ส่องอนาคตค้าไทย ดีขึ้นหรือแย่ลง ยุค ‘โจ ไบเดน’

13 พ.ย. 2563 | 01:56 น.

สายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ จำกัด ผู้ชำนาญการด้านสิทธิประโยชน์ภาษีอากร การค้าต่างประเทศ และโลจิสติกส์ วิเคราะห์กรณีโจ ไบเดนจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำคนใหม่ของสรัฐฯ กับผลกระทบด้านการค้าของไทยทั้งด้านบวกและลบ

สหรัฐฯประกาศจะระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร(GSP) สินค้าไทยอีก 231 รายการ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 ขณะที่ล่าสุด “โจ ไบเดน” กำลังจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ทำให้คนไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกต้องจับตามองใกล้ชิดว่านโยบายการค้าระหว่างประเทศของว่าที่ผู้นำคนใหม่จะเป็นอย่างไร “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายสายัณห์ จันทร์วิภาสวงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท อีบีซีไอ จำกัด ผู้ชำนาญการด้านสิทธิประโยชน์ภาษีอากร การค้าต่างประเทศ และโลจิสติกส์ ถึงความเคลื่อนไหวและประเด็นที่ต้องจับตา เพราะเกี่ยวข้องกับไทยทั้งทางบวกและลบ

 

จับตารุกเอเชีย-อาเซียน

นายสายัณห์ กล่าวว่า การที่โจ ไบเดนได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ จะมีผลกระทบกับการให้ GSP กับไทยอีกหรือไม่นั้น นายไบเดนคงจะมีนโยบายในการส่งเสริมการค้ากับหลายประเทศ คือมีพันธมิตรทางการค้าควบคู่ไปกับพันธมิตรทางการเมือง ขณะเดียวกันก็คงจะวางยุทธศาสตร์รองรับนโยบาย Made in China 2025 ของจีน ที่เปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากเน้นปริมาณสู่การผลิตที่เน้นคุณภาพ มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต

 

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า สหรัฐฯในยุคโจ ไบเดน คงจะให้ความสนใจกับกรอบการค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น ขยายบทบาทของสหรัฐฯใน APEC ที่มี 21 เขตเศรษฐกิจเป็นสมาชิก และอาจกลับเข้าร่วมความตกลง CPTPP  เพื่อคานอำนาจจีนในเรื่องการค้า และการเมืองในเอเชียและอาเซียนมากขึ้น

 

ในส่วนของ GSP นั้น การจะระงับหรือคืนสิทธิบางสินค้า อาจจะเจรจากับไทยในรูปของทวิภาคี ซึ่งไทยต้องเตรียมรับมือทางการค้ากับสหรัฐฯ  เพราะเชื่อมั่นว่าในสมัยของไบเดน อเมริกาจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับไทยมากขึ้นทั้งด้านการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ

 

ส่องอนาคตค้าไทย ดีขึ้นหรือแย่ลง ยุค ‘โจ ไบเดน’

หาพันธมิตรการค้า-การเมือง

นอกจากนี้สหรัฐฯยุคไบเดน น่าจะมีนโยบายในการหาพันธมิตรทางการค้าควบคู่ไปกับการหาพันธมิตรทางการเมือง จะแตกต่างจากสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นการสร้างงานในประเทศและไม่สนใจในการหาพันธมิตรระหว่างประเทศมากนัก โดยไบเดน น่าจะมุ่งยกระดับการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในรูปของพหุภาคีมากกว่าทวิภาคี (แต่ก็อาจจะเจรจาทวิภาคีกับบางประเทศ) เช่น อาจจะให้ความสำคัญกับ APEC ที่มีสหรัฐฯฯ  จีน ญี่ปุ่น รัสเซีย ออสเตรเลีย อยู่ในกลุ่มนี้ และอาจจะกลับเข้าร่วม CPTPP ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 11 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา ออส เตรเลีย (สหรัฐฯเคยเป็นสมาชิก CPTPP หรือ TPP ในชื่อเดิม แต่ทรัมป์ได้ถอนสหรัฐฯออกจากการเป็นสมาชิก) เพราะสมัยโอบามา เป็นประธานาธิบดี และ โจ ไบเดน เป็นรองประธานาธิบดีเป็นผู้ผลักดันร่วม TPP

 

