ประกันรายได้ปี2 คุมเข้ม “ข้าว-มัน” กันตุกติก

09 ต.ค. 2563 | 21:00 น.

เปิดหลักเกณฑ์ประกันรายได้ 5 พืชเกษตรปี 2 งบกว่า 7.5 หมื่นล้าน “ข้าว-ปาล์ม-ยาง” จ่อคิวชง ครม.ไฟเขียว เผย “ข้าว” เปลี่ยนหลักเกณฑ์ใหม่ สั่งล็อกพื้นที่ให้สิทธิ์ 1 ราย 1 แปลงกันตุกติก “มันสำปะหลัง” ให้แจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวตั้งแต่วันที่ปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน ตีกันเชื้อแป้งด้อยคุณภาพ 

โครงการประกันรายได้เกษตรกรปี 2563/64 หรือ เป็นปีที่ 2 ของรัฐบาลชุดปัจจุบัน พร้อมมาตรการคู่ขนานครอบคลุมพืชเกษตร 5 ชนิด ได้แก่ ยางพารา ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศ (25 ก.ย.63) จะเดินหน้าโครงการต่อเนื่อง ครอบ คลุมเกษตรกร 7.67 ล้านครัวเรือน วงเงินรวม 75,017 ล้านบาท (เฉพาะประกันรายได้ไม่รวมโครงการคู่ขนาน) มีเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่เข้มข้นมากขึ้น

 

พรรณาภา ปรัชญาศิริ

 

นางพรรณาภา ปรัชญาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสาร สนเทศและสื่อสาร กรมส่งเสริมการเกษตร เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการประกันรายได้เกษตรกรปีที่2 ในส่วนของสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว (เมื่อ 18 ส.ค.63)  ยังเหลือพืชอีก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน (ยังชดเชยจ่ายส่วนต่างไปถึง ธ.ค.2563) ที่เตรียมนำเสนอ ครม.ต่อไป

 

ในส่วนของ ประกันรายได้ "มันสำปะหลัง" วงเงินรวม 9,790 ล้านบาท หลักเกณฑ์สำคัญที่เปลี่ยนไปคือ ให้เกษตรกรแจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวนับจากวันที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า 8 เดือน จากปีที่แล้วให้แจ้งระยะเวลาเก็บเกี่ยวนับจากวันที่เพาะปลูก ใน 6 เดือน ผลจากโรงงานอาหารสัตว์แจ้งว่าเปอร์เซ็นต์แป้งน้อยเกินไป ทั้งนี้การจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 โดยใช้ราคาอ้างอิงที่ประกาศทุกๆ 1 เดือน และ ธ.ก.ส. จะโอนเงินชดเชยส่วนต่างเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วันทำการหลังประกาศราคาอ้างอิง 

 

ประกันรายได้ปี2 คุมเข้ม “ข้าว-มัน” กันตุกติก

 

ส่วนประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ ครม.เห็นชอบแล้ว วงเงินรวม 1,912 ล้านบาท ระยะเวลาโครง การฯระหว่าง 1 พฤศจิกายน 2563 ถึง 30 เมษายน 2565 โดยรัฐบาลจะประกันรายได้ที่กิโลกรัม(กก.) ละ 8.50 บาท ณ ความชื้น 14.5% ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ โครงการนี้ครอบคลุมเกษตรกรผู้มีสิทธิ์ ประมาณ 4.5 แสนครัวเรือน ที่ขึ้นทะเบียนกรมส่งเสริมการเกษตร ระยะเวลาเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2564 โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินส่วนต่างครั้งแรกในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ต่อเนื่องในทุกวันที่ 20 ของเดือน จนถึง 31 ตุลาคม 2564

 

 

ส่วน "ประกันรายได้ข้าว" นั้น ตามความเป็นจริงกำหนดจะต้องเริ่มวันที่ 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา เพราะจะต้องเคาะประกันรายได้ย้อนหลังให้สำหรับชาวนาที่เพาะปลูกในพื้นที่รับน้ำหลาก 2 ลุ่มน้ำ (บางระกำ, ปราจีนบุรี) คือ ชาวนาที่ปลูกข้าวตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2563 ซึ่งเป็นพื้นที่เสียสละรับน้ำหลาก คาดว่าไม่น่าจะเกิน 4 แสนไร่ แต่ที่ผ่านมามีบางพื้นที่ของ 2 ลุ่มน้ำประสบภาวะภัยแล้งเพาะปลูกไม่ได้ และปีนี้มีเกณฑ์ใหม่คือ จะล็อกแปลงปลูก กล่าวคือ หากมีชาวนาปลูกข้าวแปลงนี้ไปแล้วจะต้องได้รับสิทธิ์ชดเชยเดียวเท่านั้น จากปีที่แล้วแปลงเดียวกัน บางรายแจ้งว่าให้คนนั้นคนนี้เช่าเพื่อขอใช้สิทธิ์ ทั้งนี้ประกันรายได้ข้าวปีที่ 2 คาดจะใช้วงเงินรวมกว่า 1.13 แสนล้านบาท  (ประกันรายได้+โครงการคู่ขนาน)

 

ขณะ "ปาล์มน้ำมัน" ประกันรายได้ที่ 4 บาทต่อ กก. ได้ขยายระยะเวลาประกันรายได้ปีแรก ไปจนถึงสิ้นธันวาคม 2563 แล้วจะเคาะประกันรายได้ปี 2 ในวันที่ 1 มกราคม 2564 ส่วนยางพาราประกันรายได้น้ำยางสด (DRC 100%) 57 บาท/กก. น้ำยางก้อนถ้วย (DRC100%) 46 บาท และยางแผ่นดิบ 60 บาท/กก. (มติ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เห็นชอบ 1 มิ.ย. 63) เป้าหมายเกษตรกร 1.83 ล้านครัวเรือน

 

“สิ่งที่จะย้ำคือ จะต้องปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรใหม่ก่อน เพราะไม่แน่ใจว่ายังทำการเกษตรอยู่เหมือนเดิมหรือไม่ หรือ ถ้าหัวหน้าครัวเรือนเสียชีวิตจะต้องแจ้งทันที ก่อนที่ ธ.ก.ส.จะโอนเงินให้ ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิ์และไม่ได้รับเงิน เช่นเดียวกับมาตรการ "เยียวยาเกษตรกร" ที่หัวหน้าครัวเรือนเสียชีวิตกว่า 2 หมื่นราย เงินต้องคืนเข้าคลังหลวงทั้งหมด”

 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,616 วันที่ 8-10 ตุลาคม พ.ศ. 2563