ลุ้น โละสต็อกยาง–จี้เปิดทีโออาร์ 1.04 แสนตัน

14 เม.ย. 2564 | 06:25 น.

ชาวสวนเชียร์ กยท.โละสต็อกยาง 1.04 แสนตัน ทิ้ง ชี้เป็นผลดี ถูกที่ถูกเวลา “อุทัย”  จี้เปิดทีโออาร์  อย่าขายลับๆ  ผวาซ่อนปมทุจริต ปิดดีลไม่จบ เดือน พ.ค. กระทบราคายางตก 

จาการที่ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีความประสงค์จะขายยางในสต๊อกรัฐบาล ใน 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์  53,190.14 ตัน  2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง หรือบัฟเฟอร์ฟันด์ในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  51,572.88 ตัน รวม 2 โครงการ 1.04 แสนตัน (ไม่มีสัญญาซื้อขาย) วงเงินกู้รวม 2 โครงการ 3.16 หมื่นล้านบาท

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์

 

ต่อกรณีดังกล่าวนี้ นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ หรือ กนย. และ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ว่ามติ กนย. เห็นชอบให้ระบายยางโดยไม่กระทบกับเกษตรกร หากขายยางในเดือนนี้ ถึงเดือนหน้า  เห็นว่ามีความเหมาะสม  แต่ถ้าเดือนมิถุนายน ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ปริมาณยางทยอยออกมามากแล้ว หากไม่เสร็จสิ้น จะส่งผลกระทบทำให้ราคายางตกต่ำ ก็จะมีผลกับเกษตรกรโดยตรง

 

อย่างไรก็ดีการซื้อขายยางในสต็อก 1.04 แสนตัน ถูกต้องแล้ว เพื่อลดค่าใช้จ่ายปีละ กว่า 132 ล้านบาท  เพราะเรื่องนี้ยืดเยื้อมากว่า 8-9 ปี แต่ต้องปิดดีลให้ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้  แต่กลัวจะยืดเยื้อ ไปจนถึงเดือนมิถุนายน ราคายางจะร่วงอีก ดังนั้นอยากจะให้ กยท. เปิดทีโออาร์ โปร่งใส ให้แบ่งขายเป็นล็อตเล็กๆ ทยอยขาย เพราะถ้าเทขายล็อตใหญ่ดูแล้วไม่โปร่งใส ควบทำทำสัญญา พร้อมกับวางเงินมัดจำสูง  ที่สำคัญจัดเจ้าหน้าที่ บียู หรือหน่วยธุรกิจ คอยตอบข้อซักถามกับผู้ที่สนใจ  ให้ประกาศขายหน้าเว็บไซต์ ไม่ใช่ขายแบบลับๆ เกรงว่าจะมีเงินทอน  เพราะเรื่องเงินไม่เข้าใครออกใคร

 

ไพรัตน์ เพชรคง

 

ด้าน นายไพรัตน์ เพชรคง กรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) กล่าวว่า ผมว่าขายให้หมดสักทีก็ดีเหมือนกันจะต้องไม่เป็นผีเฝ้าป่าช้าอยู่ให้หลอกหลอนชาวสวนยางจะได้เริ่มต้นกันใหม่

 

เขศักดิ์ สุดสวาท

 

สอดคล้องนายเขศักดิ์ สุดสวาท เลขาเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางระดับประเทศ และประธานคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ถึงการเทขายยางในสต็อก 2 โครงการ รัฐบาล มองในมุมบวก หากมีการขายจริง เป็นเรื่องดี ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า 10 ล้านบาทต่อเดือน 2.ได้เงินค่าธรรมเนียมส่งออกยางพารา (เซสส์) กิโลกรัมละ 2 บาท เมื่อคิดคำนวณออกมาแล้วประมาณ 208 ล้านบาท อีกทั้ง ฤดูการกรีดต่อไปจะไม่มีภาพหลอน รวมถึง บอร์ดชุดต่อไปไม่โดนด่า ย้ำผลประโยชน์ไม่เข้าใคร นอกจากกระเป๋า

 

ประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์

 

ขณะที่ นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ เกษตรกรชาวสวนยาง จ.ปัตตานี  กล่าวว่า  ย้อนเหตุการณ์ไป เมื่อเดือนที่แล้วเราจะเห็นข่าวทางบริษัท บริดจสโตน ผู้ผลิตยางล้อรายใหญ่ของโลกออกข่าวว่าทาง bridgestone ประเทศญี่ปุ่นได้จัดทำฐานข้อมูลด้านยางพาราโลกหรือที่เราเรียกกันว่า Big data  คิดว่าเป็นเพราะในปีที่ผ่านมาผลผลิตยางพาราของประเทศไทยลดน้อยลง เนื่องจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศฝนตกหนัก แห้งแล้งมาก

