ครึ่งปีหลังสินเชื่อบ้านยังมีหวัง

04 ส.ค. 2563 | 00:05 น.

แบงก์ชี้ครึ่งปีหลังสินเชื่อบ้านคึกคักกว่าครึ่งปีแรก ชี้ช่วงพ.ค.-มิ.ย.เห็นสัญญาณลูกค้าทยอยโอน หนุนคำขอกู้ฟื้นตัว ค่ายบัวหลวงเผยสภาพแข่งขันในตลาดยังมีกรุงศรีชูบริการเสริมผ่านแอพ KMA เพิ่มทางเลือกลูกค้า ด้าน “เกียรตินาคิน”ยันยอดโปรเจ็กต์ไฟแนนซ์ยังขยับ แต่แนวโน้มยังน่าห่วง เหตุไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจและโควิด

รายงานตัวเลขธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สิ้นเดือนเมษายน 2563 จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์รวม 3,187,589 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อผู้ประกอบการ (สินเชื่อโครงการ) 794,372 ล้านบาท และสินเชื่อผู้บริโภคอีก 2,393,217 ล้านบาท  

ขณะที่ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์งวดไตรมาส 2 และครึ่งปี 2563 พบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารกรุงเทพ เพิ่มขึ้น 22.11% กรุงไทย 7.81% ไทยพาณิชย์ 0.5% กรุงศรีอยุธยา 5.5% ขณะที่ทห่รไทยหรือ ทีเอ็มบี เพิ่มขึ้น 69.62% ซึ่งเป็นผลจากการควบรวมกิจการกับธนชาต 

นางสาวกาญจนา  โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ”ว่าภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยปีนี้ มีแนวโน้มชะลอตัว สาเหตุหลักจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ส่งผลกระทบเศรษฐกิจในวงกว้างและกำลังซื้อผู้บริโภคทุกกลุ่ม ซึ่งหากพิจารณาเดือนเมษายนปี 2562 ที่ธปท.เริ่มปรับปรุงเกณฑ์อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV Ratio) ทำให้ตัวเลขสินเชื่ออสังหา ริมทรัพย์สิ้นปีโตเพียง 5.4% ชะลอจากสิ้นปี 2561 ที่ขยายตัว 7.8% ปีนี้แม้จะผ่อนเกณฑ์ LTV แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด ทำให้ไตรมาสแรกปีนี้ขยายตัวเพียง 3.4% และอยู่ระหว่างทบทวนตัวเลขทั้งปีใหม่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สินเชื่อเช่าซื้อร่วง ตามยอดขายรถ

ตลาดแนวราบคึกคัก รายใหญ่ปรับเพิ่มยอดขาย

‘พฤกษา’ พลิกเกม  เบรกขายที่ดิน 5 ทำเลทอง 

 

“ที่เห็นว่ายอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยไม่ปรับลดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ตํ่าปีก่อน บวกกับปีนี้ยังมีผลจากมาตรการพักชำระหนี้ด้วย แต่ในความเป็นจริงสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลงจากผล LTV และเศรษฐกิจจากครึ่งหลังปีก่อน แต่ไตรมาส 3 น่าจะขัยบได้3.7%” 

ครึ่งปีหลังสินเชื่อบ้านยังมีหวัง

ขณะที่ภาคธนาคารยังกังวลต่อคุณภาพของสินเชื่อ เพราะสัญญาณคุณภาพพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีความเสี่ยงที่จะเพิ่มขึ้นทั้งหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)และหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ซึ่งสะท้อนความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้  และธนาคารยังมีโจทย์หลายเรื่องที่ต้องชั่งนํ้าหนัก หากลูกค้ามีภาระหนี้อยู่แล้วในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อีกทั้งต้องให้ความช่วยเหลือลูกค้าควบคู่กับการปล่อยสินเชื่อใหม่”

