เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ 39 ชนิด  ใกล้สูญพันธุ์

01 มิ.ย. 2564 | 09:55 น.

​​กรมประมง เดินหน้า ขยายพันธุ์สัตว์ หายาก ใกล้สูญพันธุ์ รวม 39 ชนิด เช็กเลย เป็นสัตว์น้ำ ชนิดอะไรบ้าง

ประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของชนิดปลาและสัตว์น้ำมากเป็นแห่งหนึ่งของโลก แต่ปัจจุบันพบว่าสัตว์น้ำบางชนิดลดจำนวนลงและมีความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง การรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่นและการสูญเสียความหลากหลายทางพันธุกรรม ของสัตว์น้ำพื้นเมืองจากการปรับปรุงพันธุ์  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวจึงได้มอบนโยบายให้กรมประมงเร่งพิจารณาแนวหาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่อง

 

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง

 

ดร.วิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำประจำถิ่นหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่กรมประมงได้จัดตั้งขึ้นมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำให้คงความหลากหลายและเพิ่มปริมาณให้มากขึ้นสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตรที่ 5 : ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างความอย่างยั่งยืนบนสังคมสีเขียวและการอนุรักษ์ฟื้นฟู

 

ความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยทางกรมฯ จะดำเนินการผลิตสัตว์น้ำและนำไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทดแทนปริมาณสัตว์น้ำที่ถูกทำลายจากปัจจัยต่างๆ ตามที่กล่าวข้างต้น สำหรับโครงการฯ มีระยะเวลาในการดำเนินการในปี 2564 ครอบคลุมสัตว์น้ำจืดและทะเล โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

ด้านสัตว์น้ำจืด   กรมประมงดำเนินการเพาะขยายและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจืดภายใต้โครงการฯ ตั้งแต่ปี 2561-2563 จำนวน 39 ชนิด รวม 4,412,520 ตัว โดยในครั้งนั้นสามารถเพาะพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมืองครั้งแรกของโลกได้ 2 ชนิด ได้แก่ ปลารากกล้วยจินดา และปลาจิ้มฟันจระเข้ยักษ์ และในส่วนของปี 2564 ได้พิจารณาคัดเลือกสัตว์น้ำจืดจำนวน 36 ชนิด ประกอบด้วย 

 

1. ปลาสร้อยลูกกล้วย

2. ปลาเทพา

3. ปลาเลียหิน

4. ปลารากกล้วยจินดา

5. ปลาแปบควาย

6. ปลาแดง

7. ปลายี่สกไทย

8. ปลาจาด

9. ปลาสร้อยเกล็ดถี่

10. ปลาซิวควาย

11. ปลาชะโอน

12. ปลากะโห้

13. ปลาเวียน

14. ปลาเทโพ

15. ปลาม้า

16. ปลาอีกง

17. ปลาแก้มช้ำ

18. ปลาสลาด

19. ปลาดุกอุย

20. ปลาดุกด้าน

21. ปลากระทิง

22.ปลาพรมหัวเหม็น

 

ปลารากกล้วยจินดา

23. ปลาแขยงหิน

24. ปลากดเหลือง

25. ปลาบ้า

26. ปลาสร้อยนกเขา

27.ปลานวลจันทร์น้ำจืด

28. ปลาจีด

29. ปลาตะพัด

30. ปลาหมอตาล

31. ปลาตุม

32. ปลาพลวงชมพู

33. ปลาร่องไม้ตับ

34. ปลากระดี่มุก

35. กบภูเขา

36.ปลาหลด

 

ปลานางแดง

 

ปัจจุบันดำเนินการปล่อยสัตว์น้ำจืดฯ เรียบร้อยแล้วจำนวน 11 ชนิด ได้แก่ ปลาจีด ปลาตะพัด ปลาสร้อยลูกกล้วย ปลาแปปควาย ปลาแดง ปลาจาด ปลายี่สกไทย ปลาเวียน ปลาดุกอุย ปลาร่องไม้ตับ และปลาชะโอน รวมจำนวนทั้งสิ้น 397,103 ตัว

 

ด้านสัตว์ทะเล

​ด้านการอนุรักษ์สัตว์ทะเลกรมประมงได้ดำเนินงานตามแผนงานยุทธศาสตร์การเกษตรสร้างมูลค่า โครงการบริหารจัดการทรัพยากรประมง กิจกรรมฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ เพื่อเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และคงความหลากหลายทางชีวภาพของทรัพยากรสัตว์ทะเลในพื้นที่ที่เหมาะสมโดยเฉพาะสัตว์น้ำหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ สำหรับปี 2564 กรมประมงได้คัดเลือกสัตว์ทะเล จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ ฉลามกบ หอยหวาน ปลิงกาหมาด เข้าร่วมโครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

1. ฉลามกบ :  ฉลามทำหน้าที่สำคัญในห่วงโซ่อาหารเพราะฉลามทำหน้าที่กำจัดปลาที่เชื่องช้า ป่วย หรือใกล้หมดอายุตามวัย รักษาสมดุลประชากรปลากินพืชให้อยู่ในระดับพอเหมาะ สำหรับประเทศไทยไม่มีการทำการประมงฉลามโดยตรง ส่วนใหญ่ฉลามเป็นสัตว์น้ำพลอยจับได้ (by – catch) อีกทั้งฉลามยังถูกนำมาปรุงเป็นอาหารโดยเฉพาะเมนูซุปหูฉลามส่งผลให้ปริมาณฉลามในธรรมชาติลดจำนวนน้อยลง กรมประมงได้จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลามของประเทศไทย (National Plan of Action for Conservation and Management of Shark, Thailand: NPOA – Sharks) (แผน 5 ปี 2563 – 2567) ภายใต้กรอบแผนปฏิบัติการสากลเพื่อการอนุรักษ์และบริหารจัดการฉลาม (International Plan of Action for the Conservation and Management of Shark: IPOA – Sharks)