ขณะที่ญี่ปุ่นมีส่วนร่วมในกลุ่มการค้าระหว่างประเทศทั้ง APEC, CPTPP และยังเกี่ยวข้องกับอาเซียนผ่าน FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น แม้สหรัฐฯจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรที่ดีของสหรัฐฯ ก็คงจะมีนโยบายลงทุนนอกประเทศในอาเซียนและประเทศต่างๆ เหมือนเดิม และอาจจะขับเคลื่อนร่วมกับสหรัฐฯในการขยายความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศผ่านกลุ่มการค้าต่างๆ มากขึ้น ดังนั้นไทยต้องให้ความสนใจในการดึงดูดนักลงทุนจากญี่ปุ่นให้เห็นประโยชน์และความสำคัญของการเป็น Logistics Hub ของไทยในอาเซียนให้มากขึ้น

 

“หากสหรัฐกลับเข้าร่วม CPTPP และไทยเข้าร่วมความตกลงนี้จะกระทบด้านการค้าของประเทศ ไทยเป็นอย่างมาก เช่น สหรัฐฯจะมีข้อกำหนดให้ไทยเปิดตลาดให้อเมริกาส่งหมูเนื้อแดงมาประเทศไทยได้รวมถึงอาจกำหนดเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองเรื่องสิทธิบัตรยาที่มากขึ้น และเปิดตลาดพืชจีเอ็มโอ และพันธุ์พืชต่างๆจากประเทศสมาชิก CPTPP รวมถึงการเปิดเสรีการลงทุนมากขึ้น ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยต้องเตรียมตัวในการศึกษารายละเอียดและเตรียมตัวให้พร้อม เพราะจะมีปัญหาจากภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบตามมา”

 

ส่องอนาคตค้าไทย ดีขึ้นหรือแย่ลง ยุค ‘โจ ไบเดน’

ตัด GSP แบกภาษีเพิ่ม

สำหรับการระงับหรือตัดสิทธิ GSP อีก 231 รายการ สหรัฐฯอ้างว่าไทยไม่เปิดตลาดให้เนื้อหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงจากอเมริกานำเข้าไทย ส่วนสาเหตุที่ไทยไม่เปิดตลาดให้เพราะสารเร่งเนื้อแดงในหมูที่ส่งออกจากอเมริกามาไทยนั้น เป็นสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ ส่งผลข้างเคียงทำให้มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ บางรายมีอาการเป็นลม เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อหญิงมีครรภ์และยังเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

 

“สินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิจีเอสพีในครั้งนี้ จะถูกเก็บอากรขาเข้าในอัตราปกติทั่วไปไม่ได้รับการลดหรือยกเว้นภาษีเหมือนก่อนหน้านี้ จะทำให้สินค้าไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น และเสียเปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับสินค้ากลุ่มเดียวกันจากเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ที่เป็นคู่แข่งของไทยและไม่ถูกตัดสิทธิ อย่างไรก็ดีหากมองในแง่ผลกระทบ สินค้าไทยที่จะได้รับผลกระทบจริงจากการถูกตัดสิทธิ GSP ครั้งนี้มีเพียง 147 รายการ (ที่มีการใช้สิทธิจริง) ต้องชำระอากรนำเข้าประมาณ 3-4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท แต่ก็ยังมีสินค้าหลายรายการที่ยังได้รับ GSP จากอเมริกา เช่น ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ถุงมือยาง เครื่องปรุงรส เลนส์แว่นตา ถังเชื้อเพลิง รถยนต์ ฯลฯ 

 

ทางออกและวิธีแก้ไข

 ผู้ส่งออกไทยต้องให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพและการส่งมอบสินค้าให้ทันความต้องการของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ต้องพยายามลดค่าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ เช่น ค่าระวางเรือ การลดราคาสินค้าบางส่วน การลดต้นทุนโดยหันมาใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีในกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า) เพิ่มขึ้น การใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีอากรในประเทศไทยให้ถูกต้อง เช่น การใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีอากรจาก BOI หรือ Free Zone การใช้สิทธิ์ขอคืนอากรตามมาตรา 29 การใช้สิทธิ์ขอรับเงินชดเชยเพื่อการส่งออก ฯลฯ

 

นอกจากผลกระทบจาก GSP แล้ว ผู้ส่งออกจะต้องเตรียมรับผลกระทบจาก FTA ในกรอบต่าง ๆ ที่คาดว่ากำลังจะเกิดขึ้นระหว่างไทย-อังกฤษ หรือไทย-อียู รวมถึง RCEP ด้วย ซึ่งคาดว่า RCEP จะมีผลบังคับใช้ในปี 2564 นี้

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับ 3626 วันที่ 12-14 พฤศจิกายน 2563