SEAPC-Net ออกแถลงการณ์สนับสนุน "เสรีภาพสื่อ" ในเมียนมา

17 มี.ค. 2564 | 15:32 น.

เสรีภาพสื่อในเมียนมากำลังถูกลิดรอนท่ามกลางสถานการณ์ชุมนุมประท้วงที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ "SEAPC-Net" ออกแถลงการณ์ปกป้องเสรีภาพสื่อในเมียนมา และตอกย้ำความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาคมสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เครือข่ายสภาสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPC-Net) ออก แถลงการณ์สนับสนุนเสรีภาพสื่อในเมียนมา หลังสถานการณ์ ชุมนุมประท้วงในเมียนมา ทวีความรุนแรง และสื่อมวลชนทั้งสื่อท้องถิ่นและสื่อต่างประเทศ ได้รับผลกระทบซึ่งรวมถึงการถูกข่มขู่คุกคาม ลิดรอนเสรีภาพในการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน

ในแถลงการณ์ร่วมที่ออกโดย SEAPC-Net ลงนามโดยนายโมฮัมหมัด นูห์ (Muhammad Nuh) ประธาน SEAPC-Net เนื้อหาระบุว่า

จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมียนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เครือข่ายสภาสื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Press Council Network: SEAPC-Net) ซึ่งได้มีการประชุมนัดพิเศษกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ภายหลังจากเฝ้าติดตามผลกระทบที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่ง โดยเฉพาะกับการปฏิบัติหน้าที่อย่างมืออาชีพของสื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรม จึงเห็นพ้องออกแถลงการณ์เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันในการสนับสนุน เสรีภาพสื่อมวลชนในเมียนมา

โดยมีใจความสำคัญ 5 ประการ ประกอบด้วย

(1) แสดงความห่วงกังวลต่อข้อจำกัดที่มีต่อภาคประชาสังคม ผู้สื่อข่าว และบุคลากรในแวดวงสื่อมวลชนในเมียนมา

 (2) ให้มีการสร้างความมั่นใจที่ให้สื่อสามารถทำงานได้ภายใต้บรรยากาศสภาพแวดล้อมของเสรีภาพสื่อ และมีความปลอดภัย เพื่อรายงานข้อมูลสู่สาธารณะ โดยปราศจากการถูกจับกุม หรือข่มขู่

(3) แสดงความเสียใจกับสภาสื่อมวลชนเมียนมา และหวังว่าภายใต้สถานการณ์การเมืองใหม่นี้ จะยังคงสามารถธำรงบทบาทในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิอันเกี่ยวเนื่องกับของเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในทางข้อมูลข่าวสารได้

(4) ย้ำจุดยืนในการเคียงข้างสภาการสื่อมวลชนเมียนมา ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านจริยธรรมสื่อมวลชนในเมียนมา ในการสนับสนุนเสรีภาพสื่อในประเทศ และ

(5) ย้ำถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประชาคมสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการสร้างเสรีภาพสื่อในภูมิภาคให้บังเกิด

ทั้งนี้ SEAPC-Net เป็นองค์กรความร่วมมือของสภาสื่อมวลชน หรือองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกันเองด้านจริยธรรมสื่อ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปี 2019 (พ.ศ.2562) หลังมีการลงนามประกาศใช้ธรรมนูญฉบับแรก ที่บาหลี อินโดนีเซีย โดยประธานสภาสื่อมวลชนจาก 4 ประเทศสมาชิกก่อตั้ง อันได้แก่ สภาสื่อมวลชนอินโดนีเซีย ( Press Council of Indonesia) สภาสื่อมวลชนเมียนมา (Myanmar Press Council) สภาสื่อมวลชนติมอร์เลสเต (Timor-Leste Press Council) และสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ (National Press Council of Thailand) ซึ่งถือเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จ ของความพยายามมานานหลายปีในการจัดตั้งองค์กรที่ส่งเสริมจริยธรรมสื่อในระดับภูมิภาค

แถลงการณ์ของ SEAPC Net

สำนักข่าว ฟรานซ์24 ของประเทศฝรั่งเศส รายงานข่าวเมื่อช่วงต้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า สื่อมวลชนที่ทำข่าวการชุมนุมประท้วงในเมียนมา ต้องพบกับความยากลำบากมากขึ้นในการนำเสนอข่าวเนื่องจากพวกเขาตกเป็นเป้าหมายการกวาดจับของเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของเมียนมา โดย ณ วันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานสื่อมวลชนถูกเจ้าหน้าที่เมียนมาควบคุมตัวอย่างน้อย 9 ราย และนับตั้งแต่มีการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมานั้น มีสื่อมวลชนถูกจับกุมอย่างน้อย 30 รายแล้ว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง