เปิดลิสต์เจ้าหนี้ 137 ราย หนุนฟื้นฟู “การบินไทย” ฉลุย

24 ส.ค. 2563 | 02:53 น.

เปิดรายชื่อ 137 เจ้าหนี้ ออกหนังสือสนับสนุน “การบินไทย” ฉลุยทำแผนฟื้นฟู ชี้เจ้าหนี้เครื่องบิน ซัพพอร์ตแลกชำระหนี้ 100% จ่ายตามงวด ด้านเจ้าหนี้รายย่อยผู้ยื่นคัดค้านขอถอนตัวไป 2 ราย เหลือ 14 ราย

     การนัด ไต่สวนคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผ่านมาแล้ว 2 วัน เหลือนัดอีกครั้งในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ปัจจุบันจะเหลือเจ้าหนี้รายย่อยยื่นคัดค้าน อยู่ 14 ราย จากเดิม 16 รายเนื่องจากเจ้าหนี้ผู้คัดค้านที่ 9 คือ นายวีรยุทธ โศภิษฐ์กมล และ รายที่ 16 คือ บริษัท ทิพยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ได้ขอถอนคำคัดค้านออกไป

     อย่างไรก็ตามแม้ศาลจะยังไม่มีคำพากษา แต่ท้ายสุด การบินไทย ในฐานะลูกหนี้ ก็จะได้เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการอย่างแน่นอน เนื่องจากเจ้าหนี้รายใหญ่หลายราย รวมทั้งกระทรวงการคลัง ได้ลงนามในหนังสือสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการ และไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ ซึ่งคิดเป็นจำนวนรวมมากกว่า 50% ของจำนวนหนี้ ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2563 ซึ่งมีหนี้สินรวมอยู่ที่ 332,199 ล้านบาท

 

เจ้าหนี้เครื่องบินหนุน

      ทั้งนี้ขณะนี้มี เจ้าหนี้ออกหนังสือสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการให้การบินไทย รวมแล้วจำนวน 137 ราย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 ส่วนใหญ่เป็น เจ้าหนี้บริษัทผู้ให้เช่าเครื่องบิน (Lessor) สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่สนับสนุนการเช่าเครื่องบิน (Lender) เจ้าหนี้การค้าในต่างประเทศ

     ได้แก่ Tempelhof Aircraft Leasing (Ireland) Limited, Orchard Aviation 41522 (UK) Limited, Aerospace Finance 6771 UK Limited , นภาลักษณ์ ไฮเออะ เพอร์เชส จำกัด (Naparak Hire Purchase Limited), Greylag Goose Leasing 41523Designated Activity Company, Global Aviation Equipment Leasing I lreland Limited, SMBC Aviation Capital (UK) Limited , SMBC Aviation Capital Limited, CIT Aerospace International, สุพรรณิกาไฮเออะ เพอร์เชส ลิมิเต็ด (Supanniga Hire Purchase Limited) , SNC Phaisali Bail , SNC Siusa 1 Bail , SNC Siusa 2 Bail

      คีรี ราช ไฮเอะ เพอร์เชส ลิมิเต็ด (KHIRI RAJ Hire Purchase Limited), สายบุรี ไฮเออะเพอร์เชส ลิมิเต็ด (SAI BURI Hire Purchase Limited), จามจุรี ไฮเออะ เพอร์เชส ลิมิเต็ด (Jamjuree Hire Purchase Limited),ป่าสัก ลิสซึ่ง ลิมิเต็ด (Pasak Leasing Ltd.), SOCIETE AIR FRANCE, KONINKLIJKE LUCHTVAART MAATSCHAPPIUJ NV (KLM)

     ศิริรัตน์ นิคม ไฮเออะ เพอร์เชส ลิมิเต็ด (Khirirat Nikhom Hire Purchase Limited), AA4P Leasing lreland Limited, AA4P Leasing lreland 2 Limited, DP Aircraft UK Limited, AerCap lreland Capital Designated Activity Company,Blowfishfunding Limited,Goldfish Funding Limited, Rhodium Funding Limited ,Strato1 Aviation Limited, BOC Aviation Pte. Ltd., BOC Aviation (Ireland) Limited, Airbus Flight Hour Services Limited, GE Engine Services LLC

เปิดลิสต์เจ้าหนี้ 137 ราย หนุนฟื้นฟู “การบินไทย” ฉลุย

สหกรณ์หุ้นกู้ซัพพอร์ต

    กลุ่มที่ 2 เป็น เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) ,บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM),บริษัท ฟิลลิปประกันชีวิต จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย,บริษัท กรุงไทยพาณิชย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง

    กลุ่มที่ 3 เป็น เจ้าหนี้การค้า ได้แก่ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ,กรมท่าอากาศยาน ,บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด,บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.