 

ประกอบกับในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยยังพบโรคใบร่วง ( โรคอุบัติใหม่ของยางพารา ) กินพื้นที่รวมเกือบ 2 ล้านไร่โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสกินพื้นที่  700,000  ไร่ ทำให้ผลผลิตของยางพาราลดลงกว่า 60% ในภาคใต้

 

นายประยูรสิทธิ์   กล่าวว่า จากข่าวข้างบนบ่งบอกว่าเป็นข่าวดีของพี่น้องชาวสวนยางที่จะได้เห็นราคายางพาราที่ 60 บาท/กิโลกรัม  แต่เมื่อ 3 วันก่อนได้มีผู้บริหารของบริษัทในกลุ่มที่เราเรียกกันว่า 5 เสือ ( แต่ตอนนี้เสือได้แปลงร่างเป็นมังกรกันบ้างแล้ว ไม่รู้จะเหลือเสือกี่ตัว )  ได้โทรมาคุยกับผมถามถึงยางพาราในสต๊อกของภาครัฐ " ว่าในประเทศจีนมีข่าวออกมาและกำลังปั่นเป็นกระแสว่ารัฐบาลไทยกำลังเอายางในสต๊อกออกมาขาย “

 

“ผมก็บอกไปว่า "ไม่มีการขายยางในสต๊อกของรัฐอยู่ตลาดแน่นอน " ยืนยันและนอนยันได้  เพราะผมเป็น 1 ในคณะกรรมการติดตามและเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาราคายางและรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยมีคุณอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ไปหยิบยกประเด็นนี้มาพูดคุยกันตลอดและในคณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกร การยางแห่งประเทศไทย ระดับประเทศ นำโดยท่าน ดร.ธีระชัย แสนแก้ว อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเราได้พูดคุยกันในคณะกรรมการตลอดว่า " ยางพาราในสต๊อกจะเป็นฝันร้ายของพี่น้องชาวสวนยาง ที่คอยหลอกหลอนตลอดเวลา "

 

สภาพยางในโกดัง ที่จะขาย 1.04 แสนตัน

 

สรุปผลที่ผมนั่งเป็นคณะกรรมการในหลายๆคณะที่ว่าด้วยเรื่องยางพารา มีความมีความเห็นตรงกันในการบริหารจัดการยางพาราในสต๊อกของภาครัฐจำนวน 104,000 ตัน คือ 1.ไม่ให้เอายางในสต็อกออกมาขายในตลาดทั่วไป ซึ่งจะส่งผลกระทบกับราคายางพาราในตลาด

 

2. ให้นำยางพาราในสต๊อกไปใช้หรือขายให้กับโครงการการใช้ยางพาราในภาครัฐ 3. ถ้ารัฐคิดไม่ออกให้เอาไปทิ้งหรือถมในทะเล ( ข้อ 3. นี้ผมขอเพิ่มเติมเองจากแนวคิดของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ )

 

 มาถึงตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำ... หรือโครงการประกันสินค้าทางการเกษตรต่างๆ ที่ภาครัฐออกนโยบายมา ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ดีเพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาภาระให้กับพี่น้องเกษตรกร เพื่อเพิ่มรายได้ไม่โดนเอาเปรียบในยุคที่การแข่งขันทางการค้าแบบเสรี

 

“เราไม่ได้ว่าพ่อค้าเพราะการแข่งขันทางการค้ามันโหดร้ายในยุคเสรีที่ต้องการกำไรสูงสุดในบางครั้งก็ขาดคุณธรรม ในฝั่งของเกษตรกรเมื่อพืชผลทางการเกษตรตกต่ำก็ออกมาเรียกร้องจากภาครัฐให้มาแก้ไขปัญหาเห็นว่าจะเป็นวัฏจักรวนไปแบบนี้ตลอด  จะเห็นว่าโครงการต่างๆที่ออกมาจากภาครัฐในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรหรือการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วไปเป็นโครงการที่ดีทั้งหมดแต่ปัญหาอยู่ที่การบริหารจัดการของโครงการ ขาดการบูรณาการร่วมของหน่วยงานต่างๆ

 

เช่นเดียวกับปัญหาสต็อกยางพาราที่คอยหลอกหลอนพี่น้องชาวสวนยางตลอดมา  เมื่อราคายางขาขึ้นก็สร้างวาทกรรมออกมาว่า “ยางล้นตลาด”  “ยางล้นโลก” หรือการนำเอาสต็อกยางมาพูด ทำให้ราคายางพาราตก เป็นอย่างนี้ทุกครั้ง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง