ม็อบยื้อกระทบ FDI ไหลเข้า ญี่ปุ่นขอคำตอบไทยร่วม CPTPP

22 พ.ย. 2563 | 03:47 น.

ม็อบยื้อ กระทบเชื่อมั่นทุนต่างชาติไหลเข้าหลังโควิด “กลินท์”ประธานสภาหอการค้าฯ หวั่นบริษัทญี่ปุ่นย้ายฐาน หลังส่งสัญญาณให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP แต่ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยเดือนตุลาคม 2563 ระบุปัจจัยลบที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นของหอการค้าทั่วประเทศ ที่สำคัญ ประกอบด้วย สถานการณ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเยาวชน และประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ที่อาจส่งผลประเทศไทยจะต้องเผชิญกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้การดำเนินชีวิตของประชาชน และการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ความกังวลจากการที่สหรัฐฯตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทยเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

 

นอกจากนี้ยังกังวลเรื่องค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งสะท้อนว่ามีเงินทุนจากต่างประเทศสุทธิไหลเข้าประเทศไทย และผลจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ของโควิด-19 ที่อาจจะกลับมาจากการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

ขณะที่มีปัจจัยบวก เช่น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563  ใหม่ คาดทั้งปีจะติดลบ 7.7%  จากเดิมคาดว่าจะติดลบ 8.5% มาจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเริ่มเปิดประเทศส่งผลให้มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น, รัฐบาลดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี ประกอบด้วยโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” โครงการ “คนละครึ่ง” และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เป็นต้น

 

 ข่าวที่เกี่ยวข้อง

FDI ไทย ‘ไร้แต้มต่อ’ จับตาปี 64 ยังขาลง

ฮานอย-เวียดนามยังหอมไกล FDI ไหลเข้า 4 เดือนกว่า 1.5 แสนล้าน

CPTPP “ไบเดน” มาแน่ ไทย จะเอาอย่างไร

นายกลินท์  สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” โดยยอมรับว่า สถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ที่ยังมีการชุมนุมยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จะเข้ามาลงทุนในไทยแน่นอน เพราะเขาต้องมองว่าบ้านเมืองเราสงบเรียบร้อยดีหรือไม่ และจับตามองว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อ หรือจบอย่างไร ซึ่งต่างชาติต้องนำไปเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งขันทั้งด้านเสถียรภาพทางการเมือง สิทธิประโยชน์ทางการค้าเมื่อเข้ามาลงทุนแล้วมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) แล้วกับประเทศใดบ้าง และเตรียมเจรจากับประเทศใดบ้าง รวมถึงความพร้อมด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ

 

“ที่ผ่านมาญี่ปุ่นยังมาขอรับส่งเสริมการลงทุนในไทยเป็นอันดับ 1 ส่วนหนึ่งจากถอนการลงทุนจากจีนมา จากผลกระทบสงครามการค้ากับสหรัฐฯ และต้นทุนการผลิตในจีนที่สูงขึ้น ขณะที่นักลงทุนจากจีนส่วนหนึ่งก็ไปลงทุนในเวียดนาม ส่วนหนึ่งก็มาไทย ภาพรวมการมาขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ตัวเลขจากบีโอไอก็ลดลงทั้งด้านจำนวนโครงการและเงินลงทุน ซึ่งอาจเป็นผลกระทบจากโควิด และตลาดโลกลดลงด้วย และเวลานี้เขาอาจจะกำลัง West and See เพื่อรอดูสถานการณ์ทางการเมืองไทย รวมถึงจะมีการเจรจาเอฟทีเอใหม่ ๆ หรือไม่”

 

ทั้งนี้นายกลินท์ ระบุว่า ทุนจากญี่ปุ่นบอกเลยว่าขอให้ไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP (ญี่ปุ่นเป็นประเทศแกนหลักในความตกลง CPTPP)  เพราะเป็นเรื่องจุดที่เขาซีเรียส(กังวล)สูง จากในอนาคตความได้เปรียบด้านภาษีหากไทยเข้าร่วมจะเยอะมาก ขณะที่การประกอบธุรกิจกำไรกว่าจะหาได้ก็ลำบาก หากมาลงทุนไทยแล้วส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะใน CPTPP แล้วถูกเก็บภาษีนำเข้าสูงจากประเทศในกลุ่ม CPTPP ที่ไทยยังไม่เคยมีเอฟทีเอด้วยก็จะเสียเปรียบในการแข่งขัน ไม่นับรวมอาจถูกคู่ค้ากีดกันการค้าโดยใช้มาตรการต่าง ๆ  อีกมากมาย ดังนั้นหากลงทุนในไทยแล้วสามารถลดต้นทุนทางการค้าตรงนี้ได้ในระยะยาวก็จะดีกว่า

ม็อบยื้อกระทบ FDI ไหลเข้า ญี่ปุ่นขอคำตอบไทยร่วม CPTPP

“เรื่องเอฟทีเอ เช่น RCEP ผมเห็นด้วยและขอบคุณรัฐบาลที่เร่งเจรจาและผลักดันจนมีการลงนามความตกลงและรอมีผลบังคับใช้ ส่วนอินเดียที่ยังไม่เข้าร่วม RCEP ก็ไม่เป็นไร แต่ที่เห็นว่าที่รัฐบาลต้องเร่งต่อคือคือความตกลง CPTPP ที่เราต้องขอเข้าร่วมเจรจา เรื่องไหนที่เรายังไม่พร้อมรับข้อตกลงก็ขอผ่อนปรนเขาไป 20 ปีก็ว่าไป อันไหนพร้อมคุณเข้าก่อน อย่างเวียดนามบางเรื่องเขาก็ขอยกเว้นหรือผ่อนปรนไว้ 20 ปีเลยก็ทำได้ รวมถึงเอฟทีเอไทย-อียู ไทย-UK ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อนำสู่การเจรจาเพื่อช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย”

 

นอกจากนี้ในส่วนของบีโอไอต้องดูว่านักลงทุนต่างชาติเขาต้องการสิทธิประโยชน์ตรงไหนเพิ่มบ้าง เฉพาะอย่างยิ่งบริษัทใหญ่ ๆ ที่ต้องการให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ เพราะสิทธิประโยชน์ที่เราเสนอไปแล้วเขาอาจยังไม่ตรงกับความต้องการ

 

ม็อบยื้อกระทบ FDI ไหลเข้า ญี่ปุ่นขอคำตอบไทยร่วม CPTPP

 

นายกลินท์ ในฐานะนายกสมาคมไทย-ญี่ปุ่น กล่าวทิ้งท้ายว่า จากที่ได้ติดตามทุนญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิดขณะนี้ส่วนใหญ่เขายังเหนียวแน่นในการลงทุนในไทยทั้งโครงการขยายการลงทุน หรือการลงทุนใหม่ ส่วนหนึ่งก็ยังมาลงทุนในไทย แต้ข้อสำคัญคือจะเหนียวแน่นนานเท่าใด แต่หากวันนี้รัฐบาลไทยประกาศเป้าหมายชัดเจนว่าจะเข้าร่วมเจรจา CPTPP ก็จะสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้เขามาลงทุน หรือคงฐานในไทย แต่ถ้าไทยไม่เข้าร่วมก็คงมีผลต่อการตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง