ศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็ก: โอกาสของไทย (ตอน1)

15 ม.ค. 2564 | 01:50 น.

พัฒนาด้านเทคโนโลยีและศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ใน "สาธารณรัฐเช็ก" ที่ยาวนานกว่า 120 ปี เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยแล้ว

บทความพิเศษ ​จากสถานเอก​อัครราชทูต​ ​ณ​ กรุง​ปราก​

 

ประเทศเช็ก (หรือในชื่อเต็มว่า สาธารณรัฐเช็ก) มี วิวัฒนาการการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ มากว่า 120 ปี พร้อม ๆ กับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี และเมื่อปี 2440 ขณะอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี บริษัท Nesselsdorfer Wagenbau Fabriks Gesellschaft A.G. (NW) ได้เป็นผู้ผลิตยานยนต์คันแรกของเช็ก หรือที่รู้จักกันในนาม Präsident และหลังการประกาศเอกราชจากจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ก่อตั้งประเทศเป็นเช็กโกสโลวะเกียในปี 2461 บริษัท NW ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท Tatra และยังคงผลิตยานยนต์รูปแบบต่าง ๆ มาจนถึงปัจจุบัน

 

พัฒนาการอุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็กเคียงคู่มากับสหรัฐและเยอรมนี

 

บริษัท Tatra เป็นผู้ผลิตยานยนต์ทางทหารที่สำคัญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีบริษัทผลิตยานยนต์สัญชาติเช็กเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก เช่น Laurin & Klement, Skoda, Walter, Praga, Aero, Jawa, Zetka แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงบริษัท Skoda เพียงแห่งเดียวที่ยังคงผลิตรถยนต์เพื่อการโดยสาร และเมื่อปี 2534 บริษัท Skoda ได้ขายหุ้นให้กับ Volkswagen Group (VW) และได้กลายเป็นบริษัท ในเครือของ VW อย่างเต็มรูปแบบในปี 2543

 

ปัจจุบันเช็กเป็นฐานการผลิตของบริษัทยานยนต์ชั้นนำในภูมิภาคยุโรป ได้แก่ Skoda Auto, Toyota, Peugeot, Citroen Automobile (TPCA), Hyundai, Iveco, SOR, Tatra และ AVIA ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรถยนต์คิดเป็น 20.2% ของสินค้าส่งออกทั้งหมดของประเทศโดยมีศักยภาพในการผลิตรถยนต์กว่า 1.2 ล้านคันต่อปี และอุตสาหกรรมยานยนต์ก่อให้เกิดการจ้างงานมากกว่า 120,000 อัตรา เช็กสามารถผลิตยานยนต์ได้หลากหลายรูปแบบ เช่น รถโดยสารส่วนบุคคล รถราง รถบรรทุก และรถบัส โดยสัดส่วนการผลิตรถยนต์ส่วนบุคคลคิดเป็น 99% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดและอีก 1% คือการผลิตรถบัสและรถมอเตอร์ไซค์

 

เช็กยังเป็นที่ตั้งของบริษัทผลิตเหล็ก อะไหล่และอุปกรณ์ด้านการคมนาคมจำนวนมาก โดยกว่า 46% ของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและส่วนประกอบยานยนต์ชั้นนำของโลกตั้งอยู่ในเช็ก เช่น Benteler International AG, Continental AG, Denso, Magma International, Koito Czech s.r.o., BOSCH ซึ่งเป็นผู้ผลิตระบบไฟยานยนต์ ล้อรถ เบาะ ระบบเบรก ระบบเครื่องยนต์ และระบบความปลอดภัย แต่ละ บริษัทมีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และมีศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทันสมัยซึ่งรัฐบาลเช็กให้การสนับสนุนด้านงบประมาณแก่บริษัทเอกชนผู้คิดค้นนวัตกรรมยานยนต์ในการทำวิจัยร่วมกับกระทรวงคมนาคมเช็กด้วย

 

อุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็กมีประวัติมายาวนาน

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่ออุตสาหกรรมยานยนต์เช็ก

อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อภาคการส่งออกเช็กเป็นอันดับต้น โดยคิดเป็นสัดส่วน 5% ของ GDP และหากนำการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์เพื่อการส่งออกซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3.5 แสนล้านคอรูน่า (4.725 แสนล้านบาท) มารวมกับมูลค่าการส่งออกยานยนต์แล้ว จะทำให้ภาคการผลิตรถยนต์ ส่วนประกอบและอะไหล่เพื่อการส่งออกมีสัดส่วนสูงถึง 10% ของ GDP

 

  • ผลกระทบต่อการผลิตรถยนต์: ข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เช็ก (The Czech Automotive Industry Association: AIA) ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ได้ส่งผลให้ยอดการผลิตรถยนต์ในเช็กระหว่างเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2563 ลดลง 21.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ 1.054 ล้านคัน ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2563 เพียงเดือนเดียวมียอดการผลิตลดลงถึง 20% และสถานการณ์การผลิตลดลงไปใกล้เคียงกับขีดความสามารถในการผลิตเมื่อปี 2556 โดย บริษัท Skoda Auto มียอดการผลิตลดลง 18.4% (690,380 คัน) บริษัท Hyundai มียอดการผลิตลดลง 25.8% (215,851 คัน) และบริษัท TPCA มียอดการผลิตลดลง 26.4% (147,865 คัน)

 

  • ผลกระทบต่อยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล: ข้อมูลจากสมาคมผู้นำเข้ายานยนต์เช็ก (The Czech Car Importers Association: SDA) ระบุว่า สถิติยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลใหม่ในเช็กในปี 2563 มีอัตราลดลง 18.8% หรือเท่ากับ 202,971 คัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในการระบาดฯ ในระลอกแรกรัฐบาลเช็กได้มีคำสั่งปิดโรงงานการผลิตและปิดศูนย์จัดแสดงและจำหน่ายรถยนต์ ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานของชิ้นส่วน อะไหล่ และส่วนประกอบยานยนต์ได้รับผลกระทบและเกิดความชะงักงันต่อกระบวนการผลิตทั้งระบบ และอีกปัจจัยสำคัญคือการให้ความสำคัญกับการควบคุมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอียูที่ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์เริ่มหันมาทบทวนการผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงและเทคโนโลยีในรูปแบบเดิมและเริ่มเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเทคโนโลยี ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรรุ่นใหม่ ตลอดจนการเพิ่มการจ้างผู้เชี่ยวชาญและวิศวกรยานยนต์เพื่อเตรียมการเปลี่ยนผ่านไปสู่การผลิตรถไฟฟ้าและรถยนต์อัจฉริยะในอนาคต

 

บริษัท Skoda Auto ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของเช็ก มียอดขายลดลง 13% (74,786 คัน) บริษัท Volkswagen อยู่ในอันดับที่ 2 มียอดขายลดลง 19.7% (16,767 คัน) บริษัท Hyundai อยู่ในอันดับ 3 มียอดขายลดลง 17% (16,030 คัน) บริษัท Toyota อยู่ในอันดับ 4 (10,023 คัน) และบริษัท Dacia อยู่ในอันดับ 5 (9,751 คัน)

 

นักวิเคราะห์มองว่า พัฒนาการของตลาดยานยนต์เช็กในปี 2563 มีแนวโน้มดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เนื่องจากมีการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปีได้อย่างรวดเร็วจากในช่วงครึ่งแรกของปีที่มียอดการผลิตลดลงเกือบ 50% และยอดขายในเดือนกันยายนและธันวาคม2563 ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

โปรดติดตามตอนจบในวันพรุ่งนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศักยภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ของเช็ก: โอกาสของประเทศไทย (ตอนจบ)

การค้า การลงทุน นวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ของเช็ก : โอกาสสำหรับประเทศไทย

ฟังเสียงทูตไทยในปราก“ไม่มีคนไทยในเช็กติดเชื้อโควิด-19”

ส่องคุณภาพการศึกษาเช็ก : ทางเลือกและโอกาสสำหรับนักเรียนไทย

ชี้ช่องส่งออก “อาหารไทยปรุงสำเร็จ” ไปตลาดเช็ก