เลียนโมเดล“อีอีซี” จุดพลุเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ ตั้งเป้า6เดือนรู้ผล

19 มกราคม 2564

กระทรวงเกษตรฯ ซุ่มปั้นโปรเจ็กต์ ตั้งไข่เขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ เลียนโมเดล “อีอีซี”“ หวังพลิกชีวิตเกษตรกรก้าวสู่เกษตรอุตสาหกรรม พ่วงกฎหมายใหม่พิเศษรองรับ สวก.รับลูกเร่งหานักวิจัย ป้อนการบ้าน ตั้งกรอบการทำงานให้แล้วเสร็จใน 6 เดือน

 

ไทยเป็นประเทศส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ในระดับท็อปเท็นของโลก โดยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 6-8 ล้านล้านบาทต่อปี โดยตลาดส่งออกหลักสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ของไทยได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา สินค้าส่งออกสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกสูงในลำดับต้นๆ ได้แก่ ข้าวและ มันสำปะหลัง นํ้าตาลและผลิตภัณฑ์ ยางพารา นํ้ามันปาล์ม เนื้อไก่และผลิตภัณฑ์, ปลาหมึกและผลิตภัณฑ์ และกุ้งและผลิตภัณฑ์ ผลไม้และผลิตภัณฑ์ เนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์ นมและผลิตภัณฑ์ และปลาและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 

 

ทั้งนี้แม้ไทยจะมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สูง และมีสินค้าที่หลากหลาย แต่มีคำถามคือ ทำไมเกษตรกรไทย จึงยังมีฐานะยากจน ดังนั้นเพื่อพลิกชีวิตเกษตรกร และสินค้าในพื้นที่ให้เกิดการบูรณาการอย่างสมบูรณ์แบบ ตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้าจนถึงการส่งออก กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์อยู่ระหว่างการร่างกฎหมายพิเศษเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ (Special Agricultural Economic Zone : SAEZ) โดยเลียนโมเดลของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี 

 

นายฉันทานนท์  วรรณเขจร  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) และในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่อง จัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ (SAEZ) หรือ “อีอีซี ภาคการเกษตร” เป็นโครงการใหม่ มีแผนจะทำเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษข้าว เขตเศรษฐกิจพิเศษยางพารา เขตเศรษฐกิจพิเศษมันสำปะหลัง  เป็นต้น โดยอยู่ระหว่างการเตรียมศึกษาวิจัย จาก สศก.เห็นจุดอ่อนหลายอย่างในการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย และมองว่าการพัฒนาในเชิงพื้นที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าการพัฒนาในเชิงภาพรวม โดยจะดูพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งต่อไป 

 

นอกจากนี้จะดูโอกาสทางการตลาดของสินค้า ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับการใช้พื้นที่ กระบวนการจะทำตั้งแต่ต้นนํ้าถึงปลายนํ้า ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนวทางจะทำในปีนี้โดยกำลังร่วมกับหลายสถาบันในการศึกษากฎหมาย เพื่อให้มีกฎหมายพิเศษออกมาเพื่อรองรับในพื้นที่ดังกล่าว

 

นายฉันทานนท์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้อาจจะเคยได้ยินข่าว เช่น ซาอุดีอาระเบีย จะมาเช่าพื้นที่ไทยปลูกข้าว ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาต แต่การที่จะดึงซาอุดีอาระเบียมาเปิดโรงงานแล้วมีการทำสัญญากับเกษตรกรเพื่อทำเกษตรแบบมีพันธสัญญา (คอนแทร็กฟาร์มมิ่ง) ระยะ 10-20 ปี ก็จะมีความมั่นคงทางอาหารร่วมกัน  

 

สอดคล้องกับ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร  (สวก.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สวก.คือ การให้ทุนวิจัย ซึ่งหนึ่งในการวิจัยให้ทุนวิจัยเชิงนโยบายได้ด้วยนอกจากเชิงพาณิชย์ ซึ่งเรื่องจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษนี้เป็นการวิจัยเชิงนโยบาย เป็นผลจากรัฐบาลได้ออกนโยบายมาหลายมาตรการ โดยเฉพาะเรื่องอีอีซี  สศก. มองว่าปัจจุบันเกษตรกรที่เป็นต้นทางการผลิตวัตถุดิบทั้งหมด สามารถป้อนสินค้าให้พื้นที่อีอีซีได้ด้วย

 

“ทางเลขา สศก.ได้ให้แนวทางการศึกษาวิจัยเชิงนโยบายว่า ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคการเกษตร ควรจะมีเศรษฐกิจพิเศษ แล้วถ้ามีควรจะมีรูปแบบใดเพื่อยกระดับการผลิตของภาคการเกษตรโดยเฉพาะต้นทางกับกลางทาง หรือหากเป็นปลายทางก็จะเป็นการแปรรูปเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เกษตรกรก็พัฒนาตนเอง เพิ่มมูลค่า เช่น ภาคอีสาน จะมีข้าวหอมมะลิ ถ้าต้องเสนอรัฐบาลจะต้องทำงานวิจัยเชิงนโยบายว่าทำไมถึงต้องมีเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเกษตร จุดแข็งและข้อดีคืออะไร ใครได้รับประโยชน์บ้าง เป็นต้น”

 

สินค้าเกษตรส่งออก

 

สำหรับ กรอบแนวทางการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจการเกษตรพิเศษ อาจจะมีได้ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) หรือ ภาคเหนือ 1 แห่ง หรือ 2 แห่ง จะส่งสินค้าไปที่ภาคตะวันออก เป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับการศึกษาวิจัย โดยจะใช้งบประมาณของปี 2564 จะหารือกับ สศก.ให้จบในไตรมาส 2 เพื่อ สรุปว่าจะให้ใครมาทำงานวิจัย กรอบการศึกษา อยากทราบอะไร และไตรมาสที่ 3 จะส่งแนวคิดให้กับนักวิจัยไปศึกษา อยากจะให้แล้วเสร็จไม่เกิน 6 เดือน เพื่อให้ได้ข้อเสนอออกมาในปลายปีงบประมาณ 

 

ที่มา : หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,645 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“กนอ.” ชี้ “อีอีซี” ปัจจัยบวกการลงทุนปี 64

"สุริยะ" ปั้น “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ยกระดับ “เศรษฐกิจชุมชน” ดูดเงินทุนไทยและต่างประเทศ

“กนอ.”เปิดโปรฟรีค่าเช่า-ค่าบำรุง-ลดราคา ผ่อนชำระปลอดดอกเบี้ย นาน 6 เดือน “นิคมฯยาพารา”