อียูตัดสิทธิ-โควิดทุบ ฐานผลิตกัมพูชาสลบ บิ๊กการ์เมนต์ไทยกัดฟันสู้

11 ธ.ค. 2563 | 04:21 น.

กัมพูชาอ่วม หลังอียูเพิกถอนสิทธิ EBA-โควิดทุบซํ้า 9 เดือนแรกโรงงานเสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์สำหรับการเดินทางกว่า 100 แห่งต้องปิดกิจการ สะเทือนทุนการ์เมนต์ไทย สั่งลดกำลังผลิต ลดคนงาน แต่ยังคงฐานผลิต ลุ้นได้คืนสิทธิปีหน้า

จากที่สหภาพยุโรป (อียู) ได้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ทางภาษี (Everything But Arms หรือ EBA) ที่ให้กับกัมพูชาเป็นการชั่วคราวสำหรับสินค้าบางประเภทที่อียูนำเข้าจากกัมพูชา เช่น เครื่องนุ่งห่มและรองเท้าบางรายการ อุปกรณ์สำหรับการเดินทางทุกรายการ รวมถึงสินค้านํ้าตาล จากมีความกังวลต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2563 ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจ และการค้าโลกชะลอตัวได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโรงงานผลิตสินค้าในกัมพูชาในเวลานี้

 

กระทรวงแรงงานและการฝึกอบรมวิชาชีพกัมพูชา ระบุว่า ช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 มีโรงงานในกลุ่มเสื้อผ้า รองเท้า และอุปกรณ์สำหรับการเดินทางกว่า 100 แห่งได้ปิดตัวลง ส่งผลแรงงานถูกเลิกจ้างกว่า 55,174 คน โดยภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ การผลิตเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจของกัมพูชา ผลกระทบจากการถูกเพิกถอนสิทธิ EBA และผลกระทบจากโควิด ทำให้ปริมาณการสั่งผลิตสินค้าลดลงอย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งยอดสั่งผลิตจากอียูและสหรัฐฯที่เป็นตลาดหลัก ทำให้หลายโรงงานที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นอียู และสหรัฐฯต้องปิดตัวลง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ข้าว-มัน-อัญมณี-การ์เมนต์” ดิ้นสู้ส่งออกทรุด

6 คาถา“การ์เมนต์”อยู่รอด ยุคโควิด- New Normal ไล่ล่า

วิกฤติรอบ 60 ปี การ์เมนต์เผาจริง อนาคตนำเข้าแซงส่งออก

การ์เมนต์CLMVระสํ่า ‘ไนซ์กรุ๊ป’ปรับแผนสู้

นายประสพ จิรวัฒน์วงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไนซ์กรุ๊ป ผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬารายใหญ่ของประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ฐานการผลิตของกลุ่มที่เกาะกง ในกัมพูชาได้รับผลกระทบจาก 2 ปัจจัยหลักข้างต้นอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะการตั้งโรงงานในกัมพูชามีเป้าหมายเพื่อใช้สิทธิ EBA ในการส่งออกสินค้าไปอียูเป็นหลัก ทำให้ทางกลุ่มต้องปรับลดคนงานลงจาก 5,000-6,000 คน ลงเหลือ 4,000-5,000 คน และลดกำลังการผลิตลงประมาณ 10%

 

อียูตัดสิทธิ-โควิดทุบ ฐานผลิตกัมพูชาสลบ  บิ๊กการ์เมนต์ไทยกัดฟันสู้

                               ประสพ  จิรวัฒน์วงศ์

 

“การถูกถอนสิทธิ EBA ทำให้สินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจากกัมพูชาไปอียูต้องเสียภาษีนำเข้า 8-12% หรือเฉลี่ยที่ 10% แล้วแต่พิกัดศุลกากร แต่บริษัทยังคงฐานการผลิตในกัมพูชา ไม่มีการถอนหรือย้ายฐานเพื่อรอสถานการณ์กลับมาดีขึ้น”

 

เช่นเดียวกับนายสุกิจ คงปิยาจารย์ กรรมการผู้จัดการ ฮงเส็งกรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกเสื้อผ้ากีฬา มีฐานการผลิตที่เมืองศรีโสภณ ที่กล่าวว่า การลงทุนของบริษัทในกัมพูชามีเป้าหมายหลักเพื่อใช้สิทธิ EBA ส่งออกไปตลาดอียู ขณะที่สินค้าเสื้อผ้าที่อียูเพิกถอนสิทธิ EBA ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเสื้อยืด และเสื้อกีฬา ซึ่งเป็นกลุ่มเสื้อผ้าหลักที่อียูนำเข้าจากกัมพูชาทำให้ได้รับผลกระทบมาก เพราะเดิมได้รับการยกเว้นภาษี แต่ปัจจุบันต้องเสียภาษีนำเข้า 11-12% ประกอบกับผลกระทบจากโควิดที่เกิดขึ้นในยุโรปและทั่วโลกทำให้ยอดสั่งซื้อลดลงอย่างมาก

 

อียูตัดสิทธิ-โควิดทุบ ฐานผลิตกัมพูชาสลบ  บิ๊กการ์เมนต์ไทยกัดฟันสู้

                             สุกิจ  คงปิยาจารย์   

ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องปรับลดกำลังผลิตสำหรับโรงงานในกัมพูชาลงครึ่งหนึ่ง และปรับลดคนงานที่มีอยู่ 3 โรง ที่ก่อนหน้านี้มีคนงานประมาณ 1,000 คนต่อโรง เวลานี้ลดลงเหลือ 400-500 คนต่อโรง โดยที่ยังคงฐานการผลิตในกัมพูชาไว้เพื่อรอเวลาฟื้นตัว สำหรับสินค้าจากฐานผลิตในกัมพูชาช่วงนี้ส่งออกไปอียูน้อยเพราะตลาดยังไม่ฟื้น ขณะที่มีการส่งออกไปสหรัฐฯที่ตลาดยังพอไปได้ แต่ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 18-30% (แล้วแต่พิกัดสินค้า)

 

ด้านนายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า ในภาพรวมโรงงานการ์เมนต์ไทยในกัมพูชาได้ปรับแผนสำหรับปี 2564 ในการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯเพิ่มขึ้น จากมีคำสั่งซื้อในสหรัฐฯมากขึ้น ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จะครบ 6 เดือนที่อียูได้ให้เวลากัมพูชาปรับตัวในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน และจะพิจารณาทบทวนสิทธิ EBA หากกัมพูชาดำเนินการได้เป็นที่พอใจก็จะคืนสิทธิให้ คาดจะมีผลในเดือนสิงหาคม 2564 แต่หากไม่เป็นที่พอใจก็จะยังคงเพิกถอนสิทธิต่อไป

 

“ตัวเลขการส่งออกการ์เมนต์จากฐานผลิตในทุกประเทศ ไม่ว่าไทย กัมพูชา เวียดนาม เวลานี้ลดลงหมด ทุกที่ จากผลกระทบโควิดทำให้ดีมานต์ลดลงทั่วโลก แต่หวังว่าปีหน้าจะค่อย ๆ ดีขึ้น เพราะมองว่าน่าจะใช้เวลาปี 2564-2565 หรือ 2 ปี ถึงจะกลับไปปกติเหมือนปี 2562 ได้ เพราะกว่าวัคชีนจะได้ครบกันหมดทุกประเทศก็คงปลายปี 2564 และคนจะเดินทาง รวมถึงติดต่อธุรกิจได้ปกติอย่างเร็วสุดในปี 2565

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1 ฉบับที่ 2634 วันที่ 10-12 ธันวาคม พ.ศ. 2563