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพกล่าวว่า สินเชื่อของธนาคารกรุงเทพที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการรวมพอร์ตสินเชื่อกับธนาคารพีที เพอร์มาตาทีบีเคด้วย แต่ยอมรับว่า ในเมืองไทยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารมีสัญญาณบวกช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน 2563 ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการทำกลยุทธ์ลดราคา 20-30% ทำให้เห็นคำขอสินเชื่อของลูกค้าทยอยเข้ามาในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา 

ประกอบกับดอกเบี้ยอยู่ในระดับตํ่า 3-4% ต่อปีขึ้นกับโปรโมชั่นแต่ละโครงการ 

ส่วนช่วงครึ่งปีหลังนั้น ธนาคารให้นํ้าหนักในการดูแลลูกค้าพอร์ตเดิม เพื่อให้แต่ละรายสามารถอยู่ได้ในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่แน่นอน แต่ยังคงเป้าหมายทางการตลาดตามที่กำหนดไว้ โดยทำกิจกรรมทางการตลาดพันธมิตรโครงการ โดยยอมรับว่า สภาพการแข่งขันในตลาดยังคงมีสมํ่าเสมอ ภายใต้เป้าหมายการเติบโตสินเชื่อใหม่ แต่ตัวเลขทั้งปีนี้ยังประเมินยาก ส่วนหนึ่งเพราะการระบาดของโควิดยังไม่จบ ทำให้ทั้งธนาคารและลูกค้าต่างระมัดระวัง

นายณัฐพล ลืมพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคาร กรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือปีนี้มีแนวโน้มคึกคักกว่าครึ่งปีแรก โดยส่วนหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาได้ปรับกลยุทธ์ เน้นดูแลลูกค้าหลังการขาย ทำให้ปีนี้แม้ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่จะได้น้อย แต่สามารถรักษาลูกค้าเก่าไว้ได้ ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังเป็นบวก 

“สินเชื่อที่อยู่อาศัยนั้น มีกระบวน การระยะยาวเราจึงมีทีมงาน ALert ที่จะดูแลลูกค้าแบบใกล้ชิดซึ่งเป็นจุดแข็ง นอกจากบริการที่หลากหลายแล้วยังมี บริการเสริมและแอพพลิเคชั่น KMA จะ อัพเดตสถานะของลูกค้าแต่ละรายด้วย”

นายสำมิตร สกุลวิระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสานสินเชื่อธุรกิจ ธนาคาร เกียรตินาคินกล่าวว่า ที่เห็นตัวเลขภาพรวมยอดคงค้างของสินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อโครงการขยายตัวเพิ่มนั้น ส่วนหนึ่งเพราะผู้ประกอบการชำระคืนเงินต้นน้อยลงมาก แต่โครงการแนวราบเริ่มเห็นการโอนมากขึ้นช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน ส่วนโครงการแนวสูงยังค่อนข้างเงียบ โดยภาพรวมผู้ประกอบการบางส่วนชะลอก่อสร้างโครงการ ขณะที่บางรายได้รับผลกระทบจากมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้ไม่มีรายได้เข้ามา แต่ยังมีค่าใช้จ่าย แม้ธนาคารจะพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ แต่แนวโน้มยังน่าห่วง เนื่องจากความไม่แน่นอนทั้งเศรษฐกิจชะลอตัวและการระบาดของโควิดอีกรอบหรือไม่

“สินเชื่อโครงการของเราดูเติบโต เพราะมีการโอนกรรมสิทธิ์น้อย ทำให้ผู้ประกอบการคืนเงินต้นน้อยและเบิกใช้สินเชื่อใหม่ช่วงตลาดหุ้นกู้ต้นทุนเพิ่ม โดยผู้ประกอบการรายใหญ่และรายกลางเบิกใช้วงเงินบ้าง เบิกสินเชื่อแล้วนำมาเป็นเงินฝากแบงก์เพื่อเตรียมสภาพคล่องสำหรับค่าดำเนินการและอีกส่วนเพื่อชำระหุ้นกู้เมื่อครบดีล”

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,597 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563

สนใจสมัคร สินเชื่อบ้าน คลิกเลย