ค้าไทยยุค “ไบเดน” ไม่รื่น บาทจ่อแข็งค่าขึ้นกระทบแข่งขัน

15 พ.ย. 2563 | 04:15 น.

พาณิชย์วิเคราะห์ละเอียดยิบ ค้าไทยยุค “ไบเดน” มีได้-เสีย จับตาทุ่มเงินกระตุ้นศก.ดันเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก กระทบส่งออก เทรดวอร์ผ่อนคลายโอกาสไทยส่งออกสหรัฐฯและจีนเพิ่ม เอกชนลุ้นระทึกต่อสิทธิจีเอสพีไทยหรือไม่ หลังสิ้นสุดโครงการ 31 ธ.ค.นี้

จากหลายนโยบายของโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 46 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังรับตำแหน่ง เช่น Buy America กำหนดให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการในประเทศเพิ่มขึ้น 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, Innovate in America เพิ่มการลงทุนด้านวิจัยพัฒนา รวมถึงการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ วงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ, ลงทุน 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯใน 4 ปีข้างหน้าเพื่อพลังงานสะอาด, การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อชั่วโมง (เดิม 7.25 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง)

 

ด้านความสัมพันธ์ทางการค้า ยังคงนโยบายโดดเดี่ยวจีน แต่มีแนวโน้มประนีประนอมมากขึ้น ไม่เพิ่มความรุนแรงหรือลดการใช้มาตรการทางภาษีกับจีน มีแนวโน้มสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศและให้ความสำคัญกับเวทีพหุภาคี โดยยึดหลักกติกาสากลเช่น ความร่วมมือเพื่อปฏิรูปองค์การการค้าโลก (WTO) และมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณากลับเข้าร่วมความตกลง TPP (CPTPP ในปัจจุบัน) เป็นต้น

 

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนในยุคไบเดนน่าจะผ่อนคลายลง แต่ยังคงมาตรการภาษีที่มีอยู่เดิม ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ นอกจากจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคเอเชียเป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อการส่งออกของไทยไปยังภูมิภาคเอเชียรวมถึงจีนที่กำลังฟื้นตัว โดยสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานจีนสูงที่อาจได้รับผลบวก ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยางและผลิตภัณฑ์ พลาสติก และไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่องอนาคตค้าไทย ดีขึ้นหรือแย่ลง ยุค ‘โจ ไบเดน’

‘ไบเดน’ผงาดผู้นำมะกันคนใหม่ ไทยผวาก่อ"คาร์บอนวอร์"

644 บริษัทไทยพร้อมรับมือ มะกัน-อียูก่อ‘คาร์บอนวอร์’

CPTPP “ไบเดน” มาแน่ ไทย จะเอาอย่างไร

ภาคการเกษตรไทยจะได้อะไรหลัง โจ ไบเดน รับตำแหน่งปธน.สหรัฐคนใหม่

 

ค้าไทยยุค “ไบเดน” ไม่รื่น บาทจ่อแข็งค่าขึ้นกระทบแข่งขัน

                                  พิมพ์ชนก  วอนขอพร

 

ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น จากไบเดนจะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสูงกว่าสมัยทรัมป์ ส่วนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโดยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด อาจกระทบต่อการส่งออกรถยนต์สันดาปของไทย ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯเป็นตลาดส่งออกรถยนต์สำคัญอันดับ 6 ของไทย (มูลค่า 696.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีสัดส่วน 4.7% ของการส่งออก 9 เดือนปี 2563)

 

อย่างไรก็ดีการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายใต้โครงการปัจจุบันของสหรัฐฯจะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ขณะนี้สหรัฐฯยังไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะต่ออายุโครงการแก่ประเทศที่ได้รับสิทธิ รวมถึงไทยหรือไม่ ซึ่งขณะนี้การต่ออายุโครงการฯไปถึงปี 2565 อยู่ระหว่างการเสนอร่างกฎหมาย (เมื่อ 24 ก.ย.63) ซึ่งจะต้องผ่านวุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และประธานาธิบดีก่อนการบังคับใช้

 

“ไบเดนชนะเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะต่ออายุ GSP แต่เงื่อนไขอาจจะเข้มงวดขึ้นโดยเฉพาะประเด็นมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปิดตลาดสินค้าที่สหรัฐฯ สนใจ โดยไบเดนจะเน้นเรื่องกฎเกณฑ์การค้าที่ต้องมีผลประโยชน์ต่อสหรัฐฯด้วยเช่นกัน รวมถึงประเด็นการกลับเข้าร่ม CPTPP เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม”

 

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ ยุคไบเดนจะกลับเข้าสู่กฎกติกาการค้าโลกภายใต้ WTO รวมถึงหากสงครามการค้าผ่อนคลายลงจะเป็นผลดีต่อการค้าโลกที่จะคลายความกังวลลง และจะกลับมาขยายตัวมากขึ้น ด้านหนึ่งจะทำให้การย้าย หรือขยายฐานการลงทุนของจีนมาไทย หรือในอาเซียนเพื่อใช้เป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ แทนฐานผลิตสินค้าในจีนที่เสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ สูง อาจชะลอตัวลง แต่ไทยจะได้อานิสงส์ส่งออกไปจีนและสหรัฐฯเพิ่มขึ้น

 

ค้าไทยยุค “ไบเดน” ไม่รื่น บาทจ่อแข็งค่าขึ้นกระทบแข่งขัน

                                       วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา

 

ส่วนเรื่อง GSP ไทยจะรับการต่ออายุในโครงการใหม่จากสหรัฐฯหรือไม่ยังต้องติดตาม เพราะเป็นช่วงรอยต่อของรัฐบาลโดนัล ทรัมป์ที่ยังรักษาการ ขณะที่โจ ไบเดนจะสาบานตนเข้ารับตำแหน่งวันที่ 20 มกราคม 2564 หากไทยไม่ได้รับการต่อ GSP จะส่งผลกระทบต่อสินค้าที่ใช้สิทธิ โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องเสียภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ในอัตราปกติเกิน 10% จะกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันมาก และค่าเงินบาทมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่ายุคทรัมป์ จากไบเดนประกาศจะอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมหาศาล จะทำให้เม็ดเงินกระจายทั้งในประเทศ และนอกประเทศ ซึ่งไทยเป็นแหล่งลงทุนหนึ่งที่สหรัฐฯ สนใจลงทุนในพันธบัตร และตลาดหุ้น ทำให้มีความต้องการเงินบาทสูงขึ้น และอาจแข็งค่าขึ้น กระทบความสามารถในการส่งออก    

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 1 ฉบับ 3627 วันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2563