ทุกข์ “คนเลี้ยงหมู” โรครุม-ต้นทุนพุ่ง-แบงก์เมิน

02 ก.พ. 2564 | 11:25 น.

“บรรจบ สุขชาวไทย” นักวิชาการด้านปศุสัตว์ ได้เขียนบทความเรื่อง ทุกข์คนเลี้ยงหมู โรครุม-ต้นทุนพุ่ง-แบงก์ไม่ปล่อยกู้กระทบสภาพคล่อง ความว่า

 

กว่า 2 ปีแล้วที่วงการหมูไทย “ชนะ” โรคสำคัญอย่าง ASF ที่กรมปศุสัตว์ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการคุมเข้มป้องกันเต็มพิกัดทุกพื้นที่ จนประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม

 

ซึ่งหนึ่งในปัจจัยความสำเร็จ คือการที่รัฐจ่ายค่าชดเชยแก่เกษตรกรรายย่อยในกลุ่มเสี่ยง ที่สัดส่วน 75% ของมูลค่าหมู กรณีที่ต้องทำลายหมู ทำให้เกษตรกรพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่ แต่ในกรณีที่พบความเสี่ยงในฟาร์มขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ เกษตรกรกลับไม่ได้รับการชดเชยค่าเสียหายเหมือนกับฟาร์มหมูรายย่อย จึงเกิดเป็นช่องว่างทำให้ฟาร์มเหล่านี้ ต้องแก้ปัญหากันเองด้วยการตัดตอนนำหมูออกขายก่อน เพื่อลดความเสียหายและความเสี่ยงที่จะมีต่อฟาร์มของตนเอง ทำให้มีการกระจายของโรคเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วยากที่จะควบคุม

 

ทั้ง ๆ ที่ เรื่องการชดเชย ควรดำเนินการให้ครบในทุกระดับ ทุกฟาร์ม ทั่วประเทศ แบบไม่เลือกปฏิบัติในฟาร์มใดฟาร์มหนึ่ง เหมือนกับที่ประเทศในแถบยุโรปให้ค่าชดเชยแบบ 100% เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรร่วมสนับสนุนมาตรการป้องกันให้เข้มแข็ง และยังเป็นกำลังใจให้เกษตรกรได้ร่วมกันเดินหน้าในอาชีพต่อ 

 

ยิ่งวันนี้ที่คนเลี้ยงหมูต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทั้งโรค PRRS PED และ APP แม้ว่าจะเกิดการระบาดเฉพาะในหมูไม่มีติดต่อสู่คนหรือสัตว์อื่น ๆ  แต่มีความร้ายแรงสำหรับหมู ทำให้ผลผลิตหมูเสียหายเป็นอย่างมาก 

 

 

ความเสียหายของฝูงสัตว์นี้กระทบกับต้นทุนการเลี้ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากเดิมที่ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มสูงไปถึงกิโลกรัมละ 75 บาท จากปัจจัยการยกระดับการป้องกัน ASF และโควิด-19 ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น และผลกระทบจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนในปัจจุบัน ร้อนจัดสลับอากาศเย็น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเสียหายในฟาร์มหมูมากขึ้น แต่วันนี้ต้นทุนการเลี้ยงหมูเฉลี่ยในปัจจุบันสูงถึง 80 บาทต่อกิโลกรัม หรือ 8,000 บาทต่อตัว เท่ากับว่าเกษตรกรขายหมูเท่าทุน ทำให้ไม่เหลือเงินไว้ต่อทุนเลี้ยงรอบใหม่ด้วยซ้ำ

 

ที่สำคัญปัจจุบันสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็ไม่พิจารณาอนุมัติเงินกู้ยืมให้กับเกษตรกร ทำให้ขาดสภาพคล่องยิ่งขึ้นไปอีก

 

