“สิบคำ นิยามจีน”

30 ต.ค. 2563 | 07:42 น.

“สิบคำ นิยามจีน” หนังสือแนวสารคดีที่น่าสนใจด้าน “จีนศึกษา” บอกอะไรหลายอย่างที่น่าติดตาม ได้ที่นี่

ระหว่างที่เรายังอยู่ในเวลาของ การลดการเดินทาง รักษาระยะห่าง และระแวดระวังการติด COVID 19 ในสภาพเสมือน “โดนกักกัน” ดั่งผู้ต้องหาคดี “หนังสือ” น่าจะเป็นเพื่อนดี พาเพลิน 

สิบคำ นิยามจีน” เป็นชื่อหนังสือแนวสารคดีที่น่าสนใจด้าน “จีนศึกษา” ทุกวันนี้ไม่มีใครที่ไม่รู้จักประเทศที่เคยได้ชื่อ “ยักษ์หลับ” ไม่มีใครที่ไม่ทึ่งกับการเจริญเติบโตของจีน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราจะไว้ใจจีนได้เต็มร้อยได้หรือ  ฯลฯ

“สิบคำ นิยามจีน” โดย หยูหัว YU HUA นักเขียนจีนแผ่นดินใหญ่ ผู้เติบโตมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของจีน นำเสนอเรื่องราว วิพากษ์วิจารณ์และวิเคราะห์ “แผ่นดินแม่” ของตนเองในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง ด้วยความสามารถในเชิงวรรณศิลป์ของเขาที่เต็มไปด้วยสํานวนเชิงเสียดสี ถากถาง และเย้ยหยันได้อย่าง “หลากหลาย” 

“สิบคำ นิยามจีน” เป็นหนังสือ “แรง” จนถูกแบนในประเทศจีน “หยูหัว” มีผลงานได้รับการแปลไปแล้วหลายภาษา ได้รับรางวัล PREMIO GRINZANA CAVOUR ของประเทศอิตาลี ในปี คศ. 1998 จากเรื่อง “คนตายยาก (TO LIVE)”  

 

ปี คศ. 2002 หยูหัว กลายเป็นนักเขียนจีนคนแรกที่ชนะรางวัล JAMES JOYCE FOUNDATION AWARD

ปี คศ. 2008 นวนิยายเรื่อง “พี่กับน้อง (BROTUENRS)” ได้เข้าชิงรางวัล THE MAN ASIAN LITERARY PRIZE 

หนังสือ “คนตายยาก (TO LIVE)” ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์ และกำกับโดยผู้กำกับชื่อดัง  จางอี้โหมว  ถูกห้ามฉายในประเทศจีน ข่าวนี้ช่วยกระพือให้ หยูหัว (เกิด 3 เมษายน 1960) ชาวเมืองหางโจว กลายเป็นนักเขียนที่มีคนรู้จักไปทั่วโลก

 

“สิบคำ นิยามจีน”

“สิบคำ นิยามจีน” หรือ CHINA IN TEN WORDS เป็นความตั้งใจของผู้ประพันธ์  ตาคม ปากกล้าที่จะนำเสนอเรื่องราวมากมายของจีนในยุคปัจจุบันมาเขียนไว้ใน “สิบคำ” ทั้งหมด

10 คำที่นำเสนอ หยูหัว ไล่เรียงตั้งแต่ ประชาชน ผู้นำสูงสุด การอ่าน การประพันธ์ หลู่ซิ่น ความแตกต่าง การปฏิวัติ รากหญ้า ซานจ้าย (ลอกเลียน) และ ฮูยิว(ขี้จุ๊)

2 คำหลังนี้น่าสนใจ แล้วบอก “อะไร” ที่เกี่ยวกับจีนได้อย่างตรงไปตรงมา เปิดเผยจริงใจ 

“ซานจ้าย” หมายถึง “เลียนแบบ” หยูหัว ยกเอา CASE โทรศัพท์มือถือของจีนที่เลียนแบบประสิทธิภาพและรูปแบบของยี่ห้อดังต่างประเทศที่แพร่หลายทั่วโลก เช่น NOKIA SAMSUNG SONY ERICSSON โดยโรงงานจีนเลียนแบบ ตั้งชื่อให้สับสนตั้งแต่ NOKIR SAMSING SUNNY ERICCSUN เรียกว่า “มือถือจีน” “ซานจ้าย” ลอกเลียนแบบยี่ห้อดังไม่ต้องใช้เงินทำวิจัย ราคาจึงเหลือเพียงหนึ่งในห้าของยี่ห้อดัง หรือต่ำกว่านั้น ประสิทธิภาพก็หลากหลาย รูปแบบ ทันสมัย จึงครองตลาดผู้บริโภคระดับล่างอย่างรวดเร็ว 

ที่ “ซานจ้าย” กันดื้อๆ โด่งดังน่าขำคือ มีรายหนึ่งล่าสุด แอบอ้าง มหาวิทยาลัย HARVARD  บอกว่าออกแบบโดย “ฮาร์วาดเทเลคอม” แถมยังให้ PRESIDENT OBAMA เป็น PRESENTER มีภาพ OBAMA ยิ้มในโฆษณามือถือ “ซานจ้าย” พูดยิ้มๆ ว่า “BLOCKBERRY”  เสียนเฟิง 9500 ของผม..(ฮา)

บุรุษผู้ทรงอำนาจที่สุดในโลก ถูกจับมาโฆษณามือถือ “ซานจ้าย” (ฮา) 

“ฮูยิว (ขี้จุ๊)” เป็นอีกคำที่ หยูหัว อาศัยมาเล่าเรื่อง จีน ในยุคปัจจุบันภาษิตโบราณจีน “หินก้อนเดียวก่อให้เกิดคลื่นเป็นพันระลอก” ให้คนบางคนเชื่อในการปลุกระดม ปล่อยข่าวลือ ฯลฯ

คำว่า “ฮูยิว” ถูกทำให้รู้จักแพร่หลายเป็น “ศัพท์ใหม่” ยอดฮิตโดยดาราตลก “จ้าวเปิ่นซ่าน” ที่ใช้คำว่า “ฮูยิว” ครั้งแล้วครั้งเล่าในละคร 
จ้าวเปิ่นซ่าน พูดว่า “คนตรง ผมฮูยิวให้เอียงได้ คนซึมเศร้า ผมฮูยิว ให้คึกคักได้ ผัวเมียอยู่กันดี ผมฮูยิวให้เลิกกันได้ …”

“วันนี้ขายไม้เท้า ผมฮูยิวเท้าดีๆ ให้เป๋ได้” (ฮา)

ตอนนี้ในสังคมไทย  เรากำลัง “ฮูยิว” กันหรือเปล่า (ฮา)

ไม่ว่าใน “ม็อบเด็กบริสุทธิ์” หรือ “เฒ่าอาวุโสในทำเนียบ”

หยูหัว อาจสนใจมาเที่ยวไทย  (หลังโควิด) และเขียนเรื่อง “เมืองฮูยิว” (ฮา) 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,622 วันที่ 29 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2563
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปาท่องโก๋ ‘เจ้าจำปี’

MULAN วีรสตรีจีน

NEW NORMAL : เปิดหู ปิดปาก