    กลุ่มที่ 4 เป็น เจ้าหนี้หุ้นกู้รายย่อย คือ นายปิยกร อภิบาลศรี และเจ้าหนี้สหกรณ์ที่เป็นผู้ถือหุ้นกู้ 89 ราย

   แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เจ้าหนี้ต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ให้เช่าเครื่องบิน ยอมทำหนังสือสนับสนุนการบินไทย ทำแผนและเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องชำระหนี้ให้ 100% ตามงวดที่กำหนดไว้ทุกราย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดลิสต์16เจ้าหนี้ค้าน‘การบินไทย”ปม"อีวาย"บริหารแผนฟื้นฟู
ไต่สวน “การบินไทย” นัด 2 เจ้าหนี้ข้องใจเงินหาย 1 หมื่นล.
"การบินไทย" โล่ง "ทิพยประกันชีวิต" ถอนคำค้านเสนอทำแผน

การบินไทย แจงเหตุผลจ้างอีวาย-กระแสเงินสดลด9พันล.
ทุจริตในองค์กร-ซื้อฝูงบินยุคทักษิณ ฉุด “การบินไทย” ดิ่งเหว

 

    นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่าหากศาลมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการพร้อมตั้งคณะผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอกรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้ง เจ้าหนี้ ทุกรายให้ทราบถึงขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งเจ้าหนี้ต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายใน 1 เดือนนับแต่คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนประกาศในราชกิจจานุเบกษา

เปิดลิสต์เจ้าหนี้ 137 ราย หนุนฟื้นฟู “การบินไทย” ฉลุย

แจงค่าจ้างอีวายฯ

    ในส่วนของการนัดไต่สวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหนี้รายย่อย ยังซักหนักปมจ้าง บริษัท อีวาย แอดไวเซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ทำแผนและบริหารแผนฟื้นฟู โดยเน้นซักถามเรื่องค่าจ้าง ซึ่งการบินไทย แจ้งว่าวงเงินค่าจ้างอีวายอยู่ที่ 22 ล้านบาท เป็นค่าจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ แบ่งการจ่ายค่าตอบแทนดังกล่าวเป็น 3 ระยะ คือระยะแรกเมื่อศาลมีคำสั่งให้การบินไทยเป็นผู้ทำแผน ก็จะจ่ายให้ก่อน 20% หรือ 4.4ล้านบาท ระยะที่ 2 จ่ายเมื่อมีการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าหนี้อีก 60%หรือกว่า 13 ล้านบาท และระยะที่ 3.จ่าย 20% จ่ายเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ

    ทั้งเจ้าหนี้ผู้ยื่นคัดค้าน ยังตั้งข้อสังเกตกระแสเงินสด บมจ.การบินไทยปรับลด ประมาณ 1หมื่นล้านบาท จากไตรมาสหนึ่งถึงไตรมาส 2 นั้น โดยบริษัทลูกหนี้มีเงินสดคงเหลือ ประมาณ 13,000 ล้านบาท แต่งบการเงินสิ้นเดือนมีนาคม 2563 มีเงินสดเหลืออยู่ 23,000ล้านบาท ซึ่งการบินไทย ชี้แจงว่ามาจาก 4 สาเหตุ คือ 1.การด้อยค่าในหนี้สินไทยสมายล์ 2.การจ่ายภาระหนี้และดอกเบี้ยที่ครบกำหนด 3.จ่ายหนี้ตามสัญญาที่ทำไว้กับสถาบันการเงินและ 4.เงินสดไหลออกจากการดำเนินงาน เพราะช่วงโควิดไม่มีรายได้ เนื่องจากไม่มีกิจกรรมของธุรกิจเกิดขึ้น
      ส่วนงบเฉพาะกิจการสิ้นปี 2562 มูลค่าประมาณ 170,000  ล้านบาท ต่อมา ณ วันที่   31มีนาคม  2563 หรือสามเดือน มูลค่าสินทรัพย์ลดลง เหลือ 72,000 ล้านบาทหรือหายไปกว่า 9หมื่นล้านบาท ทั้งนี้มูลค่าสินทรัพย์ที่หายไป เป็นผลจากการบันทึกบัญชีมาตรฐานใหม่และสินทรัพย์ที่ได้มาด้วยการเช่า 

ข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3606 วันที่ 23-26 สิงหาคม พ.ศ.2563