หวั่นรง.ติดเชื้อฉุดส่งออก จี้ฉีดวัคซีนให้จบใน Q3 ลุ้นทั้งปีโตสองหลัก

27 มิ.ย. 2564 | 18:00 น.
อัพเดตล่าสุด :28 มิ.ย. 2564 | 02:37 น.

“จุรินทร์”ฉวยจังหวะเร่งดันส่งออก หลังเดือน พ.ค.ทำนิวไฮ ขยายตัว 41% มากสุดรอบ 11 ปี เอกชน-นักวิชาการลุ้นปรับเป้าเพิ่ม ชี้มีโอกาสโตสองหลัก แต่ยังกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ ลามเข้าโรงงานยันนิคมอุตฯ สะเทือนการผลิตทำพลาดเป้า สรท.จี้รัฐเร่งฉีดวัคซีนภายใน Q3 รับนาทีทองออเดอร์ทะลัก

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนพฤษภาคม 2564 ในส่วนของการส่งออกมีมูลค่า 23,057.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(7.14 แสนล้านบาท) ขยายตัว 41.59% ถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบเกือบ 11 ปี และภาพรวม 5 เดือนแรกส่งออกไทยมีมูลค่า 108,635 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (3.27 ล้านล้านบาท) ขยายตัว 10.7% เป็นผลจากการดำเนินการตามแผนการส่งเสริมการส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ทั้งออฟไลฟ์ และออนไลน์ และการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการส่งออกร่วมกับภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและทันท่วงที

ผนึกเอกชนลุยต่อ

ผนวกกับเวลานี้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐอเมริกา จีน สหภาพยุโรปและญี่ปุ่นฟื้นตัวเร็วกว่าคาดการณ์จากมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ส่งผลดีทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่ม สินค้าไทยพลอยได้รับอานิสงส์ ทั้งนี้ในระยะต่อไป ทางกรอ.พาณิชย์จะเร่งรัดเปิดตลาดใหม่ให้มีผลในภาคปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดตะวันออกกลาง กลุ่มประเทศที่แตกจากรัสเซีย กลุ่มเอเชียใต้ และแอฟริกา การเร่งรัดการค้าชายแดนและผ่านแดน การเร่งจัดทำมินิเอฟทีเอกับเมืองหรือรัฐที่มีศักยภาพของจีน อินเดีย เกาหลี และญี่ปุ่น การเร่งปั้นGen Z เป็นซีอีโอรุ่นใหม่เพื่อทำการค้าออนไลน์และการค้าระหว่างประเทศเป้าหมาย 12,000 รายในปีนี้ เป็นต้น

“กระทรวงพาณิชย์ยังคงเป้าหมายอัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งปีนี้ไว้ที่ 4% แต่จาก 5 เดือนแรกเห็นได้ว่าตัวเลขกลับมาเป็นบวกที่สูง ดังนั้นแนวโน้มการส่งออกจากนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่จะยังไม่มีการปรับเป้าในขณะนี้แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด” นายจุรินทร์ กล่าว

จี้ฉีดวัคซีนคนงานภายใน Q3

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เผยกับ ฐานเศรษฐกิจ” การที่เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นกลับมาฟื้นตัว มองว่าในแง่ตลาดไม่น่ามีปัญหา สินค้าส่งออกของไทยที่คาดว่ายังขยายตัวได้ดี เช่น ยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ถุงมือยาง รวมถึงสินค้ารถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก ผลไม้ มันสำปะหลัง อาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ดียังเป็นห่วงสถานการณ์โควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ระบาดได้เร็วติดเชื้อได้ง่ายจะระบาดเข้าไปในกลุ่มโรงงานมากขึ้นจะส่งผลให้การผลิตและส่งมอบสินค้าเกิดการสะดุด

