ส่องคุณภาพการศึกษาเช็ก : ทางเลือกและโอกาสสำหรับนักเรียนไทย

05 ก.ย. 2562 | 11:09 น.

บทความพิเศษโดย : อุรีรัชต์ เจริญโต เอกอัครราชทูต ณ กรุงปราก

 

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 สถาบัน Quacqaurelli Symonds (QS) ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการศึกษาและจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลก ได้จัดให้เมืองเบอร์โน่ (Brno) และกรุงปรากอยู่ในอันดับที่ 6 และ 8 ตามลำดับ จาก 10 อันดับเมืองที่ดีที่สุดในด้านการศึกษาของโลกโดยพิจารณาจากเมืองที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกจำนวน 125 เมือง

 

การจัดอันดับดังกล่าวสะท้อนถึงศักยภาพด้านการศึกษาของสาธารณรัฐเช็ก ที่แม้จะยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายเมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปตะวันตกอื่น ๆ แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งที่ไทยไม่ควรมองข้าม

 

ผลการจัดอันดับของ QS มาจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาจำนวน 87,000 คน โดยส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่ากรุงปรากและเมือง Brno มีจุดเด่นที่เหมาะสำหรับการศึกษาคือ อัตราค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่ในระดับที่ไม่แพงจนเกินไป (affordability) ความหลากหลายและการบูรณาการทางวัฒนธรรม รวมทั้งจุดเด่นที่สำคัญคือโอกาสในการทำงานภายหลังการสำเร็จการศึกษา เนื่องจากในปัจจุบันเช็กมีอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดในประเทศสมาชิกอียู (จากสถิติในเดือนกรกฎาคม 2562 อัตราการว่างงานอยู่ที่ 2.7% เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2562 ที่มีอัตราอยู่ที่ 2.6% โดยมีจำนวนผู้หางานประมาณ 205,120 คน นับว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996)


ส่องคุณภาพการศึกษาเช็ก : ทางเลือกและโอกาสสำหรับนักเรียนไทย

 

ในขณะที่ Brno นับเป็นเมืองที่มีสัดส่วนนักเรียนและนักศึกษาต่อจำนวนประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของใน 125 เมืองดังกล่าว (คุณสมบัติของเมืองที่ได้รับการจัดอันดับต้องมีประชากรมากกว่า 250,000 คน และมีมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 2 แห่ง และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สัดส่วนระหว่างนักเรียนและนักศึกษาต่างชาติต่อนักเรียนและนักศึกษาท้องถิ่น การจ้างงานภายหลังการสำเร็จการศึกษา ความสมเหตุสมผลของอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาและครอบครัว)

 

ในการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ เมืองที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ใน 1 ใน 10 ของเมืองที่เหมาะสำหรับการศึกษามากที่สุดในโลก ได้แก่ (1) Munich, Germany (2) Montreal, Canada (3) Melbourne, Australia (4) Berlin, Germany (5) Amsterdam, Netherlands (6) Brno, Czech Republic (7) Boston, U.S.A. (8) Prague, Czech Republic (9) London, U.K. (10) New York, U.S.A.

ส่องคุณภาพการศึกษาเช็ก : ทางเลือกและโอกาสสำหรับนักเรียนไทย

Charles University ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปรากและเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดและเก่าแก่ที่สุดของเช็ก ก่อตั้งเมื่อศตวรรษที่ 14 ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 291 ในจำนวน 1,000 มหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก (โดยมีอันดับสูงขึ้นจากปี ค.ศ. 2018 ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 317)


 

 

ส่วนมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) MIT (2) Stanford (3) Harvard (4) Oxford และ (5) Caltech แต่เมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยที่กำลังได้รับความนิยมในการศึกษาต่อในภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง Charles University อยู่ในอันดับที่ 3 เท่ากับ St. Petersburg State University และตามมาด้วย Czech Technical University, Prague (อันดับที่ 9) Masaryk University, Brno (อันดับที่ 11) และ Brno University of Technology (อันดับที่ 25)

ส่องคุณภาพการศึกษาเช็ก : ทางเลือกและโอกาสสำหรับนักเรียนไทย

เห็นได้ว่า มหาวิทยาลัยทั้ง 4 แห่งของเช็กอยู่ในอันดับ 1 ใน 25 จาก 300 มหาวิทยาลัยในภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง ในขณะที่มีมหาวิทยาลัยเช็กจำนวน 9 มหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 1,000 แห่งจากทั่วโลก โดยมี Prague’s University of Chemistry and Technology ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นปีแรก และได้ก้าวขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยอันดับที่ 2 รองจาก Charles University (อันดับที่ 355) โดยมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่ได้รับการจัดอันดับ ได้แก่ Technical University of Liberec (อันดับที่ 751-800) Czech University of Life Science, Prague (อันดับที่ 801-1,000) และ University of Ostrava (801-1,000)

ส่องคุณภาพการศึกษาเช็ก : ทางเลือกและโอกาสสำหรับนักเรียนไทย

การที่กรุงปรากและเมือง Brno ได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 เมืองที่มีบรรยากาศเหมาะแก่การศึกษามากที่สุดในโลกและมีมหาวิทยาลัยเช็กหลายแห่งได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง และในระดับโลกนั้น นับเป็นสิ่งที่สะท้อนและตอกย้ำถึงศักยภาพด้านการศึกษาของเช็กและโอกาสสำหรับนักเรียนและนักศึกษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ของเช็กมีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำในระดับโลกและในภูมิภาคยุโรป และพร้อมที่จะเปิดรับและขยายความร่วมมือด้านวิชาการและบุคลาการด้านการศึกษากับประเทศต่าง ๆ

 

และเมื่อคำนึงถึงโอกาสและศักยภาพของมหาวิทยาลัยของเช็กที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน หากหน่วยงานด้านการศึกษาและสถาบันการศึกษาไทยจัดทำ MoU และวางกรอบความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเช็กให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และส่งเสริมให้เช็กเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักศึกษาไทยในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในต่างประเทศ ก็จะเป็นการขยายโอกาสและทางเลือกในการศึกษาให้กับเยาวชนไทย และยังเป็นช่องทางในการส่งเสริมความสัมพันธ์ในระดับเยาวชนและภาคประชาชนของไทยและเช็กให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นด้วย