สัญญา‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’ ประวัติศาสตร์การประมูล(จบ)

30 ม.ค. 2563 | 07:30 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3544 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 30 ม.ค.  - 1 ก.พ.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ


สัญญา‘ไฮสปีด 3 สนามบิน’
ประวัติศาสตร์การประมูล(จบ)


          ผมนำเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 224,544 ล้านบาท ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์การประมูลโครงการขนาดใหญ่ของไทยที่มีความล่าช้าในการเซ็นสัญญายาวนานที่สุด และเป็นบทความที่ยาวที่สุด
          กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือซีพีและพันธมิตร เสนอวงเงินสนับสนุนจากภาครัฐ 117,227 ล้านบาท น้อยกว่าคู่แข่งจึงชนะประมูล แต่กว่าจะมีการลงนามกันได้ต้องใช้เวลาเกือบ 1 ปี 
          สัญญาที่จะลงนามกันนั้นเป็นอย่างไร มาติดตามกันในตอนสุดท้าย ที่ว่าด้วยเรื่องการสละความคุ้มกัน การระงับข้อพิพาท การหักลบกลบหนี้กัน 
          (3) เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูล ดังต่อไปนี้ (ก) เก็บรักษาข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการฯ รวมถึงค่าใช้จ่ายและเงินทุน ข้อมูลเกี่ยวกับบุคลากร ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน ข้อมูลเกี่ยวแผนงาน และการปฏิบัติการในการดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุนให้ครบถ้วนสมบูรณ์พร้อมทั้งจัดทำรายงานตามแบบวิธีการภายในระยะเวลาที่ได้รับอนุมัติจาก รฟท.และ
          (ข) อำนวยความสะดวกให้แก่ รฟท.ในการตรวจสอบข้อมูลที่เอกชนคู่สัญญามีหน้าที่ต้องเก็บรักษาตามข้อสัญญานี้
          39.6 การสละสิทธิ์และการผ่อนปรนเงื่อนไขในสัญญาร่วมลงทุน (1) การที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ใช่สิทธิ์หรือมีความล่าช้าในการใช้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งตามสัญญาร่วมลงทุนรวมถึงกำหนดเวลาและการขยายเวลาให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามสัญญาร่วมลงทุนหรือเพื่อแก้ไขเยียวยาการปฏิบัติผิดสัญญาร่วมลงทุนใดๆ ไม่ถือว่าการสละสิทธิ์ของคู่สัญญาฝ่ายนั้น และไม่จำกัดหรือตัดสิทธิคู่สัญญาฝ่ายนั้น ในอนาคตและไม่ถือว่าการใช้สิทธิใดๆ ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนของคู่สัญญาฝ่ายใดเพียงครั้งเดียวหรือเพียงบางส่วนเป็นการจำกัดการใช้สิทธิอย่างเดียวกันหรือสิทธิอื่นๆ หรือการใช้สิทธิเพิ่มเติมของคู่สัญญาฝ่ายนั้น
          (2) การยกเว้นหรือสละสิทธิ์ใดๆ ของคู่สัญญาฝ่ายใดจะมีผลเป็นการยกเว้นหรือสละสิทธิเฉพาะในเรื่องนั้นและในคราวนั้นเท่านั้น และจะไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของคู่สัญญาฝ่ายนั้นที่ได้มีอยู่ก่อนเว้นแต่จะได้มีการบอกกล่าวอย่างชัดแจ้ง พร้อมทั้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงของเวลา กำหนดเวลาการขยายเวลาหรือการสละสิทธิดังกล่าว
          39.7 การสละความคุ้มกัน ตลอดระยะเวลาของสัญญาร่วมลงทุน เอกชนคู่สัญญาจะยินยอมสละความคุ้มกันจากการฟ้องร้องหรือการบังคับคดีซึ่งตนได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายไทยหรือสัญญาอื่นใดและจะไม่อ้างหรือถือประโยชน์ในความคุ้มกันดังกล่าวหากมีการฟ้องหรือบังคับคดีโดย รฟท.ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน นอกจากนี้เอกชนคู่สัญญาจะดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นของเอกชนคู่สัญญาสละความคุ้มกันจากการฟ้องร้องหรือการบังคับคดีซึ่งผู้ถือหุ้นดังกล่าวได้รับความคุ้มครองและปฏิบัติตามข้อผูกพันตามข้อสัญญานี้ด้วย

