บริบทเปลี่ยน “ไทยต้องปรับ” จะอยู่กับจีนอย่างไรยุคหลังโควิด

09 ก.ค. 2563 | 02:44 น.

บทความพิเศษ : บริบทเปลี่ยน “ไทยต้องปรับ” จะอยู่กับจีนอย่างไรยุคหลังโควิด โดยดร.อักษรศรี พานิชสาส์น ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีน

ผลจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้บริบทหลายอย่างเปลี่ยนไป และจะทำให้บทบาทจีนและไทยในยุคหลังโควิด-19 เปลี่ยนไปอย่างไร มีคำถามที่ส่งมาสอบถามความเห็นของดร.อักษรศรี พานิชสาส์น และนี่คือคำตอบค่ะ 

 

1.อะไรคือ New Normal ทั้งในมิติการผลิต การบริโภค การค้า และการลงทุน ในสายตาจีน

 

ผลจากการระบาดของโควิค-9 จนเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่เรียกว่า Covidization โดยเฉพาะการนำไปสู่จุดจบของโลกาภิวัฒน์ (End of Globalization) และเป็นตัวเร่งกระแส “ชาตินิยม” (Nationalism) ในจีนให้เข้มข้นขึ้น

 

ที่สำคัญ  จีนได้เริ่มปรับ mindset ไปในทิศทางที่จะลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนได้ประกาศ 6 เสถียรภาพ และ 6 หลักประกันความมั่นคง โดยเฉพาะในด้าน Food Security ความมั่นคงทางอาหาร จีนประกาศขยายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จีนจะผลิตอาหารเพื่อป้อนคนจีนทั้ง 1.4 พันล้านคนได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ

 

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่า จีนจะปิดประเทศไม่คบค้ากับใคร แต่มันหมายถึงว่า จีนจะกระจายความเสี่ยงเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ (diversification) แน่นอนว่า จีนจะยังคงเดินหน้าค้าขายกับต่างประเทศ รวมทั้งเดินหน้าผลักดันยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เพื่อแสวงหาประโยชน์จากการคบค้ากับต่างประเทศ ด้วยการส่งออกสินค้าจีน ส่งออกนักลงทุนจีน ส่งออกเทคโนโลยีจีน รวมทั้งการส่งออกแพลตฟอร์มจีนไปบุกโลกต่อไป

 

แม้ว่าจีนจะยังคงเน้นการทำมาหากินกับต่างประเทศ หากแต่ในแง่ความต้องการออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศหรือกระแสนักศึกษาจีนออกไปเรียนต่อต่างประเทศอาจจะลดลง เนื่องจากรายได้ของคนจีนลดลง จากวิกฤติเศรษฐกิจในรอบนี้

 

นอกจากนี้ ยุคหลังโควิด-19 ยิ่งชัดเจนว่า จีนจะมีบทบาทสำคัญในการจัดระเบียบโลก ล่าสุด จีนได้ออก blueprint เพื่อเป็นผู้วางมาตรฐานด้านเทคโนโลยียุคใหม่ของโลก (next-generation technology) ภายใต้แผนการใหญ่ China Standards 2035 เพื่อให้สำเร็จภายใน 15 ปีจากนี้

 

2.อุตสาหกรรมอะไรที่เรากับจีน จะเกื้อกูลกันและกัน หรือไม่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม Agri-Industry, Wellness Industry, High-technology Industry, และ Creative Industry

 

มีหลายอุตสาหกรรมที่เรากับจีนมีศักยภาพที่จะเกื้อกูลกัน หากไปศึกษาวิเคราะห์ 10 อุตสาหกรรมนำร่องในยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ของจีน จะพบว่า มีความสอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10  S-curve ของไทยที่สนับสนุนให้ลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิศษภาคตะวันออก(EEC)อย่างน้อย 6 ด้าน ได้แก่ อุตสาหกรรมดิจิทัล หุ่นยนต์ การบิน ยานยนต์สมัยใหม่ การแพทย์ และการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ

 

อย่างไรก็ดี เราต้องเดินหน้าพัฒนาทั้ง 6 อุตสาหกรรมดังกล่าวอย่างจริงจัง ไม่ให้เป็นเพียงแค่โครงการในกระดาษ และควรเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร สร้าง “คนดิจิทัล” เพื่อให้มีทักษะพร้อมทำงานในอุตสาหกรรมดังกล่าวร่วมกัน

บริบทเปลี่ยน “ไทยต้องปรับ” จะอยู่กับจีนอย่างไรยุคหลังโควิด

3.การขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานในระดับภูมิภาค (Regional Value Chains: RVCs) ในภูมิภาคนี้ (เอเชียตะวันออก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้) ใครคือผู้เล่นหลัก (บริษัท และ/หรือ รัฐวิสาหกิจ และ/หรือ นโยบายการสนับสนุนโดยรัฐ) โดยเฉพาะผู้เล่นหลักที่รัฐไทย และผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสนใจ การสร้างรูปแบบความสัมพันธ์กับผู้เล่นเหล่านี้ในรูปแบบ Positive-sum (Win-Win) จะต้องดำเนินนโยบายอย่างไร ต้องมีโครงสร้างสถาบัน (Institutional Factors) อย่างไร

