ใกล้จะถึงบทสรุปแล้วหรือยัง

22 มี.ค. 2564 | 02:30 น.

ใกล้จะถึงบทสรุปแล้วหรือยัง : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

มีคำถามมาจากเพื่อนแฟนคลับที่ชื่อคุณนัท (ชื่อของท่านผมแปลจากภาษาอังกฤษ ถ้าผิดก็ขออภัยด้วยนะครับ) ถามมาเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ 1) จะมีการแทรกแซงจากต่างชาติมั้ยคะ?  2) จะจบได้ยังไงบ้าง? 3) ไทยจะรับมือยังไงกับผู้อพยพหนีภัยสงคราม และพวกที่จะแฝงตัวเข้ามา? ผมอยากจะขออนุญาตใช้บทความนี้ตอบนะครับ คำตอบอาจจะไม่ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง ก็ให้คิดเสียว่าเป็นความคิดเห็นส่วนตัวก็แล้วกันนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแฟนคลับที่เป็นชาวเมียนมา (เรามีเพื่อนๆ ชาวเมียนมาที่ติดตามบทความผมไม่น้อยเช่นกัน) ท่านไม่ต้องโกรธผม หรือคิดว่าผมอยู่ฝ่ายตรงข้ามนะครับ 

ผมมีเพื่อนที่เป็นครูภาษาไทย เปิดสถาบันสอนภาษาไทยให้แก่ชาวเมียนมา ครูได้โทรศัพพ์มาคุยกับผม เพื่อเล่าถึงสถานการณ์ให้รับฟังบ่อยๆ ครูเล่าว่า ปัจจุบันนี้การแตกแยกภายในครอบครัวรุนแรงกว่าในยุคของเสื้อเหลือง-เสื้อแดงของไทยเรามาก ที่เมียนมาครอบครัวเกือบทุกแห่ง ต่างคุยกันถึงเรื่องการประท้วงไม่ได้เลย ยกตัวอย่างเช่นครอบครัวหนึ่ง ลูกๆ จะออกไปร่วมเดินขบวน พ่อ-แม่กลัวอันตรายจะมาถึงตัวลูก จึงห้ามไม่อยากให้ออกไป กลายเป็นว่าพ่อ-แม่เป็นพวกสีเขียว ไม่รักประชาธิปไตยไปโน่นเลย หรือพอลูกๆ ไม่ออกไปเดินขบวน พ่อ-แม่ที่เป็นฝ่ายสีแดง ก็บอกว่าลูกไม่รักชาติไปโน่นด้วยเช่นกัน จึงน่าหวาดหวั่นมากว่า ความแตกแยกรุนแรงเกินกว่าเหตุหรือเปล่า เราเป็นคนไทยแม้จะเข้าไปทำธุรกิจที่นั่นมาสามสิบปี ก็จึงไม่ควรจะไปวิจารณ์เขามากจนเกินงามนะครับ เอาเป็นว่าเราไม่เข้าข้างใครทั้งนั้น เราเพียงอยากเห็นสันติภาพและความสงบกลับมาสู่เมียนมาเร็วๆ อย่าให้ประเทศเมียนมาต้องมาถอยหลังกลับไปเหมือนยี่สิบ-สามสิบที่แล้ว เมียนมามาไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปอีกแล้วครับ
       

ส่วนคำถามที่ถามว่าต่างชาติจะมีการแทรกแซงเมียนมาหรือไม่? ต้องตอบว่าเขาแทรงแซงไปแล้วครับ แต่ไปได้แซงชั่นที่รุนแรงเหมือนยุคปี 1988 ยุคนั้นเขาแทรกแซงในขั้นรุนแรงมาก เขาไม่ให้ประเทศใดๆ มาทำนิติกรรมการค้า-การลงทุนกับประเทศเมียนมาเลย จะนำเข้าส่งออกลำบากมาก ไม่ต้องกล่าวถึงการลงทุนด้วยซ้ำไป มีบริษัทน้ำอัดลมหรือน้ำสีดำยักษ์ใหญ่ที่ไปลงทุนในเมียนมา ต้องถูกบีบจนจำเป็นต้องถอนตัวออกไป ทำให้หลงเหลือแต่เครื่องจักรเก่า และเทคโนโลยีไว้ให้คนเมียนมา และต่อมาก็มีนักธุรกิจเมียนมาเข้าไปประมูลกับรัฐบาล ทำการผลิตน้ำอัดลมยี่ห้อ MAX ใส่ขวดขายในเวลาต่อมา จนกระทั่งหลังจากปี 2012 เป็นต้นมา น้ำอัดลมยี่ห้อเดิมนั่นแหละ ถึงเข้ามาทำการตลาดในเมียนมาใหม่อีกครั้ง 