          39.8 ค่าใช้จ่ายสกุลเงินและดอกเบี้ย (1) บรรดาค่าใช้จ่าย รวมถึงภาษี อากร ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดขึ้นภายใต้สัญญาร่วมลงทุนและเป็นหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญา เอกชนคู่สัญญาจะเป็นผู้รับผิดชอบแต่ผู้เดียว
          (2) บรรดาการชำระเงินใดๆ ระหว่างคู่สัญญาภายใต้สัญญาร่วมลงทุน คู่สัญญาตกลงให้ชำระเป็นสกุลเงินบาท
          39.9 คำบอกกล่าวหรือรายงาน การส่งหนังสือ คำบอกกล่าว รายงาน การแจ้งหรือการติดต่อใดๆ ที่ได้กระทำขึ้นภายใต้หรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาร่วมลงทุน จะต้องกระทำเป็นหนังสือภาษาไทย และลงลายมือชื่อของคู่สัญญาฝ่ายที่จัดทำเอกสารดังกล่าว โดยการส่งหนังสือนั้นจะส่งโดยตนเอง โดยไปรษณีย์ลงทะเบียนไปยังสถานที่อยู่ของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง หรือโดยจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (E-Mail) ตามที่ได้แจ้งไว้ก็ได้เว้นแต่จะมีการตกลงไว้เป็นอย่างอื่นโดยคู่สัญญา คู่สัญญาตกลงให้ถือว่าหนังสือบอกกล่าวหรือหนังสือติดต่อใดๆ ที่ได้กระทำขึ้นตามข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น มีผลทางกฎหมายไทยว่าเป็นการส่งโดยถูกต้องและคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้รับเมื่อเอกสารดังกล่าวส่งไปถึงตามรายละเอียดที่ระบุด้านล่างนี้ ทั้งนี้รายละเอียดด้านล่างนี้อาจมีการแจ้งเปลี่ยนแปลงในภายหลังโดยคู่สัญญาฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
          39.10 วันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลใช้บังคับ ภายใต้ข้อ 6 สัญญาร่วมลงทุนจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่คู่สัญญาลงนามในสัญญาร่วมลงทุน
          39.11 การมีผลใช้บังคับต่อไปของข้อกำหนดในสัญญาร่วมลงทุน คู่สัญญาตกลงว่าเมื่อมีการสิ้นสุดของสัญญาร่วมลงทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 30 ข้อกำหนดในสัญญาร่วมลงทุนจะมีผลสิ้นสุดลงตามกฎหมายไทย เว้นแต่กรณีตามที่กำหนดไว้ในข้อ 10 ข้อ 21 ข้อ 39.5 ข้อ 39.7 ข้อ 39.9 ข้อ 39.12 ข้อ 39.13 ข้อ 39.15 และข้อสัญญาอื่นใดในสัญญาร่วมลงทุนที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของเอกชนคู่สัญญาต้องดำเนินการภายหลังการสิ้นสุดสัญญาร่วมลงทุนไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามซึ่งข้อสัญญาข้างต้นจะยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปภายหลังการสิ้นสุดลงของสัญญาร่วมลงทุน
          39.12 การระงับข้อพิพาท (1) เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาร่วมลงทุน ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นว่าข้อพิพาทภายใต้สัญญาร่วมลงทุนเกิดขึ้น รวมถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุน คู่สัญญาฝ่ายนั้นมีสิทธิแจ้งให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบถึงการเกิดขึ้นของข้อพิพาทนั้นและเริ่มดำเนินการเจรจากันเพื่อยุติข้อพิพาทโดยฉันมิตร (Amicable settlement of disputes)
          (2) กรณีคู่สัญญาไม่สามารถหาข้อยุติในข้อพิพาทตามที่กำหนดไว้ในข้อ 39.12(1) ได้ภายในระยะเวลาหกสิบ (60)วัน หรือกำหนดระยะเวลาอื่นที่คู่สัญญาอาจตกลงกัน คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจดำเนินการนำข้อพิพาทขึ้นสู่ศาลไทยที่มีเขตอำนาจ เว้นแต่กรณีเอกชนคู่สัญญาเป็นนิติบุคคลต่างประเทศหรือเหตุอื่นใดอันจำเป็น คู่สัญญาอาจระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการก็ได้ซึ่งจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อนลงนามในสัญญาร่วมลงทุน
          (3) ในระหว่างที่ข้อพิพาทยังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามข้อนี้ หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาและยังไม่มีคำพิพากษาอันถือเป็นที่สุดของศาลไทยที่มีเขตอำนาจ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในสัญญาร่วมลงทุนต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยไม่นำเหตุแห่งข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อหยุดการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน

          39.13 การหักกลบลบหนี้ (1) คู่สัญญาตกลงว่าตลอดระยะเวลาของโครงการฯ ให้ คู่สัญญา มีสิทธิหักกลบลบหนี้ใดๆ ของอีกฝ่ายหนึ่งที่ถึงกำหนดชำระ เพื่อชำระหนี้ใดๆ ที่คู่สัญญาฝ่ายใดมีต่อคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง รวมถึงการชำระค่าชดเชยใดๆ อันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาร่วมลงทุนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 30.2
          (2) คู่สัญญาไม่มีหน้าที่ต้องใช้สิทธิในการหักกลบลบหนี้ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 39.13(1) แต่ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดใช้สิทธิในการหักกลบลบหนี้ข้างต้น คู่สัญญาฝ่ายใช้สิทธิจะแจ้งให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าก่อนที่จะมีการหักกลบลบหนี้ดังกล่าว
          39.14 คณะกรรมการกำกับดูแล เอกชนคู่สัญญารับทราบว่าภายหลังจากวันที่สัญญาร่วมลงทุนมีผลใช้บังคับ คณะกรรมการนโยบายจะแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลตามประกาศคณะกรรมการนโยบาย และเอกชนคู่สัญญาตกลงจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ตามที่คณะกรรมการกำกับดูแลกำหนด รวมถึงเข้าประชุมหรือส่งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ ตามที่คณะกรรมการกำกับดูแลร้องขอจากเอกชนคู่สัญญา
          39.15 ภาษาและกฎหมายไทยที่ใช้บังคับ (1) คู่สัญญาตกลงให้สัญญาร่วมลงทุนจัดทำขึ้นเป็นภาษาไทย โดยในกรณีที่มีการจัดทำเนื้อหาส่วนใดของสัญญาร่วมลงทุนเป็นภาษาอังกฤษ และปรากฏกรณีที่ข้อความภาษาอังกฤษมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับข้อความภาษาไทย คู่สัญญาให้ถือปฏิบัติตามข้อความภาษาไทย
          (2) คำบอกกล่าวและเอกสารการติดต่อใดๆ ในระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย และระหว่างคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกับที่ปรึกษาตรวจสอบ รวมถึง คู่มือ ข้อแนะนำ รายงาน ระเบียบ หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน หรือการดำเนินการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุน รวมทั้งการร้องขอ การอนุมัติการให้ความยินยอม เห็นชอบ การโต้แย้ง หรือคัดค้าน การยกเว้น หรือสละสิทธิ์ของคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตามที่กำหนดไว้ในสัญญาร่วมลงทุน หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินการตามสัญญาร่วมลงทุน จะต้องใช้เป็นภาษาไทย เว้นแต่จะได้รับการอนุมัติจาก รฟท.ให้เป็นภาษาอังกฤษ (ไม่ว่าโดยมีหรือไม่มีคำแปลภาษาไทยด้วยก็ตาม) ทั้งนี้ในกรณีที่ รฟท.อนุมัติให้ทำเป็นภาษาอังกฤษ จะต้องมีการจัดทำคำแปลเป็นภาษาไทย ให้ใช้บังคับและถือตามข้อความที่เป็นภาษาไทยเป็นสำคัญ
          (3) คู่สัญญาตกลงให้สัญญาร่วมลงทุนอยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายไทย
          นี่คือสาระทั้งหมดของสัญญารถไฟความเร็วสูงซึ่ งผมได้นำเสนอมาตลอดทั้ง 53 ตอน หวังว่าประชาชนทุกท่าน จะมองเห็นภาพสัญญาประวัติศาสตร์การลงทุนของประเทศไทย


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (52)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (51)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (50)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (49)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (48)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (47)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (46)
สัญญา 'ไฮสปีด 3 สนามบิน' ประวัติศาสตร์การประมูล (45)