิจการเกษตรที่ยั่งยืน เช่น การปลูกข้าวแบบปล่อยมีเทนต่ำ เป็นต้น
ปรับปรุงประเภทกิจการและสิทธิประโยชน์โดยให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม คือ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและโรงแยกก๊าซ ในกรณีใช้เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน โดยให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และกิจการห้องเย็น หรือกิจการห้องเย็นและขนส่งห้องเย็น หากใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ ให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี
อย่างไรก็ดี จากสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนกิจการในกลุ่ม BCG ตั้งแต่ ปี 2558 – กันยายน 2564 มีจำนวน 2,829 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 677,157 ล้านบาท โดย 5 อันดับแรกกิจการ BCG ที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด ได้แก่ 
1. กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นพลังงานหมุนเวียน (รวมถึงไฟฟ้าจากขยะ) 289,007 ล้านบาท 
2. กิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) หรือสิ่งปรุงอาหาร (Food Ingredient) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย 94,226 ล้านบาท 
3. กิจการผลิตเคมีภัณฑ์หรือพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นรูปต่อเนื่องจากการผลิตพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในโครงการเดียวกัน 40,998 ล้านบาท
4. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร 25,838 ล้านบาท 
5. กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ 22,250 ล้านบาท