ศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็ก: โอกาสของประเทศไทย (ตอนจบ)

18 ม.ค. 2564 | 00:26 น.

พัฒนาด้านเทคโนโลยีและศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ใน "สาธารณรัฐเช็ก" ที่ยาวนานกว่า 120 ปี เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยแล้ว

บทความพิเศษ: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

 

ทิศทางการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์อัจฉริยะของเช็ก

การพัฒนาและส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าใน ประเทศเช็ก (สาธารณรัฐเช็ก) ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มีแนวโน้มและทิศทางการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งเป็นเพราะเช็กถูก European Automobile Manufacturers Association ประเมินว่า เป็นหนึ่งในเป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)ที่มีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์น้อยมาก โดยในปัจจุบันมีทั้งหมด 800 สถานี คิดเป็นสัดส่วน 0.4% ของอียู

 

นอกจากเช็กแล้วสโลวาเกีย ฮังการี และโปแลนด์ ยังนับเป็นกลุ่มประเทศที่มีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าน้อยเช่นกัน เมื่อเทียบกับเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร (คำนวณก่อน 31 ธ.ค. 2563) มีจำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้ารวมกันคิดเป็น 75% ของอียู รัฐบาลเช็กจึงเร่งกำหนดแผนและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับการผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าอย่างเป็นระบบโดยกำหนดให้การใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อนยานยนต์ (electromobility) เป็นเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปให้ระบบการคมนาคมของเช็กเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็กเป็นโอกาสและทางเลือกที่สำคัญสำหรับไทย

ปัจจุบันเช็กมีจำนวนรถยนต์ที่ใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าคิดเป็น 4% ของรถยนต์ที่ใช้งานในภาคเอกชนในขณะที่ประเทศสมาชิกอียูมีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 16% ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในปี 2563 เช็กผลิตและจดทะเบียนรถไฟฟ้าทั้งหมด 5,000 คัน โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นการจำหน่ายและใช้งานภายในประเทศกว่า 2,000 คันและรัฐบาลเช็กได้มีแผนที่จะเพิ่มจำนวนการใช้รถไฟฟ้าให้อยู่ที่ระดับหลายแสนคันภายในปี 2573

 

จากรายงานของศูนย์วิจัยด้านคมนาคมเช็กระบุว่า ในปี 2563 เช็กมียอดจำหน่ายและจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ถึง 320% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีการจดทะเบียนรถไฟฟ้าทั้งหมด 7,500 คัน ซึ่งรถไฟฟ้าของบริษัทSkoda Auto เป็นที่ต้องการสูงสุด มีสัดส่วนยอดขายอยู่ที่ 50% ตามมาด้วยรถไฟฟ้าของบริษัท Tesla อยู่ในอันดับ 2 (8%) และรถไฟฟ้าของบริษัท Hyundai อยู่ในอันดับ 3 (7%) โดยรถไฟฟ้ารุ่น Skoda Citigo มียอดขายสูงสุด (943 คัน) และล่าสุดบริษัท Skoda Auto ได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าแบบ SUV รุ่นแรกคือ Enyaq ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก และในเดือนธันวาคม 2563 เพียงเดือนเดียวมียอดการจดทะเบียนรถ SUV รุ่นนี้จำนวน 741 คัน

 

ศักยภาพและโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์เช็ก

รัฐบาลเช็กได้วางโครงสร้างการศึกษาเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์อย่างเป็นระบบ โดยในแต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาในด้านวิศวกรรมศาสตร์ อุตสาหกรรมการผลิต และการก่อสร้าง ประมาณ 16.2% ของผู้สำเร็จการศึกษาทั้งหมด และยังมีผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิชาชีพเทคนิคประมาณ 17,000 คนต่อปี นอกจากนั้น เช็กยังมีมหาวิทยาลัยด้านวิศวกรรมศาสตร์และอุตสาหกรรมชั้นนำที่สำคัญของยุโรป เช่น Charles University, Czech Technical University, Technical University of Liberec, Brno University of Technology, University of Pardubice

 

และเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางการลดมลพิษของยานยนต์ต่อสิ่งแวดล้อมตามมาตรการ European Green Deal รัฐบาลเช็กยังให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อผลิตยานยนต์ที่ใช้พลังงานทดแทน เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ และเทคโนโลยี AI ซึ่งมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของเช็กที่มีบทบาทเด่นในเรื่องนี้ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งยุโรปกลาง (CEITEC) ได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำอย่าง Daimler AG, Bosch, ZF Automotive Czech s.r.o. และ NXP ในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ นอกจากนั้นยังมีโครงการความร่วมมือในด้านการขนส่งมวลชนและการจัดการจราจรเพื่อรองรับการขยายตัวของเขตเมืองและลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตและโครงการที่เกี่ยวข้องอีกหลายโครงการ

 

ศักยภาพและความเชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็กเป็นโอกาสและทางเลือกที่สำคัญสำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงเวลาที่ไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติสู่ EEC ซึ่งอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-generation Automotive) เป็น 1 ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย

 

ดังนั้น หากไทยสามารถแลกเปลี่ยนและนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเช็กในอุตสาหกรรมยานยนต์มาปรับใช้ รวมทั้งการดึงดูดให้เช็กหันมาให้ความสนใจและขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย และใช้ไทยเป็นฐานในการกระจายสินค้าไปสู่ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยขยายโอกาสด้านการค้าและการส่งออกของไทยไปยังตลาดเช็กและอียูได้ในอนาคต

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็ก: โอกาสของไทย (ตอน1)

การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย

ฟังเสียงทูตไทยในปราก“ไม่มีคนไทยในเช็กติดเชื้อโควิด-19”

ส่องคุณภาพการศึกษาเช็ก : ทางเลือกและโอกาสสำหรับนักเรียนไทย

ชี้ช่องส่งออก “อาหารไทยปรุงสำเร็จ” ไปตลาดเช็ก