น้ำตาลไทย “สาหัส” 3 ปัจจัยฉุด ใช้กำลังผลิตแค่ 34%

09 ก.ย. 2563 | 08:01 น.

อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยสาหัส การใช้กำลังผลิต 7 เดือนแรกหล่นวูบ เหลือแค่ 34% พบ 3 ปัจจัยรุมกระหน่ำ ส่งผลมูลค่าส่งออกยังติดลบอ่วม

 

นายวิศิษฐ์  ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า จากสินค้าน้ำตาลที่ไทยเป็นหนึ่งในผู้ผลิตและส่งออกอันดับต้น ๆ ของโลก ในภาพรวมช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 มีการใช้กำลังผลิตเพียง 34% ของกำลังผลิตโดยรวม ทั้งนี้เป็นผลพวงจาก 3 ปัจจัยหลัก

 

1.การบริโภคน้ำตาลทั่วโลกชะลอตัวลง สืบเนื่องจากกสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นผลให้ความต้องการบริโภคน้ำตาลในตลาดโลกชะลอตัวลง จากเดิมที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี โดยในประเทศไทย พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรก ตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิตปี 2562/63 (ตุลาคม 2562 - มิถุนายน 2563) มีการบริโภคน้ำตาลรวมประมาณ 1.69 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 187,500 ตัน และหากรวมการบริโภคในช่วง 3 เดือนที่เหลือของฤดูการผลิตปีนี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2563 คาดว่าอัตราการบริโภคภายในประเทศโดยรวมจะอยู่ประมาณ 2.25 ล้านตันเท่านั้น ต่ำกว่าร้อยละ 10 จากที่สำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ประมาณการไว้ที่ 2.5 ล้านตัน

 

น้ำตาลไทย “สาหัส” 3 ปัจจัยฉุด ใช้กำลังผลิตแค่ 34%

2.ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของโลกยังหันมาผลิตน้ำตาลเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น หลังจากราคาน้ำมันตกต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการนำอ้อยไปผลิตเป็นเอทานอลเมื่อเปรียบเทียบรายได้จากน้ำตาล

 

3.ปัญหาภัยแล้ง ทำให้วัตถุดิบลดลง โดยไทยในฐานะผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก ต้องเผชิญภาวะภัยแล้งรุนแรง ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปีนี้  (ปี2562/63) ลดลงเหลือ 75 ล้านตัน  และจากการประมาณการเบื้องต้นของปริมาณผลผลิตอ้อยประจำฤดูการผลิตปีหน้า (ปี2563/64) จะมีความใกล้เคียงกับฤดูการผลิตปีนี้ อย่างไรก็ตาม ชาวไร่มีความจำเป็นต้องเก็บอ้อยบางส่วนไว้ทำพันธุ์ จึงคาดการณ์ว่า ผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการปีหน้าลดลงกว่าเดิม เว้นแต่ว่าในช่วงต่อจากนี้ จะมีปริมาณฝนตกกระจายทั่วถึงและต่อเนื่องในพื้นที่เพาะปลูก ก่อนการเก็บเกี่ยวอ้อยส่งเข้าหีบในช่วงเดือนธันวาคม 2563

 

น้ำตาลไทย “สาหัส” 3 ปัจจัยฉุด ใช้กำลังผลิตแค่ 34%

 

สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์  โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ระบุ ช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 ไทยมีการส่งออกน้ำตาลทรายมูลค่า 40,935 ล้านบาท ลดลงหรือติดลบ 20.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ 23,198 ล้านบาท(-28%) น้ำตาลทรายขาว 17,737 ล้านบาท(-7.5%) ตลาดส่งออก 5 อันดับแรกประกอบด้วย อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา เกาหลีใต้ และไต้หวัน สัดส่วนการส่งออก 40.9%, 20.1% , 6.5%, 5.4% และ 4.8% ตามลำดับ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

3ปัจจัยลบทุบปริมาณส่งออกน้ำตาลร่วงต่ำสุดในรอบ5ปี

จับตา“บราซิล”กุม“ปริมาณ”และ“ราคา”น้ำตาลโลก

สัญญาณเตือนปริมาณอ้อยหาย 20%ส่งออกน้ำตาลวูบหนัก