วันนี้เกษตรกรหลายรายจึงจำเป็นต้องเลิกเลี้ยงหมู หรือเข้าเลี้ยงในปริมาณจำกัดเพื่อลดความเสี่ยง เมื่อผนวกกับความเสียหายจากภาวะโรคดังกล่าว ทำให้ปริมาณหมูหายจากระบบไม่ต่ำกว่า 30% ขณะที่ความต้องการบริโภคหมูพุ่งสูงขึ้นไปต่อเนื่อง หากราคาจะขยับบ้างก็เป็นไปตามกลไกตลาด และเพียงช่วยต่อลมหายใจเกษตรกรเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรหมูไทยก็ยังคงราคาถูกที่สุดในภูมิภาค เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆที่ประสบปัญหา ASF อย่างเช่น จีนที่ราคาหมูมีชีวิตปรับขึ้นไปถึง 175 บาทต่อกิโลกรัม เวียดนาม 104 บาทต่อกิโลกรัม กัมพูชา 102 บาทต่อกิโลกรัม และเมียนมา 86 บาทต่อกิโลกรัม 

 

ทุกข์ “คนเลี้ยงหมู” โรครุม-ต้นทุนพุ่ง-แบงก์เมิน

 

ความสำเร็จในการป้องกัน ASF ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการป้องกันโรคอื่นๆในหมู วันนี้การปูพรมช่วยเหลือผู้เลี้ยงทั้งประเทศน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด อย่าปล่อยให้อุตสาหกรรมหมูไทย ซึ่งเป็นสินค้าปศุสัตว์เดียวที่ช่วยนำพาเศรษฐกิจชาติในวิกฤติเช่นนี้ต้องถูกทำลายลง ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดเสถียรภาพและความยั่งยืนแก่อุตสาหกรรมหมู ที่จะเป็นเรือธงให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตได้อย่างไม่ยากนัก จากความเข้มแข็งของทุกภาคส่วน และคุณภาพหมูไทยซึ่งเป็นที่ต้องการของทุกประเทศ ถือเป็นโอกาสที่เปิดกว้างอย่างยิ่งของเกษตรกรไทยและประเทศ เช่นเดียวกับความสำเร็จที่ภาครัฐสามารถสนับสนุนให้ไทยกลายเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่เป็นอันดับ 4 ของโลก ด้วยปริมาณส่งออกมากถึง 9.37 แสนตัน นำเงินตราต่างประเทศเข้าไทยปีละกว่า 1.09 แสนล้านบาท 

 

ขณะเดียวกันความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน ยังคงเป็นทางออกที่ปลายอุโมงค์สำหรับคนเลี้ยงหมู เพื่อต่อสายป่านที่หดสั้นให้ยาวขึ้นและสามารถเดินหน้าอาชีพเดียวของพวกเขาต่อไป และไม่เพียงการปกป้องอาชีพเลี้ยงหมูให้อยู่คู่ไทย ยังเป็นการปกป้องผู้บริโภคไม่ให้ประสบปัญหาราคาหมู เฉกเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ทั่วภูมิภาคนี้ที่ต้องจ่ายเงินแพงขึ้น เพราะไม่มีคนเลี้ยงหมู ซึ่งเป็นสิ่งที่เกษตรกรทั้งประเทศไม่อยากให้เกิดขึ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตือนอย่าหลงใช้ “วัคซีนเถื่อน” เสี่ยงโรคระบาดหมูยากควบคุม

นิด้าโพล เปิดผลสำรวจ "หมู-ยาง" ราคาดี ฝีมือ”เฉลิมชัย”

ราชกิจจาฯเผย “ประกาศกรมปศุสัตว์” ชะลอนำเข้าหมู-หมูป่า จากจีน 

ผู้เลี้ยงหมูโอด “ASF-โควิด” ทำต้นทุนพุ่งตัวละ 300 บาท

สินค้าเกษตรส่งออกปีฉลู มัน-ไก่-หมู ดาวรุ่ง “ข้าว-น้ำตาล-ยาง”รอลุ้น