ในครั้งนี้ฝรั่งมังค่าเจ้าเดิม คงไม่โง่เหมือนยุคก่อนแล้วกระมัง จึงได้แต่ประกาศแซงชั่นเป็นรายบุคคลไป ซึ่งก็คือการแทรกแซงในขั้นเบาะๆเบาๆเท่านั้น เขาคงรู้ว่าถ้าแซงชั่นขั้นรุนแรงเหมือนเดิม ก็คงเตะอ้อยเข้าปากช้างไปแล้ว หรือถ้าหากเขาไม่สนใจว่าประชาชนชาวเมียนมาจะเดือดร้อนอย่างไร และดื้อดึงจะแซงชั่นขั้นรุนแรงให้ได้ คนที่ได้ประโยชน์จริงๆก็มีอยู่สี่ประเทศคือ ประเทศจีน ที่เขาไม่สนใจฝรั่งมังค่าอยู่แล้ว กับประเทศไทยที่มีชายแดนติดกับเมียนมายาวสองพันกว่ากิโลเมตร ประเทศอินเดียและประเทศบังคลาเทศ ที่จะได้อานิสงค์ไปด้วย เราจึงไม่ต้องไปกังวลใจมากหรอกครับ เพราะในยุคที่เมียนมาถูกแซงชั่นหนักๆ ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าไปทำมาหากินที่ย่างกุ้ง โดยไม่สนใจการถูกขึ้นบัญชีดำหรือไม่ เพราะบริษัทของผมเป็นบริษัทเล็กๆ เขาไม่ได้ให้ความสำคัญหรอกครับ 

ส่วนคำถามที่สองที่ถามว่า จะจบลงอย่างไรบ้าง อันนี้ใครก็ตอบไม่ได้ครับ ถ้าผมบอกว่าฝ่ายประชาชนที่ออกมาเดินขบวนประท้วงด้วยอาริยะขัดขืน หรือ CDM จะชนะ เกิดดวงซวยๆทหารชนะขึ้นมา ผมก็เข้าประเทศเขาไม่ได้สิครับ อีกอย่างหากผมตอบว่าทหารจะชนะ แล้วฝ่าย CDM กับพรรค NLD เขาเกิดไม่พอใจ ลงขันกันถล่มล้มทับ ก็อ่วมอรทัยสิครับ เพราะฝ่าย CDM เข้ามีอาวุธเป็นมวลชน ที่เข้าถึงทางโซเชี่ยลมีเดียอย่างทั่วถึง รับรองงานนี้รถทัวร์ลงแน่นอน ผมจึงทำตัวให้เป็นกลางให้มากที่สุด ไม่ใช่ขี้ขลาดนะครับ แต่ตาขาวเลยละ ของเขาแรงจริงๆครับ
     

คำถามที่สาม ถามว่า ไทยจะรับมือยังไงกับผู้อพยพหนีภัยสงคราม และพวกที่จะแฝงตัวเข้ามา ? ผมก็ได้แต่ใช้ช่องทางทางด้านสื่อนี่แหละครับ ที่พยายามส่งให้ไปถึงท่านผู้มีอำนาจ ให้ท่านกรุณาระมัดระวังการอพยพลี้ภัยสงครามกลางเมืองไว้ให้ดี เพราะว่าการลี้ภัยการเมืองในครั้งนี้ จะต่างกับเมื่อปี 1988 มาก ในยุคนั้นมีนักศึกษาพม่าลี้ภัยเข้ามารอส่งตัวไปประเทศที่สามเยอะมาก อาจจะมีอะไรซ่อนเร้นอยู่ภายในเยอะแยะ หรืออาจจะเป็นกลลวงให้เราตกหลุมตกบ่อก็เป็นได้ครับ อย่าลืมว่าวันนี้ทั้งสองมหาอำนาจใหญ่ของโลก เขากำลังวางหมากกลอะไรอยู่ เราอาจมองไม่เห็นก็เป็นได้ครับ

อีกประการหนึ่ง ถ้าพวกเราจำกันได้ ในยุคปี 1988 นั้นตามจังหวัดชายแดนของไทย ที่มีชายแดนติดกับประเทศมียนมา จะมีศูนย์อพยพลี้ภัยอยู่แทบทุกจังหวัด ในยุคนั้นกว่าเราจะรื้อศูนย์อพยพหมด ก็ประมาณหลังปี 2000 ไปแล้ว ทางการเราสูญเสียงบประมาณไปมิใช่น้อย แต่ครั้งนี้จะหนักกว่าครั้งที่แล้วเยอะ เพราะนอกจากจะมีผู้ลี้ภัยหนีเข้ามาแล้ว ยังมีของแถมเป็นเจ้าวายร้ายผีน้อย COVID-19 ติดตัวมาด้วย อีกทั้งในยุคนี้กับยุคก่อน มวลชนชาวแรงงานเมียนมาในประเทศไทยเรา มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก ดังนั้นการตามตัวผู้ที่หลบหนีเข้ามา จะยากกว่าเดิมเป็นหลายเท่า เพราะเขามีแหล่งชุมชนของเขาตามเมืองเล็กเมืองใหญ่เยอะมาก ถ้าตามตัวไม่เจอ ก็จะเป็นปัญหาการควบคุมโรคภัย แต่ถ้าตามหาเจอ เขาก็เข้าสู่ศูนย์อพยพด้วยข้ออ้างลี้ภัยทางการเมือง แล้วเราจะรับมือไหวหรือเปล่าละครับ คราวนี้คงชุลมุนชุลเกกันแน่นอนครับ