เอกชนยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทย เหตุกำลังซื้อยังไม่ฟื้น

01 มี.ค. 2564 | 09:57 น.

หอการค้าไทย เปิดตัวดัชนีสำรวจความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) ครั้งแรกอยู่ในระดับ 29.8 ต่ำกว่าที่มองไว้ ส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจ รายได้ กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้น ด้านเอกชนห่วงการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน  ขณะที่การปรับครม. อยากเห็นคนที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับทั้งภาครัฐและเอกชน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  เปิดเผยผลสำรวจถึงดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FOREIGN BUSINESS CONFIDENCE INDEX : FBCI) และรายงานผลสำรวจดัชนีนักธุรกิจต่างชาติในไทยไตรมาสที่ 4/ 2563 จากจำนวน 40 ประเทศ ซึ่งมีสมาชิกรวม 8,470 สถานประกอบการ โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่าง 30 ประเทศ จำนวน 119 ราย ตั้งแต่มกราคม -กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักธุรกิจต่างประเทศ (FBCI) โดยรวมอยู่ที่ระดับ 29.8 ซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่า 50  ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 27.6 และดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจอยู่ที่ระดับ 32.1

เอกชนยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทย  เหตุกำลังซื้อยังไม่ฟื้น

 

โดยเป็นผลมาจากการสำรวจนักธุรกิจต่างชาติลงทุนในประเทศไทย ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ  27.6  ซึ่งส่วนใหญ่นักธุรกิจยังเป็นกังวลต่อเศรษฐกิจไทย กำลังซื้อในประเทศ  การลงทุนจากต่างชาติ สถานการณ์การท่องเที่ยว  การนำเข้า-ส่งออกทั้งปัจจุบันและอนาคต  เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 32.1  ซึ่งสำรวจทั้งเรื่องของราคาสินค้าและบริการ คำสั่งซื้อ  ผลกำไร  ค่าใช้จ่าย สภาพคล่องของธุรกิจ  การจ้างงานและภาระหนี้สินของธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่ดีขึ้นมีผลต่อความเชื่อมั่น

ดังนั้น  สิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนและช่วยเหลือ  คือ  มาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงินให้กับภาคธุรกิจ และ SMEs ไทยโดยรวม รวมทั้งธุรกิจที่เป็นคู่ค้า มาตการช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 การผ่อนคลายการทำธุรกิจให้คล่องตัวขึ้น การแก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ  การเปิดประเทศเพื่อดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว  การออกมาตรการเพิ่มกำลังซื้อ การสร้างความเชื่อมั่นต่อเสถียรภาพด้านการเมืองและการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล การพัฒนาวัคซีนเพื่อนำมาฉีดให้ประชาชนในประเทศให้เร็วที่สุด เป็นต้น

ส่วนการสำรวจทัศนะต่อเศรษฐกิจไทยของนักธุรกิจต่างชาติ พบว่า ส่วนใหญ่ 88.24% เศรษฐกิจไทยแย่ลง 86.55% กำลังซื้อแย่ลง  83.19% การลงทุนจากต่างประเทศแย่ลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนในอีก 6 เดือนข้างหน้าสถานการณ์ดีขึ้นแต่ไม่มาก และสิ่งที่เป็นปัญหาและส่งผลกระทบต้องแก้ไข คือ 26.5% การว่างงานของแรงงานจากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลต่ออำนาจซื้อ รองลงมา 14.3% การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจเอกชนทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง  และ13.4% เสถียรภาพด้านการเมือง ทำให้ไม่แน่ใจทิศทางแนวโน้ม เป็นต้น

ส่วนผลสำรวจด้านธุรกิจจากหอการค้าต่างประเทศในปัจจุบัน พบว่า  78.99%  รายได้รวมของธุรกิจ แย่ลง  16.81% ไม่เปลี่ยนแปลง  และ 4.20% ดีขึ้น  ขณะที่ ราคาสินค้าและบริการของธุรกิจ  50.42% แย่ลง 47.06% ไม่เปลี่ยนแปลง 2.52% ดีขึ้น  ส่วนในอีก 6 เดือนข้างหน้านั้น พบว่า 31.09%  รายได้รวมของธุรกิจ แย่ลง  35.29% ไม่เปลี่ยนแปลง  และ 33.61% ดีขึ้น  ขณะที่ ราคาสินค้าและบริการของธุรกิจ  21.82% แย่ลง 60.50% ไม่เปลี่ยนแปลง  17.65% ดีขึ้น ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่มจากกำลังซื้อหดตัว ยอดขายลดมีผลต่อรายได้ ต้นทุนสูงขึ้น การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ปัญหาโควิด

เอกชนยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทย  เหตุกำลังซื้อยังไม่ฟื้น

ด้านนายแสตนลี่ คัง ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในไทย กล่าวว่า จากการสำรวจหอการค้าต่างประเทศประจำประเทศไทยจำนวน 119 ราย จาก 40 ประเทศ มีสถานประกอบการ 8,470 แห่ง ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2564  แบ่งเป็นทวีปยุโรปร้อยละ 53.04 เอเชียร้อยละ 33.91 แอฟริการ้อยละ 7.83  ทวีปออสเตรเลียและหมู่เกาะแปซิฟิก ร้อยละ 3.48 และทวีปอเมริกาเหนือร้อยละ 1.74 พบว่า หนึ่งในประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมไทยที่ต้องการให้แก้ไขเร่งด่วน คือ เสถียรภาพทางการเมืองทำให้มั่นใจถึงแนวโน้ม ในอนาคตและการตัดสินใจลงทุน  ซึ่งหากมีสถานการณ์การชุมนุมที่รุนแรงจะส่งผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติโดยขอให้ทุกฝ่ายใช้การเจรจาอย่างสงบรับฟังทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

เอกชนยังไม่มั่นใจเศรษฐกิจไทย  เหตุกำลังซื้อยังไม่ฟื้น

ส่วนการปรับ ครม.ของรัฐบาล นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับทั้งในส่วนของภาคเอกชนและสานต่องานได้ทันทีและรัฐบาลต้องเป็นผู้สนับสนุน

สำหรับการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ FDI  พบว่า การลงทุนในไตรมาสที่ 3 ของปี2563 เทียบช่วงเดียวกันของปี 2562 ลดลงร้อยละ 15 อยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท จากปี 2563 ที่ 1.4 ล้านล้านบาท     ขณะที่การขอรับการสนับสนุนจาก BOI พบว่าลดลงร้อยละ 54  เมื่อเทียบกับปี 2563โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลสนับสนุน คือการผ่อนปรนมาตรการโควิด-19 เพื่อการดำเนินกิจการที่คล่องตัวขึ้น เร่งเปิดประเทศในรูปแบบปลอดภัยเพื่อรับนักท่องเที่ยว มาตรการเพิ่มกำลังซื้อประชาชน แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำเพื่อธุรกิจไทยและต่างประเทศ รวมทั้งแก้ไขกฎระเบียบที่ซับซ้อนในการดำเนินธุรกิจของต่างชาติ