“กนอ.” ชี้ “อีอีซี” ปัจจัยบวกการลงทุนปี 64

20 ธ.ค. 2563 | 05:35 น.

“กนอ.” ชี้ “อีอีซี” ปัจจัยบวกการลงทุนปี 64 พร้อมโชว์ปี 63 ยอดลงทุนนิคมอุตสาหกรรมพุ่งกว่า 2 แสนล้านบาท

นางสาวสมจิณณ์  พิลึก  ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 64 ถือว่ามีแนวโน้มที่ดี เพราะมีปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการลงทุน  ทั้งความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่อีอีซี (EEC Project List) ทั้ง 5 โครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่ทุกโครงการมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนโยบายพัฒนาภาคอุตสาหกรรมหลังสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับทิศทางให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งส่งเสริมการผลิตในประเทศเพื่อสร้าง Supply Chain ส่งเสริมการผลิตและส่งออกสินค้าศักยภาพสูงในกลุ่ม New S-Curve ผนวกกับการที่รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมเพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูให้เกิดการลงทุนในกิจการการผลิต เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นต้น

ขณะเดียวกันรัฐบาลยังมีเป้าหมายหลักในการส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดึงดูดให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่ง กนอ.มีแผนดำเนินการรองรับไว้แล้ว เช่น การวางโครงข่ายระบบโทรคมนาคม 5G การสร้างเมืองอัจฉริยะและการเตรียมบุคลากรแรงงานที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะเข้ามาลงทุน

“กนอ.” ชี้ “อีอีซี” ปัจจัยบวกการลงทุนปี 64

              ส่วนผลประกอบการ กนอ.ปีงบประมาณ 63 (ตุลาคม 62-กันยายน 63) นั้น ภาพรวมการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภายใต้การกำกับดูแลของ กนอ.ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมที่ กนอ.บริหารงานเองและนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงานกับภาคเอกชน จำนวน 60 นิคมอุตสาหกรรม และ1 ท่าเรืออุตสาหกรรม ในพื้นที่ 16 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีนิคมอุตสาหกรรมที่เซ็นสัญญาในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2 แห่ง คือ

นิคมอุตสาหกรรมโรจนะชลบุรี 2 (เขาคันทรง) และนิคมอุตสาหกรรมเอเชียคลีน เป็นผลให้มีพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ประมาณ 178,654 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับขาย/เช่า ประมาณ 118,344 ไร่ และพื้นที่ขาย/เช่าสะสม ประมาณ 90,149 ไร่ และมีพื้นที่คงเหลือ 28,195 ไร่  มีมูลค่าการลงทุนในภาพรวมประมาณ 4.01 ล้านล้านบาท  มีโรงงาน 5,077 แห่ง และมีการจ้างงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 524,774 คน

นางสาวสมจิณณ์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในภาพรวมแม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัวและอาจส่งผลกระทบบ้าง เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้การเดินทางจากต่างประเทศเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตาม กนอ.ได้รับอานิสงค์จากฐานลูกค้าเดิมในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในช่วงนี้เป็นผลให้ผลประกอบการของ กนอ.ในปีงบประมาณ 63 (สิ้นสุด ณ ก.ย.63) มีมูลค่าการลงทุนทั้งหมด 2.39 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 62 ที่มีจำนวน 3.05 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 683.02 % 

ซึ่งจะเห็นได้ว่ามูลค่าการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องมาจากการลงทุนเพิ่มของฐานลูกค้าเดิมที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง ก่อให้เกิดการจ้างงาน 32,753 คน เพิ่มขึ้น 494.21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งมีการจ้างงาน 5,512 คน ขณะเดียวกันมียอดขาย/เช่าที่ดิน ในปี 63 ประมาณ 2,150.45 ไร่ ซึ่งลดลงจากปีก่อนเพียงเล็กน้อย 1.52 % ที่ขายได้ 2,183 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่ในอีอีซี จำนวน 1,840.58 ไร่ และนอกอีอีซี จำนวน 309.87 ไร่

“กนอ.คาดว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นโอกาสลงทุน โดย กนอ.จะใช้โอกาสนี้เสริมสร้างศักยภาพของการให้บริการระบบสาธารณูปโภค ด้วยการยกระดับมาตรฐานการให้บริการสู่  Facility 4.0 ควบคู่กัน เช่น การติดตั้งมิเตอร์วัดน้ำอัจฉริยะ (smart meter) แทนมิเตอร์น้ำในรูปแบบเดิม และยกระดับการให้บริการอนุมัติอนุญาต (Total Solution Center :TSC) ให้เป็น Super TSC เป็นต้น”

ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการให้บริการระบบสาธารณูปโภคและการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามมาตรฐานสากล และยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในนิคมฯซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในปี 64 กนอ.จะมียอดขาย/เช่าพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 2,500 ไร่ และสามารถจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ได้ประมาณ 2-3 แห่ง

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม 5 อันดับแรก ที่นักลงทุนให้ความสนใจลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมปีงบประมาณ 63 ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์ และการขนส่ง 2.อุตสาหกรรมเหล็ก และผลิตภัณฑ์โลหะ 3.อุตสาหกรรมยาง พลาสติก และหนังเทียม 4.อุตสาหกรรมเครื่องยนต์ เครื่องจักร และอะไหล่ 5.อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องมือวิทยาศาสตร์

“ประเทศที่ลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน ออสเตรเลีย และฮ่องกง ตามลำดับ ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับของกนอ.มีศักยภาพพร้อมรองรับการลงทุนอย่างเต็มที่ทั้งในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคต่างๆอย่างครบถ้วน”