"ประกันราคาข้าว" เช็ก เงินส่วนต่าง “ประกันรายได้ข้าว”ล่าสุดที่นี่

16 พ.ย. 2563 | 06:05 น.

อัพเดท "ประกันรายได้ข้าว" ธ.ก.ส.ชี้แจงวิธีคำนวณเงินส่วนต่าง "ประกันราคาข้าว" แต่ละชนิดล่าสุดที่เกษตรกร ชาวนาได้รับ

16 พฤศจิกายน 2563 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/64 (รอบที่ 1) หรือ “ประกันรายได้ข้าว” เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณ 18,096 ล้านบาท ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เริ่มมีการจ่ายเงินส่วนต่างประกันราคาข้าวให้กับเกษตรกรมีคุณสมบัติถูกต้องทั้งสิ้น 871,869 ราย ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 เป็นวันแรก คิดเป็นเงิน 9,298 ล้านบาท และจะทยอยจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจนครบต่อไป

 

อย่างไรก็ตามยังคงมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ชาวนา หลายคนยังสงสัยว่า เงินส่วนต่างประกันราคาข้าวที่จะได้รับเป็นจำนวนเท่าใด ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบพบว่า การชดเชยส่วนต่างราคาประกันรายได้ข้าว ล่าสุด ณ วันที่ 16 พ.ย. 2563 มีดังนี้

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 2,911.17 บาท สูงสุดไม่เกิน 40,756.38 บาทต่อครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 2,137.45 บาท สูงสุดไม่เกิน 34,199.2 บาทต่อครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกเจ้า 1,222.36 บาท สูงสุดไม่เกิน 36,670.8 บาทต่อครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 1,066.96 บาท สูงสุดไม่เกิน 26,674 บาทต่อครัวเรือน
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 2,084.34 บาท สูงสุดไม่เกิน 33,349.44 บาทต่อครัวเรือน

 

นายกษาปณ์ เงินรวง รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้อธิบายว่า หลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้ข้าว เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/64 รอบที่ 1 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย

จากนั้นกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน จากนั้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการฯ

 

โครงการประกันรายข้าว 5 ชนิด ได้แก่

  • ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละ  ไม่เกิน 14 ตัน
  • ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
  • ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
  • ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน
  • ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
  • กรณีเกษตรกรปลูกข้าวมากกว่า 1 ชนิด จะได้สิทธิไม่เกินจำนวนสูงสุดของข้าวแต่ละชนิด และเมื่อรวมกันต้องไม่เกินขั้นสูงชนิดข้าวที่กำหนดไว้สูงสุด

 

การดำเนินโครงการประกันรายได้ข้าว ได้กำหนดราคาอ้างอิงและระยะเวลาที่ใช้สิทธิขอชดเชย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 31 ต.ค. 2563 (ยกเว้นภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2563 – 28 ก.พ. 2564) ซึ่งคณะอนุกรรมการกำกับดูแลและกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ได้ประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงครั้งแรกวันที่ 9 พ.ย. 2563 เพื่อใช้ในการชดเชยส่วนต่างตามโครงการประกันรายได้ข้าวความชื้นข้าวเปลือกแต่ละชนิดไม่เกิน 15%

เกษตรกรผู้ปลูกข้าว สามารถตรวจสถานะเงินประกันรายได้ข้าวด้วยตัวเอง ดังนี้

  • คลิกเข้าไปที่ลิงก์ https://chongkho.inbaac.com/  คลิก
  • เมื่อกดเข้าไปยังหน้าแรกของเว็บไซต์ดังกล่าว จะมีช่องให้กรอกเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก
  • เมื่อใส่ครบกดค้นหา 
  • หากเงินเข้าระบบแล้วจะมีการแจ้งว่าโอนเรียบร้อยแล้ว แต่หากยังไม่เข้าให้รอข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่ง ธ.ก.ส.จะทำการโอนให้เสร็จสิ้นภายใน 3 วันทำการ

\"ประกันราคาข้าว\" เช็ก เงินส่วนต่าง “ประกันรายได้ข้าว”ล่าสุดที่นี่

ตรวจสอบสถานะเงินประกันรายได้ข้าวด้วยวิธีอื่น

  • สมัครเช็คเงินเข้า-ออก ผ่านไลน์แอด @baacfamily 
  • ตรวจสอบการโอนผ่านช่องทางการปรับสมุดเงินฝาก 
  • ตรวจสอบการโอนผ่านช่องทาง ATM 
  • ตรวจสอบการโอนผ่านช่องทางแอปพลิเคชั่น A mobile