“ต้องการให้การกระจายและฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ผมว่าไตรมาสที่ 4 อาจจะช้าไปผู้ประกอบการทุกคนมองที่ไตรมาส 3 ต้องฉีดวัคซีนวัคซีนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึงเป็นอย่างช้า เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ให้เร็วที่สุด เพราะถ้าลากยาวไปกว่านี้จะมีผลกระทบในแง่ซัพพลายเชนในห่วงโซ่อุตสาหกรรมการผลิตของไทยแน่นอน ขณะที่ช่วงไตรมาส 3- 4 เป็นช่วงทำเงินของผู้ส่งออก เพราะเป็นช่วงปลายปีถึงสิ้นปีจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก ทั้งจากในอเมริกา จีน ยุโรป ตลาดเปิด ความต้องการจะกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางสรท.พยายามหาทางนำเข้าตู้เปล่าเข้ามาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ภาวะการค้าไทย

อย่างไรก็ตาม มองว่าการส่งออกไทยทั้งปีนี้สามารถขยายตัวได้เกิน 7% (จากที่ สรท.คาดการณ์ไว้ 6-7%) บนเงื่อนไขการผลิตไม่มีผลกระทบจากโควิดไปมากกกว่านี้ ค่าระวางเรือลดลง และจัดหาตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้า ทำได้ดีกว่าในปัจจุบัน

หวั่นลามเข้านิคมอุตฯ

ด้านเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากมีวัคซีนเพียงพอ สามารถฉีดได้อย่างครอบคลุมตามแผนและตามเป้าหมายที่วางไว้ ภาคผลิตเพื่อส่งออกไม่เกิดการสะดุดจากมีผู้ติดเชื้อในโรงงานเพิ่ม ดูจากทิศทางแนวโน้มส่งออกช่วง 5 เดือนแรกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนแล้ว คาดปีนี้ส่งออกไทยอาจจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้น จากเดิมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดจะขยายตัวได้ที่ 5-7% (มิ.ย.64) อาจจะปรับขึ้นได้เป็น 6-9% เนื่องจากเวลานี้ประเทศคู่ค้าหลักเศรษฐกิจฟื้นตัว สต๊อกสินค้าเก่าเริ่มหมด มีความต้องการสั่งนำเข้าเพิ่มขึ้น

“ภาคส่งออกเป็นเครื่อง ยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนและพยุงเศรษฐกิจในปีนี้ ดังนั้นต้องรักษาที่มั่นตรงนี้ให้ดี ซึ่งขณะนี้ได้เห็นสัญญาณอันตรายแล้วว่า การระบาดครั้งนี้ระบาดเข้าไปตามโรงงานหลายโรงงานทั่วไปหมด เพราะฉะนั้นต้องรักษาอย่าให้ทะลุเข้าไปในนิคมอุตสาหกรรม ในภาคการผลิต เพราะจะทำให้สายการผลิตต้องหยุดต้องชะงักลง การส่งออกจะมีปัญหา และบางโรงงานแม้ไม่ได้ส่งออก แต่เป็นซัพลายเชนให้กับอีกหลายๆ อุตสาหกรรมในประเทศที่ต้องไปทำเพื่อส่งออก จะติดขัดกันไปหมด และโรงงานส่วนใหญ่จะใช้แรงงานทั้งคนไทยและต่างด้าว จะทำอย่างไรในการป้องกันคนเหล่านี้ แม้ว่าทุกโรงงานจะมีมาตรการที่ค่อนข้างรัดกุมอยู่แล้ว แต่การระบาดครั้งนี้สูง จึงมีโอกาสเล็ดลอดได้”

โควิดเอาอยู่โตได้2หลัก

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หากไม่รวมปัจจัยเสี่ยงเรื่องโควิด ใน 7 เดือนที่เหลือของปีนี้ถือว่า ภาคการส่งออกของไทยมีทิศทางที่สดใสมาก มีปัจจัยบวกจากตลาดสหรัฐฯ จีน และยุโรปที่เป็นสัดส่วนการส่งออกของไทยรวมกันมากกว่า 30% เศรษฐกิจฟื้นตัว ญี่ปุ่นจัดโอลิมปิกทำให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าเพิ่ม เงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีต่อการแข่งขันของสินค้าไทย โอกาสที่การส่งออกปีนี้จะขยายตัวเป็นตัวเลขสองหลักก็มีลุ้น ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเรื่องโควิดและวัคซีนที่เป็นวาระแห่งชาติจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง