Adecco เตือนองค์กรธุรกิจรีบปรับตัวก่อนคนเก่งถูกแย่งตัว

30 พ.ย. 2564 | 12:17 น.

กระแส the great resignation แรงฉุดไม่อยู่ Adecco คาดปีหน้าองค์กรธุรกิจเผชิญปัญหาคนเก่งถูกแย่งตัว แนะองค์กรปรับตัวสามด้าน ค่าตอบแทน,work-life balance,การบริหารงานของหัวหน้า

นางสาว ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานผู้บริหารกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ประเทศไทย เอเจนซี่ผู้ให้บริหารด้านทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจรเผยว่า the great resignation อาจยังไม่เกิดขึ้นที่ไทยเร็วๆ นี้แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมในระยะยาว คาดปีนี้องค์กรจะเจอปัญหาคนเก่งถูกแย่งตัวและพนักงานในภาคบริการที่มีแนวโน้มจะไม่หวนกลับมาทำอาชีพเดิมอีก แนะองค์กรปรับตัวสามด้านเพื่อรักษาทาเลนท์ไว้กับองค์กร

 


“ในต่างประเทศที่เกิดการลาออกอย่างมหาศาลนั้นเกิดจากที่มุมมองด้านชีวิตและการทำงานของพนักงานเปลี่ยนไปในช่วงโควิด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวเร็วและมีรัฐสวัสดิการที่ดี ทำให้เมื่อตัดสินใจลาออกยังสามารถดำรงชีพได้หรือมีช่องทางที่จะประกอบอาชีพใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการย้ายองค์กร การประกอบอาชีพอิสระ หรือออกมาทำธุรกิจของตัวเอง แต่แรงงานไทยนั้นมีปัจจัยสนับสนุนในด้านนี้น้อยจึงทำให้ตัดสินใจลาออกได้ยากกว่า

ดังนั้นในภาพรวมไทยอาจจะยังไม่เข้าสู่ภาวะ the great resignation เร็วๆ นี้ แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มว่าองค์กรอาจต้องเจอกับปัญหาการขาดแคลนทาเลนท์บางเซคเตอร์ โดยในกลุ่มพนักงานออฟฟิศ คนเก่งที่มีทักษะเป็นที่ต้องการของตลาดจะถูกแย่งตัว ส่วนพนักงานภาคบริการที่เคยถูกเลิกจ้างไปบางส่วนก็ลังเลที่จะหวนกลับมาทำอาชีพเดิมอีกจึงทำให้องค์กรหาคนมาทำงานได้ยากขึ้น”

 


จากที่ Adecco ให้บริการด้านการสรรหาบุคลากรกับลูกค้าองค์กร เราพบแนวโน้มว่าพนักงานที่เก่งและเป็นที่ต้องการของตลาดนั้นโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีตำแหน่งเป็นผู้บริหารระดับสูง ผู้จัดการ และผู้ที่มีทักษะเฉพาะทาง จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้นมากเมื่อเปลี่ยนงานใหม่

ทั้งนี้เป็นเพราะในปีนี้หลายองค์กรก็หมายมั่นปั้นมือที่จะฟื้นฟูธุรกิจหลังจากที่ขาดทุนมานานทำให้ต้องเร่งหาคนเก่งเข้ามาขับเคลื่อนองค์กร รวมถึงธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างเช่น เทคโนโลยี สุขภาพ e-commerce ที่ต้องการหาคนเก่งมาเสริมทัพ ซึ่งมีหลายองค์กรที่หันมาใช้บริการจากเอเจนซี่เพื่ออำนวยความสะดวกในการสรรหา”

 

ส่วนในภาคบริการนั้นเราพบว่าธุรกิจด้านค้าปลีกเช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ก็เริ่มกลับมาสรรหาพนักงานอีกครั้งจากมาตรการผ่อนคลายของรัฐบาลในช่วงปลายปี โดยเป็นการเพิ่มกำลังคนแบบค่อยเป็นค่อยไปและพร้อมปรับตามสถานการณ์ อย่างไรก็ดี มีแรงงานจำนวนไม่น้อยที่กลับต่างจังหวัดไปก่อนหน้านี้ และลังเลที่จะกลับมาทำงานเดิมในกรุงเทพ หรือบางส่วนไม่อยากกลับมา และอาจเปลี่ยนอาชีพไปแล้ว ทำให้องค์กรพบอุปสรรคและความท้าทายในการสรรหาโดยเฉพาะพนักงานที่มีฝีมือ ประสบการณ์และความชำนาญพร้อมกลับมาฟื้นฟูธุรกิจให้ไปต่อได้

 

ถึงแม้ว่า the great resignation ยังไม่เกิดขึ้นในไทย แต่ในปีหน้าองค์กรก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียพนักงานเก่งๆ ไปให้กับองค์กรอื่นจึงควรมีมาตรการในการรักษาทาเลนท์ที่เข้มข้นขึ้น เดือนที่ผ่านมาเราได้จัดทำ white paper: the great resignation ซึ่งรวบรวมข้อแนะนำสำหรับองค์กรในการป้องกัน the great resignation ด้วยกลยุทธ์สามด้านคือ 1)ค่าตอบแทน 2) work-life balance 3) การบริหารงานของหัวหน้า ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลาออกของพนักงาน

 

โดยองค์กรควรมีการปรับอัตราเงินเดือนที่เหมาะสม มีการสื่อสารให้พนักงานได้เข้าใจ และมองหาโซลูชันอื่นๆ ประกอบกัน เช่น การมอบสิทธิประโยชน์อื่นๆ หรือปรับรูปแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นเพื่อให้พนักงานมีสมดุลในการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะจากการสำรวจของ เราพบว่าพนักงานให้ความสำคัญกับ work-life balance มากถึง 80% โดยให้ความสำคัญเทียบเท่ากับค่าตอบแทน

 

ดังนั้นหากองค์กรสามารถมอบ work-life balance ให้กับพนักงานได้ก็จะช่วยรั้งทาเลนท์ให้อยู่กับองค์กรต่อไป นอกจากนี้อีกหนึ่งปัจจัยที่จะละเลยไม่ได้เลยคือหัวหน้า โดยองค์กรควรเทรนหัวหน้าให้มีทักษะในการบริหารพนักงานแบบ remote working มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการบริหารแบบ micro management การจัดการ workload ที่ไม่เหมาะสม ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานจำนวนมากหมดไฟและมีความคิดที่จะเปลี่ยนงานใหม่ในปีหน้าหากมีโอกาสเข้ามา”