 

ปลาตะพัด

 

โดยจะศึกษาและจัดทำฐานข้อมูลชีววิทยา นิเวศวิทยา การใช้ประโยชน์ฉลามในน่านน้ำไทย การประเมินสถานภาพและภัยคุกคามที่เกิดจากการประมงและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อฉลามพร้อมกำหนดมาตรการอนุรักษ์ควบคุมการทำการประมงและการค้าฉลามที่สอดคล้องกับกฎระเบียบ ข้อกำหนด และพันธกรณีระหว่างประเทศ ตลอดจนการพัฒนาและสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการ และการอนุรักษ์ทรัพยากรฉลาม

 

​สำหรับฉลามกบจากรายงานพบว่ามีจำนวนลดน้อยลงสอดคล้องกับรายงานบัญชีแดงขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุฐานะสถานภาพของปลาฉลามกบไว้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกือบอยู่ในข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ หมายถึง ระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้ การประเมินจะดูจากสิ่งมีชีวิตที่ถูกคุกคามหรือสิ่งมีชีวิตที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ในปี 2564 กรมประมงจึงได้คัดเลือกฉลามกบเข้ารวมโครงกาฯ โดยมีแผนศึกษาวิจัยพร้อมปล่อยฉลามกบที่ได้จากการเพาะขยายพันธุ์ในเขตพื้นที่ปะการังเทียมของกรมประมงจำนวน 100 ตัว ปัจจุบันดำเนินการปล่อยครบจำนวนเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

2.หอยหวาน : หอยหวานเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปทั้งอ่าวไทยและอันดามัน

เช่น ตราด ระยอง จันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 500-650 บาท/กก. สำหรับปี 2564 กรมประมงร่วมกับกลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านหนองแฟบ ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง จัดโครงการหอยหวานคืนถิ่นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีเป้าหมายปล่อยหอยหวานจำนวน 50,000 ตัว อีกทั้งยังมีการกำหนดเขตพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์หอยหวานขึ้นโดยเป็นความตกลงร่วมกันของสมาชิกภายในชุมชน และมีการจัดตั้งธนาคารสัตว์น้ำ เพื่อให้ทรัพยากรหอยหวานอยู่คู่กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยองตลอดไป

 

3.ปลิงกาหมาด เป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ เนื่องจากได้รับความนิยมในการจับมาเป็นอาหารและยารักษาโรค จึงถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์เป็นจำนวนมากจนในธรรมชาติมีปริมาณลดจำนวนลงอีกทั้งปลิงทะเลจะขยายพันธุ์ช้ายิ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสตูล กรมประมง จึงได้ทดลองเพาะขยายพันธุ์จนประสบความสำเร็จเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทยและจากความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปลิงทะเลของทางศูนย์วิจัยพัฒนาประมง ฯ ในปี 2563 สามารถปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ ได้จำนวน 1,200 ตัวขนาด 8-10 ซม.ตามแนวปะการังน้ำตื้นชายฝั่ง อ.ละงู และเกาะสาหร่าย อ.เมือง จ.สตูล สำหรับในปีงบประมาณ 2564 ได้เพาะขยายพันธุ์พร้อมปล่อยลูกปลิงขนาด 1-2 ซม. จำนวน 2,800 ตัว ขนาด 8-10 ซม. 200 ตัว โดยคาดว่าจะเริ่มปล่อยได้รอบแรกประมาณเดือน มิถุนายน 2564 ที่บริเวณเกาะสาหร่าย จ.สตูล

 

รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์สัตว์น้ำฯ กรมประมงได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องโดยในแต่ละปีจะคัดเลือกสัตว์น้ำจืดและทะเลที่มีความเสี่ยงหายากหรือใกล้สูญพันธุ์เข้าร่วมโครงการฯ โดยนำมาศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธุ์ เพื่อสร้างความสมดุลในกับระบบนิเวศของแหล่งน้ำธรรมชาติ สำหรับประชาชนผู้สนใจหากต้องการศึกษาพฤติกรรมการดำรงชีวิตสัตว์น้ำประจำถิ่น สัตว์น้ำหายากหรือใกล้สูญพันธุ์ สามารถชมได้ที่ สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำของกรมประมงทั่วประเทศ โดยได้รวบรวมและจัดแสดงพันธุ์สัตว์น้ำมีชีวิตทั้งสัตว์น้ำจืดและทะเล ตลอดจนความรู้เกี่ยวกับอาชีพการทำการประมง เรือประมง และเครื่องมือประมงชนิดต่างๆ จากในส่วนนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ไว้บริการให้กับพี่น้องประชาชนตลอดจนเยาวชนเพื่อสร้างสร้างการรับรู้ให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรสัตว์น้ำของไทย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมประมง โทร.02-562-0600-15