แบนสารเคมีตลาดวูบ 1.5 หมื่นล้าน

04 ต.ค. 2563 | 19:00 น.

แบนสารเคมีพ่นพิษ กระทบตลาดปี 62 วูบกว่า 1.5 หมื่นล้าน วงในเผยยังมีข่าวดี 143 โรงงานได้เฮ หลังบอร์ดวัตถุอันตรายตีกลับให้ทบทวน 3 มาตรฐาน ISO ใหม่ ชี้ช่องควรเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจแลกสิทธิประโยชน์ ไม่ควรบังคับต้องทำ วงการอ้างขัดกฎหมายไม่ต่ำ 6 ฉบับ เพิ่มต้นทุนเกษตรกร

วันที่ 28 กันยายน 2563 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ได้มีการประชุมครั้งที่ 3-2/2563 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงการแบนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามมิให้มีการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ครอบครองตามมติเดิมที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรไปทบทวนร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิต การนำเข้า การส่งออก และการมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....ใหม่ เนื่องจากในที่ประชุมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยจำนวนมาก

 

แหล่งข่าวกรรมการในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าว มีสาระสำคัญกำหนดให้สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายหรือโรงงานผลิต ต้องได้รับการรับรองระบบมาตรฐานบริหารคุณภาพ ISO 9001 และได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 โดยต้องมีห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตรายจากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน โดยหน่วยงานมาตรฐานในประเทศไทย ยกเว้นสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์และสารสกัดจากพืช สถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายอยู่ก่อนแล้วให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเป็นเวลาอีก 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงสถานที่ผลิตวัตถุอันตรายที่ผู้ประกอบการได้รับอนุญาตให้ดำเนินการผลิตวัตถุอันตรายที่ถูกจำกัดการใช้ ปัจจุบันมีโรงงานที่ขึ้นทะเบียนอยู่ทั้งสิ้น 143 โรงงาน

 

สาเหตุที่ทบทวน 3 มาตรฐาน ISO ควรจะเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจ ไม่ใช่บังคับ กล่าวคือ ต้องเป็นการโน้มน้าวใจให้บริษัททำโดยภาคสมัครใจ ยกตัวอย่าง กรณี พ.ร.บ.โรงงานฯ  หากจะมีการณรงค์ให้บริษัททำ ISO สักมาตรฐานหนึ่ง จะมีข้อแลกเปลี่ยนว่าหากบริษัททำแล้ว จะลดค่าธรรมเนียมรายปี เป็นต้น จะมาใช้กฎหมายบังคับไม่ได้ ที่สำคัญจะต้องมีการหารือกับรัฐมนตรีผู้ดูแลควบคุมโดยตรงก่อน เพราะถ้าสมมุติในกรณีที่บอร์ดไฟเขียวออกไป จะมีปัญหา อาทิ กรณีโรงงานจะต้องมาขออนุญาต ใบ รง.4  เพื่อตั้งโรงงานผลิต แล้วทางกรมโรงงานฯได้ออกใบอนุญาตผลิตแล้ว แล้วผลิตไม่ได้เพราะติดร่างประกาศนี้ จะเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างกฎหมาย 2 ฉบับ ทางคณะกรรมการจึงมีมติให้ไปทบทวน

 

“ที่สำคัญห้องปฏิบัติการซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC17025 ด้านการวิเคราะห์วัตถุอันตรายจากสถาบันการตรวจรับรองมาตรฐาน ของกรมวิชาการเกษตร มีมาตรฐานรับรองสารเคมีทุกตัวหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันมีสารเคมีที่นำเข้ามาในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 260 ชนิด”

 

มนัญญา ไทยเศรษฐ์

 

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องการให้โรงงานผลิตสารเคมีจะต้องมีมาตรฐานสากล ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและเกษตรกร เรื่องนี้ตนจะผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ 

ขณะที่แหล่งข่าวผู้ค้าสารเคมี เผยว่า ในปี 2562 ไทยมีการนำเข้าสารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืช กำจัดแมลง และสารป้องกันและกำจัดโรค 1.31 แสนตัน มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 8 ปีทั้งแง่ปริมาณและมูลค่า (กราฟิกประกอบ) และเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ที่มีมูลค่าการนำเข้า 3.6 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่านโยบายรัฐบาลที่มีต่อสารเคมีนั้นส่งผลให้มูลตลาดหายไปกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

แบนสารเคมีตลาดวูบ 1.5 หมื่นล้าน

 

ด้านนายสมศักดิ์ สมานวงศ์ นายกสมาคมอารักขาพืชไทย  กล่าวว่า มูลค่าตลาดที่หายไปส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแบน 2 สารเคมี และจำกัดการใช้ 1 สารเคมี และอีกส่วนหนึ่งจากในรอบปีที่ผ่านมาไทยมีปัญหาภัยแล้งกระทบต่อการทำการเกษตร ทำให้ผู้ค้าชะลอการนำเข้า

 

“ในส่วนของการกำหนดมาตรฐาน ISO ควรเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจไม่ควรบังคับ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่มและจะส่งผลต่อเนื่องถึงเกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังจะไปขัดแย้งกับกฎหมายอื่นไม่ต่ำกว่า 6 ฉบับที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไข พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554  เป็นต้น แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องบังคับ เห็นว่าสถานที่ผลิตสารชีวภัณฑ์และสารสกัดจากพืชควรใช้มาตรฐานเดียวกันไม่ควรได้รับการยกเว้น”


 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,615 วันที่ 4-7 ตุลาคม พ.ศ. 2563

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

20 เสียงเอกฉันท์ คงมติแบน 2 สาร