 

ทุกภาคส่วนที่กล่าว ล้วนเป็นผู้เล่นหลักที่สำคัญและควรจะต้องทำงานอย่างสอดคล้องกัน ไม่หวังเพียงแค่ให้รัฐบาลมาอุ้มหรือออกนโยบายเอื้อเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการสร้างความพร้อมด้าน “คน” อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อวางรากฐาน คือ regulatory guillotine โดยการเร่งปรับลดกฎหมายกฎระเบียบที่ล้าหลัง ซ้ำซ้อนและเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าพัฒนาประเทศไปในยุคหลังโควิด-19  

 

4.อุตสาหกรรมใดของไทยที่มีแนวโน้มจะไปไม่รอด โดยเฉพาะเมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันกับจีน

ทุกอุตสาหกรรมที่ไม่ยอมปรับตัว ก็จะไปไม่รอดในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (disruption) เช่น มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานแทนคนมากขึ้น มีการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย Data Analytics มากขึ้น และมีตัวอย่างให้เห็นเชิงประจักษ์มาแล้วในหลายประเทศ หลายอุตสาหกรรมที่เคยแข็งแกร่งในอดีต แต่ไม่ยอมปรับตัวแบบยกเครื่องหรือปรับตัวไม่ทัน ก็ไปไม่รอด

 

สำหรับโมเดลเกษตรและอุตสาหกรรมที่ไทยควรผลักดันอย่างจริงจัง ได้แก่ BCG Model กล่าวคือ เศรษฐกิจชีวภาพ  (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy) เนื่องจากจะเป็นการใช้ศักยภาพของไทยในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น รวมทั้งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร (Food Security) ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย เพื่อพร้อมรับมือกับวิกฤตระลอกใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป

บริบทเปลี่ยน “ไทยต้องปรับ” จะอยู่กับจีนอย่างไรยุคหลังโควิด

5.Consumption Behavior พฤติกรรมของผู้บริโภคในจีน จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดท่ามกลาง Disruptive Technology ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่ง

 

ผู้บริโภคจีนปรับตัวสู่วิถีชีวิตแบบดิจิทัลมานานแล้ว จีนเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จีนมีประชากรเน็ตมากที่สุดในโลกกว่า 900 ล้านคน จีนเป็นตลาดออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจีนกำลังเริ่มทดลองใช้เงินสกุลดิจิทัลเป็นชาติแรกของโลก รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ดังนั้น จึงสะท้อนชัดเจนว่า พฤติกรรมผู้บริโภคจีนในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างพลิกผัน

 

เศรษฐกิจจีนในยุคสี จิ้นผิง ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (data-driven economy) โดยเฉพาะหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งให้จีนต้องพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล (digitalization) มาใช้ตอบโจทย์ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)  ให้เร็วยิ่งขึ้น

 

ดังนั้น การจะค้าขายกับจีน หรือการจะดึงดูดนักลงทุนจากจีนหรือนักท่องเที่ยวจีนมาไทย จะใช้วิธีการแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว  ถ้าใครไม่ปรับตัวให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ก็ยากจะอยู่รอด  

 

6.การบูรณาการภูมิภาค (Regional Integration) เราควรจะอยู่ในกรอบใด ASEAN, RCEP, CPTPP หรือ ทุกกรอบ

 

ต้องยึดหลักการสำคัญว่า ถ้ากรอบใดไม่ตอบโจทย์ผลประโยชน์แห่งชาติของเรา ก็ไม่ต้องเข้าร่วม เราไม่ควรอยู่ทุกกรอบ ถ้าเข้าร่วมแล้วเราเสียเปรียบ ก็ไม่ต้องเข้า เนื่องจากการเข้าร่วมกลุ่มเหล่านี้ มีทั้งข้อดีข้อเสีย เราต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างถ่องแท้ และใช้ข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันหลังวิกฤติโควิด-19 มาใช้ในการศึกษาวิเคราะห์  เนื่องจากยุคหลังโควิด-19 บริบทหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ข้อมูลเก่าใช้ไม่ได้แล้ว

บริบทเปลี่ยน “ไทยต้องปรับ” จะอยู่กับจีนอย่างไรยุคหลังโควิด

ทั้งนี้ ไม่ต้องมาถามว่า เราควรอยู่ในกรอบ ASEAN และ RCEP หรือไม่ เนื่องจาก ASEAN เป็นกรอบหลักที่เราเข้าร่วมกลุ่มมานานแล้ว เราเป็นชาติที่ร่วมก่อตั้ง ASEAN มาตั้งแต่สิงหาคมปี 1967 และประเทศที่เข้าร่วมกรอบ RCEP ก็คือบรรดาประเทศที่เราและ ASEAN มีข้อตกลงการค้าเสรีกันอยู่แล้วกับแต่ละประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จึงควรจะให้ความสำคัญกับกรอบ RCEP เพื่อแสวงหาช่องทางในการใช้ประโยชน์จาก RCEP เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของเราเอง