เพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการไทย

04 เม.ย. 2564 | 22:10 น.

เพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการไทย : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ในสภาวะไม่ปกติของบ้านเมือง ย่อมสร้างความสับสนวุ่นวายให้แก่ประชาชนเป็นธรรมดา ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในสภาวะไม่ปกตินี้ ย่อมมีทั้งผู้ที่เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลืออย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ผมเองก็เคยผ่านสภาวะเหล่านั้นมาอย่างโชกโชน ทั้งที่เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งผมก็ล้วนแต่มีประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาแล้วทั้งนั้น

สถานการณ์ในการค้าที่ต่างประเทศที่หนักหนาที่สุดในชีวิตของผม น่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศกัมพูชาครับ เพราะที่กัมพูชาความเสียหายด้านการเงินเยอะที่สุด อาจจะเป็นเพราะว่าในยุคนั้น สถานะทางการเงินของผม จะยังไม่ค่อยจะเข้มแข็งนัก แต่กับสถานการณ์ในประเทศเมียนมานั้น ก็หนักหนาเอาการอยู่ แต่ก็ยังไม่หนักเท่าที่ประเทศกัมพูชาครับ ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะเราอายุมากแล้ว การสั่งสมสถานะก็จะดีกว่าเดิมเป็นเรื่องธรรมดา และในยุคที่ผมเข้าไปทำการค้าที่ประเทศกัมพูชาอยู่นั้น มีการปฎิวัติแต่ไม่สำเร็จ ทำให้เกิดการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายรัฐบาลฮุนเซน และฝ่ายของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ นั่นก็ครั้งหนึ่ง

และต่อมายังประสบการการประท้วงเนื่องจากการพากษ์เสียงภาษาผิดเพี้ยน ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่ชาวกัมพูชา จึงมีการลุกฮือขึ้นมาเผาสถานฑูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ช่วงนั้นผมได้เข้าไปทำธุรกิจในนั้นอยู่ด้วย แต่ในขณะที่เกิดเรื่องชุลมุนกันอยู่ ผมได้กลับมากรุงเทพฯแล้ว ก็ได้แต่ฟังเพื่อนๆ ที่เป็นหุ้นส่วนเล่าให้ฟัง อย่างไรก็ตาม ความเสียหายทางด้านการเงินและธุรกิจ ไม่อยากจะคิดถึงมันเลยครับ สุดท้ายก็ผ่านพ้นมาได้ ด้วยสภาพสบักสบอมเอาการครับ ในขณะที่สมัยเขมรสามฝ่ายสู้รบกันอยู่

ที่ผมเริ่มต้นเข้าไปทำธรกิจอยู่ในนั้น แม้จะมีความไม่สงบเกิดขึ้น แต่ก็ไม่หนักมากเท่าไหร่ เพราะเมืองที่มีการสู้รบกัน เช่นเมืองไพลิน เราก็เลี่ยงที่จะไม่เข้าไป เราไปได้แค่เมืองพระตะบอง ซึ่งไม่ค่อยจะอันตรายเท่าไหร่ จึงสามารถที่จะทำการค้าได้ นี่คือชีวิตการทำธุรกิจในประเทศแถบนี้ ที่ผมผ่านมาได้ ต้องพูดว่ามีรสมีชาดที่ไม่สามารถหาซื้อได้จริงๆครับ

 

แต่มาในครั้งที่อยู่เมียนมา เมื่อครั้งประท้วงกันในปี 2007 ผมก็ได้รับรู้ถึงรสชาดนั้นอีกครั้ง แต่ที่มาหนักหนาจริงๆก็คราวนี้แหละครับ ทั้งๆที่ผมอายุอานามก็มากแล้ว ไม่ควรที่จะต้องมาประสบพบเจออีกเลย แต่ก็มาเจอจนได้ครับ แต่ด้วยบุญบารมีหรือโชควาสนาก็มิอาจทราบได้ ครั้งนี้ก็เกิดมีภาวะเจ้าโรคร้ายโควิดเข้ามาก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองพอดี เลยทำให้ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในเมืองย่างกุ้งได้ก่อนหน้าเกิดเหตุการณ์สำคัญนี้เกือบหนึ่งปี ทั้งๆทีผมจะต้องเดินทางไปที่นั่นเดือนละสองถึงสามครั้ง เลยทำให้ไม่ต้องได้รับรู้รสชาดการวิ่งหนีหลบขบวนการอันเลวร้ายต่างๆ จะมีเพียงแต่เงินลงทุน ที่อาจจะสูญเสียไปบ้างเท่านั้นครับ

มีเพื่อนๆ หลายท่าน ที่ได้พูดคุยกัน ในช่วงขณะที่โรคโควิดกำลังระบาดอยู่ที่ประเทศเมียนมา เขาไม่สามารถเดินทางเข้าไปได้ และยังต้องติดค้างอยู่ที่กรุงเทพฯ  ก็ได้เข้ามาปรับทุกข์กัน แรกๆก็บ่นว่าโชคร้ายติดอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่รู้ว่าพนักงานที่ย่างกุ้งจะสามารถดูแลกิจการให้ได้หรือเปล่า บ้างก็พูดว่าน้องๆคนไทยที่บริษัทจะขอกลับมากรุงเทพฯ ไม่รู้ว่าจะดำเนินธุรกิจกันต่อไปอย่างไร หรือบางท่านก็บ่นว่า เงินทองไม่รู้ว่าจะเสียหายเท่าไหร่ แต่พอเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ เพื่อนๆส่วนใหญ่ ก็มาบ่นกันอีกอย่าง โดยบ่นว่าจะทำอย่างไรดี รู้สึกเป็นห่วงบริษัทที่เมียนมามาก

บางท่านถึงกับบอกว่า ถ้ามีเครื่องบินสามารถเดินทางเข้าไปย่างกุ้งได้ เขาก็จะเดินทางเข้าไปดูแลกิจการ แต่พอสุดท้ายเกิดการประท้วงอาริยะขัดขืน และเกิดการปราบปรามกันขนานหนัก คราวนี้ก็มาบ่นอีกแบบ คือบ่นว่าโชคดีนะที่ไม่ได้อยู่ในนั้น ผมเองก็พูดปลอบใจไปว่า ทุกอย่างขอให้ปล่อยวางเถอะ อะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด อะไรจะเสียมันก็ต้องเสีย สิ่งที่ได้มาและเสียไป ล้วนแล้วแต่เป็นโชคชะตากำหนด เราไม่สามารถที่จะไปฝืนได้หรอก ขอให้คิดเสียว่าเป็นบุญวาสนาที่ลิขิตมาอย่างนี้ก็สบายใจแล้วครับ ถ้าเป็นภาษาไทยใหญ่ก็ต้องบอกว่า “น้ำหยาด(บุญวาสนา)มีเพียงฟ้าเป็นผู้กำหนดเท่านั้น” 

ในส่วนของการที่จะดำรงค์อยู่ให้ได้หลังจากเหตุการณ์ยุติลง ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่ เราคงต้องเตรียมช่องทางไว้หลายๆทาง ให้ตั้งข้อสมมุติฐานไว้หลายๆอย่าง เช่นถ้าหากเกิดเหตุการณ์ที่แต่ละฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดจะชนะ เราก็ต้องคิดเผื่อๆไว้ว่าเราจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งผมเองก็ไม่สามารถที่จะทราบได้ว่าจะเป็นฝ่ายไหน (เพราะถ้าทราบได้ ก็คงไม่ต้องมานั่งเป็นทุกข์แน่นอน) ดังนั้น การเตรียมตัวเราเองให้พร้อมสำหรับเหตุการณ์ต่างๆไว้หลายๆช่องทาง จะเป็นทางออกที่ดีที่สุดครับ 

 

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ หลายๆ ท่านคงจะมีปัญหาหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการขาดสภาพคล่องของการเงิน (ด้านนี้ได้รับฟังมาจากเพื่อนหลายท่าน) ด้านบุคลากรแรงงานที่ไม่มาทำงาน ด้านการตลาดที่ห่างเหินเนิ่นนาน ผมก็ให้คำแนะนำไปว่า ในช่วงนี้ ขอให้อยู่นิ่งๆไปก่อน รอให้สถานการณ์ดีขึ้น แล้วค่อยเข้าไปแก้ไขก็ยังไม่สาย ในขณะที่ภาครัฐของไทยเรา ก็ได้รับทราบถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว เชื่อว่าในอีกไม่นานเกินรอ เราคงจะได้เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลเรา ท่านคงจะเข้ามาช่วยพวกเราแก้ไขสถานการณ์เท่าที่จะทำได้แน่นอนครับ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง